ล่าสุด เวลา 18.29 น. ศาลทหารยกคำร้องอัยการทหาร สั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ นัดฟังคำสั่งอัยการทหารว่าฟ้องหรือไม่ 27 มี.ค.นี้
16 มี.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 กลุ่มนิสิต นักศึกษา จากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมตัวและเดินจากมธ.ท่าพระจันทร์ไปยังศาลทหาร ประกาศพร้อมถูกจับ และท้าให้จับเลย ยืนยันจะไม่ไปไหน จนกว่าศาลจะปล่อยตัว 4 พลเมืองโต้กลับคืนสู่อิสรภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังจากที่นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพและนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกนำตัวไปพบอัยการทหาร ที่ศาลทหาร เวลา 13.50 น. ต่อมา เวลา 16.24 อัยการทหารเตรียมยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 ต่อศาลทหาร
ด้านทนายความจากศูนย์นายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสี่
ทั้งนี้หากศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังและไม่ให้ประกันตัว ผู้ต้องหาทั้ง 4 จะถูกนำตัวเข้าเรือนจำต่อไป แต่หากศาลอนุญาตให้ประกันตัว จะถูกปล่อยตัวที่เรือนจำ ในคืนนี้
ด้านกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฏอัยการศึก และให้ถอนฟ้องคดีความของนักกิจกรรมทั้ง 4 คน โดยไม่มีเงื่อนไข และหากมิสามารถถอนฟ้องคดีความดังกล่าวได้ ขอให้คดีความนั้นๆ อยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลพลเรือนมิใช่ศาลทหาร
วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและคสช. ประกาศยกเลิกประกาศ คสช. 37/2557 และ 38 /2557 ที่ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือนในข้อหาความผิดบางประเภทโดยทันที รวมทั้งประกาศที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด อีกทั้งการพิจารณาคดีในศาลทหารในเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกา
วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและคสช. ประกาศยกเลิกประกาศ คสช. 37/2557 และ 38 /2557 ที่ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือนในข้อหาความผิดบางประเภทโดยทันที รวมทั้งประกาศที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด อีกทั้งการพิจารณาคดีในศาลทหารในเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกา
"เราเชื่อว่าศาลพลเรือนปกติในสถานการณ์ปัจจุบันสามารถใช้พิจารณาอรรถคดีต่างๆได้ และเชื่อมั่นว่าในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมกว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร" แถลงการณ์ร่วมระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) จัดกิจกรรมพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร เชิญชวนร่วมลงชื่อคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ตั้งแต่เมื่อเวลา 9.00 น. ณ บริเวณโถงอาคารเรียนสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดย LLTD โพสต์ผ่านเพจกลุ่มว่า ช่วงเริ่มงาน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามพูดคุยชี้แจงว่าการกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้ผิดกฎหมายได้ แต่ทางกลุ่มยืนยันที่จะจัดกิจกรรมต่อไป
กิจกรรมในงาน อาทิ น.ศ.อ่านบทกลอนกล่าวถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลหารและตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.บรรยายในหัวข้อ เศรษฐกิจกับศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึก
00000
แถลงการณ์กลุ่มลูกชาวบ้าน
สืบเนื่องจากการควบคุมตัวนักศึกษานักกิจกรรมทางการเมือง 4 คน ภายหลังการจัดงานกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา และดำเนินการฟ้องร้องคดีความของจำเลยทั้ง 4 คนต่อศาลทหาร และให้จำเลยทั้ง 4 มารายงานตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ซึ่งภายหลังมีการพยายามรวบรัดให้มีการพิจารณาคดีภายในวันเดียวกันนั้น กลุ่มลูกชาวบ้านขอแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ และขอแถลงจุดยืนดังต่อไปนี้
1.กลุ่มลูกชาวบ้านขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุด
2.กลุ่มลูกชาวบ้านยืนยันในหลักการสิทธิ เสรีภาพ ที่ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบ และไม่ถูกคุกคามหรือจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
3.กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้ยกเลิกกฏอัยการศึก
4.กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีความของนักกิจกรรมทั้ง 4 คน โดยไม่มีเงื่อนไข
5.หากมิสามารถถอนฟ้องคดีความดังกล่าวได้ ขอให้คดีความนั้นๆ อยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลพลเรือนมิใช่ศาลทหาร
ทั้งนี้กลุ่มลูกชาวบ้านขอประกาศเจตนารมณ์ว่า “ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะมิยอมให้ใครมากดขี่ สองเท้าที่ก้าวนำประชาสู่ฟ้าทองที่รองเรือง พลเมืองจะโต้กลับ! รุกเอาคืน!!!”
แถลง ณ วันที่
16 มีนาคม พ.ศ.2558
แถลงการณ์ ด่วน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและคสช. ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารของไทย
เผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2558
ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและ คสช. ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารของไทย
แถลงการณ์
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและ คสช. ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารของไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ได้รับข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศว่าประเทศไทยใช้ศาลทหารสำหรับการดำเนินการกับพลเรือนในข้อหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางความคิดเห็น การรวมกลุ่มและการชุมนุม โดยมีจำนวนคดีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้บันทึกข้อเท็จจริงว่ามีพลเรือนอย่างน้อย 202 คนถูกดำเนินคดีในศาลทหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ประเทศไทยเลือกที่จะใช้ศาลทหารดำเนินคดีต่อพลเรือนเพื่อการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐและใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก
โดยแถลงการณ์ทางวาจาโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ในการประชุมครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 2-27 มีนาคม 2558 ณ กรุงเจนีวา ทางคณะผู้แทนประเทศไทยแห่งองค์การสหประชาชาติประจำ ณ นครเจนีวาใช้สิทธิในการตอบกลับโดยระบุว่า “การใช้ศาลทหารนั้น เราใช้ในเฉพาะคดีที่มีข้อหาร้ายแรงเท่านั้น ข้อหาความผิดรวมถึงครอบครองอาวุธและคดีฆาตกรรม จำเลยพลเรือนในคดีศาลทหารได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับในศาลพลเรือนรวมทั้งสิทธิที่จะมีทนายความและได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”
คำแถลงดังกล่าวเป็นการอ้างอิงการใช้ศาลทหารที่ไม่ตรงกับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยนับแต่มีการรัฐประหาร มีการจับกุมนักกิจกรรมที่แสดงออกทางสัญลักษณ์ เช่น การถือป้ายกระดาษ การรณรงค์เพืื่อให้มีการเลือกตั้ง การกินแซนวิช การชูสามนิ้ว เป็นต้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธุ์ 2558 มีทนายความนักสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม 4 คน ถูกจับกุมและตั้งข้อหาว่าฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7 /2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ พนักงานสอบสวนที่ส่งสำนวนพร้อมพลเรือนทั้งสี่คนไปยังอัยการศาลทหารเพื่อสั่งฟ้อง โดยมีการคาดการณ์ว่าพลเรือนทั้งสี่อาจจะไม่ได้รับการประกันตัว
การใช้กลไกยุติธรรมและศาลทหารต่อพลเรือนที่แสดงออกทางความคิดเห็นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่า รัฐบาลปัจจุบันจัดตั้งโดยฝ่ายทหารคณะรัฐประหารจะใช้กลไกศาลทหารและกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวต่อเนื่องและติดต่อกันเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่ากระทำการนอกกฎหมาย หากแต่กลไกยุติธรรมในปกติโดยเฉพาะการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีต่อพลเรือนไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่มีความจำเป็น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งประโยชน์เพื่อโต้ตอบโจมตีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองรวมทั้งทนายความสิทธิมนุษยชน การพิจารณาคดีในศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง
ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ขณะนี้เดินทางมาร่วมเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ณ กรุงเจนีวารระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2558 ด้วยนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและคสช. ประกาศยกเลิกประกาศคสช. 37/2557 และ 38 /2557 ที่ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือนในข้อหาความผิดบางประเภทโดยทันที รวมทั้งประกาศที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด อีกทั้งการพิจารณาคดีในศาลทหารในเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกา โดยเราเชื่อว่าศาลพลเรือนปกติในสถานการณ์ปัจจุบันสามารถใช้พิจารณาอรรถคดีต่างๆได้ และเชื่อมั่นว่าในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมกว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น