วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

กลุ่มสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชน เรียกร้องหยุดคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมต่อ 'ทนายอานนท์'


กลุ่มที่มาจากความร่วมมือขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรต้านทารุณกรรมเรียกร้องกรณีมีผู้ฟ้อง อานนท์ นำภา ทนายความผู้พิทักษ์สิทธิฯ ด้วย พรบ.คอมพิวเตอร์ ให้เลิกการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมต่ออานนท์ และผู้พิทักษ์สิทธิฯ รายอื่นๆ ในไทย รวมถึงให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
14 มี.ค. 2558 กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights หรือ FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture หรือ OMCT) เรียกร้องให้มีการแทรงแซงต่อกรณีการคุกคาม อานนท์ นำภา ทนายความผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย
กลุ่มสังเกตการณ์ระบุว่าพวกเขาได้รับข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่ามีการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมต่อ อานนท์ นำภา ทนายอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกลุ่มนักกิจกรรมที่ตะเป็นเป้าหมายของรัฐบาลเผด็จการหลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. องค์กรนี้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 2557 แม้ว่าจะก่อตั้งยังไม่ถึงปี อีกทั้งทนายอานนท์ยังช่วยว่าความให้ลูกความหลายคนที่ถูกกล่าวหาจากกฎหมายมาตรา 112 ด้วย
เว็บไซต์ FIDH ระบุว่า มีการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรม (Judicial Harassment) หลังจากที่อานนท์ นำภา ถูก พ.ท. บุรินทร์ ทองประไพ อ้างว่าเขาได้ทำผิดกฎหมายมาตราที่ 14(2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งระบุว่า "นําเขาสูระบบคอมพิวเตอรซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอรอันเปนเท็จ โดยประการที่นาจะเกิดความเสียหายตอความมั่นคงของประเทศ" เนื่องจากมีการโพสต์เฟซบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารในช่วงที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
อานนท์ ได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในขณะถูกควบคุมตัวโดยตำรวจจากการจัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 รวมกับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 3 คน ด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้งที่ถูกตัดสินให้เป็นโมฆะในไทย
กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประณามการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมต่ออานนท์ นำภา จากการที่เขาเป็นผู้จัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้องชอบธรรมเพียงเท่านั้น กลุ่มสังเกตการณ์ยังเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่ออานนท์และให้หยุดการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมโดยทันที
กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อคือ
1.) เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์ นำภา ทุกข้อกล่าวหาและหยุดการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรมต่ออานนท์และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนรายอื่นๆ ในไทย
2.) เรียกร้องให้มีการรับรองสวัสดิภาพทั้งทางร่างกายและทางใจของอานนท์ และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนรายอื่นๆ ในไทย ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม
3.) เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญแห่งสหประชาชาติวันที่ 9 ธ.ค. 2541 โดยเฉพาะข้อที่ 1 ที่ระบุว่า "บุคคลทุกคนมีมิทธิ โดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นที่จะส่งเสริมและต่อสู้เพีอให้เกิดการคุ้มครอง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ" รวมถึงข้อที่ 12.2 ซึ่งระบุว่า "รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันให้มีการคุ้มครองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก่บุคคลทุกคน โดยลำพังหรือโดยร่วมกับผู้อื่น จากความรุนแรง การข่มขู่ การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติโดยพฤตินัยหรือนิตินัย การกดดัน หรือการปฏิบัติโดยพลการอื่นใด ที่เป็นผลจากการที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามที่อ้างถึงในปฏิญญานี้"
4.) เรียกร้องให้เคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและตราสารระหว่างประเทศในทุกกรณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น