วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิฯ แถลงกรณีจับกุม 14 ขบวนการ ปชต.ใหม่


ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแถลงข่าวกรณีจับกุม 14 น.ศ.ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ชี้ จนท.เร่งรัดจับกุม-สอบสวน เผยพิรุธตรวจยึดรถยนต์-มือถือ ส่วน น.ศ.กำลังใจยังดี ฝาก 4 ข้อความผ่านสื่อมวลชน
28 มิ.ย.2558 เวลา 17.00 น.ที่ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดแถลงข่าวกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นและยึดรถยนต์ของทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จอดอยู่ในบริเวณพื้นที่ศาลทหาร
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คนยังมีกำลังใจดี และยังตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยต่อไปตามที่ตั้งใจเอาไว้ โดยกลุ่มนักศึกษาฝากข้อความผ่านทางสื่อมวลชนว่า
1. ยืนยันว่าทั้ง 14 คน เป็นนักโทษการเมือง เนื่องจากถูกตั้งข้อหาอันเนื่องจากความผิดทางการเมือง
2. ฝากถึงญาติพี่น้องว่า ทั้ง 14 คนยังไม่มีความคิดเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือขอประกันตัว มีเงื่อนไขประการเดียว คือ หากคนใดเกิดเจ็บป่วยไม่สบายขั้นรุนแรง จึงจะขอประกันตัวเพื่อออกมารับการรักษาพยาบาล เมื่อหายเป็นปรกติก็จะกลับเข้ามาอยู่กับกลุ่มเพื่อนในเรือนจำ
3. ทั้ง 14 คนไม่ยอมรับอำนาจของศาลทหาร และยืนยันว่าพวกเขาต้องได้รับการดำเนินคดีในศาลพลเรือนเท่านั้น
4. เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ โดยไม่มีเงื่อนไข
กฤษฎางค์ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) พนักงานสอบสวนพยายามทำการสอบสวนนักศึกษาโดยไม่มีการติดต่อทนาย นักศึกษาทั้งหมดจึงปฏิเสธที่จะให้มีการสอบสวนโดยที่ไม่มีทนายอยู่ด้วย พ.ต.ท.มานิตย์ ทองขาว พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ ยืนยันว่าจะทำการสอบสวนนักศึกษาในพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) โดยจะจัดหาทนายจากสภาทนายความมาให้ แต่นักศึกษาปฏิเสธ โดยยืนยันว่าจะใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
กฤษฎางค์ กล่าวว่าโดยหลักแล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับคำปรึกษาจากทนาย เพื่อป้องกันการเสียเปรียบเจ้าหน้าที่ และต้องเป็นทนายความตามที่ผู้ต้องหาระบุเท่านั้น โดยทางศูนย์ทนายฯ ได้ทำหนังสือไปยังสภาทนายความแจ้งถึงความต้องการของนักศึกษาที่ต้องการใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทางด้าน เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าพยายามทำการตรวจค้นรถยนต์ ซึ่งเป็นของหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายว่า ในระหว่าง 00.30 น.-03.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังที่ศาลทหารอนุมัติฝากขัง 14 นักศึกษาแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 คน เข้าล้อมรถยนต์ส่วนบุคคลของทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยแจ้งว่าจะทำการยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาที่อยู่ภายในรถ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเห็นว่ามีการนำโทรศัพท์ของนักศึกษาไปเก็บไว้ในรถยนต์คันดังกล่าว
เยาวลักษณ์กล่าวว่า การยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาต้องกระทำต่อหน้าผู้ต้องหา ไม่ใช่ยึดเอาจากทนายซึ่งได้สิทธิในการเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนั้น และในหมายจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่มีการระบุถึงการยึดทรัพย์สิน ทนายจึงไม่สามารถให้เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถและยึดโทรศัพท์ได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการล็อคล้อและสั่งห้ามเคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากบริเวณศาลทหาร รวมเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนาย ทำการกักและตรวจค้นรถโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ละเมิด ข่มขืนจิตใจ โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แจ้งดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงครามแล้ว

เยาวลักษณ์กล่าวถึงกรณีการตรวจค้นรถต่อไปว่า หลังจากได้หมายศาล เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถยนต์และยึดเอาโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 เครื่อง ในขณะที่แถลงข่าวอยู่นี้ ยังไม่มีการตรวจค้นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเปิดเครื่องโทรศัพท์ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตถึงการจับกุมตัว 14 นักศึกษาในครั้งนี้ด้วยว่า เป็นการกระทำที่เร่งรัด มีการทำบันทึกการจับกุมโดยที่ไม่มีการสอบปากคำและการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อรีบเร่งจะส่งไปยังศาลทหาร ซึ่งเปิดการไต่สวนช่วงดึกในเวลา 23.00 น.
สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้กำกับการ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นำโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่องขึ้นรถออกไปนานกว่า 10 นาที ก่อนจะนำกลับมาที่ศาลทหารนั้น ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความผิดปรกติและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการค้นและยึดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีหมายค้นจากศาลอาญา และถือว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และเป็นการข่มขู่ทนายให้เกิดความหวาดกลัว
กฤษฎางค์ กล่าวในตอนท้ายว่า กระบวนการยุติธรรมจะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยชัดแจ้ง ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คน ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าการดำเนินคดีจะถึงที่สุด ส่วนพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และการค้นรถโดยไม่มีหมายศาลถือเป็นความผิดโดยชัดแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น