นักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลตะวันตกที่ให้ความสนใจประเด็นในไทยแค่เพียงเวลาสั้นๆ โดยมีการประณามแค่หลังจากรัฐประหารใหม่ๆ แต่กลับเงียบเฉยหรือในบางกรณีที่แสดงท่าทีเป็นมิตร แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงท่าทีเผด็จการอย่างชัดเจนและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการจับกุมผู้เห็นต่าง
คลารา เฮิร์ซเบิร์ก ผู้ให้คำปรึกษาด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เคยทำงานร่วมกับประเทศในแถบยุโรปและเอเชียมาแล้วหลายประเทศ เขียนบทความในวารสารด้านนโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy Journal เรียกร้องให้ผู้นำชาติตะวันตกหันมาร่วมกันกดดันหรือพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ว่างเว้นจากการพูดถึงมานาน
เฮิร์ซเบิร์ก อธิบายถึงคำว่า "คลื่นความถี่จำกัด" ซึ่งเป็นคำแสลงที่ออกมาจากปากของกลุ่มผู้นำ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเชี่ยวชาญ หรือนักข่าว ที่ยอมรับว่านักการเมืองมักจะให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการไม่สนใจประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกฉายซ้ำๆ อยู่ในวงจรสื่อ เช่น เรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล ทำให้สิทธิทางประชาธิปไตยในการเอาผิดกับผู้นำที่เป็นอาชญากรถูกแขวนไว้ โดยในบทความของเฮิร์ซเบิร์กเจาะจงระบุถึงเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย
ในบทความของเฮิร์ซเบิร์ก มีการกล่าวหาว่าทางการสหรัฐฯ ปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ที่ถือเป็นการเหยียบย่ำประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เฮิร์ซเบิร์กยังได้ระบุถึงท่าทีเผด็จการอย่างเปิดเผยของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงยังไม่มีท่าทีว่าจะลงจากอำนาจง่ายๆ มีแต่เลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการปิดสื่อ ห้ามการชุมนุม และจับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจำนวนมาก
เฮิร์ซเบิร์กยังระบุอีกว่าฝ่ายผู้นำเผด็จการทหารยังพยายามรักษาอำนาจของตนต่อแม้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งแล้วเมื่อพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวถอยหลังไปมาก
บทความของเฮิร์ซเบิร์กระบุว่าถึงแม้ในช่วงที่มีการรัฐประหารใหม่ๆ ประเทศตะวันตกจะร่วมกันประณามอย่างมาก เช่น จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยประณามว่าการยึดอำนาจในไทยเป็นเรื่องที่ไร้ความชอบธรรมและจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่าไทยยังคงเป็นพันธมิตรและผู้ร่วมมือถึงแม้ว่าจะมีรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ทางด้านสหภาพยุโรปซึ่งมักจะเป็นสาย "พลังอ่อน" ก็เคยออกแถลงการณ์ประณามด้วยคำแรงๆ เมื่อปีที่แล้ว แต่ในตอนนี้พวกเขาตีตัวออกห่างจากประเด็นการรัฐประหารในไทยแล้ว
เฮิร์ซเบิร์กระบุว่า การที่ผู้นำโลกทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายสหภาพยุโรปต่างพากันอ้างว่ามีความสนใจระยะสั้น ถึงได้เงียบเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมให้กับผู้นำที่รัฐประหารอย่างผิดกฎหมายไปในตัว และเป็นการแสดงถึงความมือถือสากปากถือศีลของชาติตะวันตกที่อ้าง "ประชาธิปไตย" โดยพร้อมแสดงออกทางการเมืองต่อหน้าคนหมู่มากและวางท่าในเชิงจริยธรรมเฉพาะแต่ตอนที่มีผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่น้อยครั้งมากที่จะลงโทษรัฐบาลเผด็จการที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน
เรียบเรียงจาก
How the West Helped Thailand Became a Dictatorship, Foreign Policy Journal, 26-06-2015
http://www.foreignpolicyjournal.com/2015/06/26/how-the-west-helped-thailand-became-a-dictatorship/
http://www.foreignpolicyjournal.com/2015/06/26/how-the-west-helped-thailand-became-a-dictatorship/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น