'จอน' หวัง 'ประยุทธ์' เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจุดแข็งของไทย หลังร่วมประชุมยูเอ็น ย้ำคำกล่าวนายกฯ ต่อที่ประชุมถือเป็นพันธสัญญาต้องปฏิบัติตาม ชี้ส่วนตัวคาดหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตหรือภาคประชาชนในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบมากกว่า แต่ในรัฐบาลนี้อย่างน้อยต้องไม่ทำให้ระบบแย่ลง
5 ต.ค. 2558 จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงคำกล่าวถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (The Path towards Universal Health Coverage: The Promotion of Equitable Global Health and Human Security in the Post-2015 Development Era) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า การกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ดี โดยขัดแย้งกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เชื่อว่านายกฯ เห็นว่านานาชาติต่างชื่นชมการดำเนินนโยบายนี้ของประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะเป็นนโยบายที่ดีช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ทั้งยังเป็นตัวอย่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ
“ผมหวังว่านายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนแนวคิดหรือเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ไม่มองเป็นภาระงบประมาณประเทศ และคงได้เห็นว่าประเทศต่างๆ ในโลกเขาชื่นชมประเทศไทยในเรื่องนี้อย่างมากที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชน” ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
จอน กล่าวต่อว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ส่วนตัวหวังว่าท่านจะมีความเข้าใจและส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดการพัฒนาและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประเด็นที่ยังเป็นห่วงคือ การหาแหล่งงบประมาณอื่นเพื่อนำมาสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการร่วมจ่าย เพราะหากดำเนินการอย่างไม่ระวังจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้รับบริการได้ อย่างการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาได้ หรือหากเป็นการเก็บภาษีหรือร่วมจ่ายเฉพาะผู้มีรายได้ก็จะเกิดระบบวัดความจน เป็นการทำลายศักดิ์ศรีผู้มารับบริการ เพราะต้องมีการพิสูจน์ความจนถึงได้รับการยกเว้นจัดเก็บ ซึ่งเท่าที่ดูระบบภาษีที่จัดเก็บขณะนี้มองว่ายังสามารถเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้โดยยังไม่ต้องจัดเก็บพิเศษเพิ่มเติม เพราะหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อจีดีพีแล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
“ในระบบภาษีที่จัดเก็บและจัดสรรงบประมาณนั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญเรื่องใด ซึ่งในความเห็นผมคิดว่า เรื่องสุขภาพและการศึกษาเป็นอันดับแรกที่รัฐต้องลงทุนในการใช้จ่ายจากภาษีนี้ ดังนั้นเราน่าจะมีวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่นมากกว่า และเท่าที่ดูการลงทุนสุขภาพในประเทศขณะนี้มองว่าเรายังลงทุนน้อยไปด้วยซ้ำ” ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีกล่าวในเวทีการประชุมว่า จะสนับสนุนยกระดับคุณภาพสาธารณสุขและสุขภาพประชาชน พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จอน กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดอะไรไว้ในเวทีระดับสากลถือเป็นพันธสัญญาและขอให้ทำจริง ซึ่งตนเองก็หวังที่จะได้เห็นการพัฒนาระบบเกิดขึ้นตามที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้ หรืออย่างน้อยรัฐบาลชุดนี้ต้องไม่ขัดขวางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือทำให้แย่งลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ห่วงและติดตามมาตลอด ทั้งนี้ส่วนตัวคาดหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตหรือภาคประชาชนในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบมากกว่า แต่ในรัฐบาลนี้อย่างน้อยต้องไม่ทำให้ระบบแย่ลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าพูดในเวทีโลก แสดงว่าเป็นจุดแข็งของไทยและเป็นต้นแบบการดำเนินระบบให้กับประเทศต่างๆ ได้ จอน กล่าวว่า เราได้รับการชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก โดยมักยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างการดำเนินระบบรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ช่วยให้คนทั้งประเทศเข้าถึงบริการได้ ซึ่งที่ผ่านมายังมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าดูงานในเรื่องนี้ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอย่างน้อยนายกรัฐมนตรีคงจะเห็นในเรื่องเหล่านี้จากการเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น