วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คุยกับนักกฎหมาย สาวตรี-ยิ่งชีพ คดีแอบอ้างสถาบันเข้าข่ายมาตรา 112 หรือฉ้อโกง

สาวตรี สุขศรี และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (แฟ้มภาพ)

คคีหมิ่นสถาบัน หรือมาตรา 112  โดยปกติผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนทั่วไป นักกิจกรรม นักการเมือง นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าพูด เขียน โพสต์ หรือกระทำกิริยาท่าทางอันเป็นการสื่อสารที่เข้าข่าย “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” และผู้คนในสังคมต่างรับรู้ว่าคดีนี้เป็น “คดีหนัก”
หากเป็นคดีแอบอ้างสถาบันเพื่อหาผลประโยชน์ เราจะเห็นตัวอย่างคดีของ ‘เสี่ยอู๊ด’ ที่ทำ ‘สมเด็จเหนือหัว’ เขาโดนตั้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน ศาลสั่งจำคุกรวม 5 ปี อยู่คุกจนพ้นโทษแม้คดียังต่อสู้กันอยู่ในชั้นฎีกา ล่าสุด ทนายยื่นขอจำหน่ายคดีแล้วเนื่องจากเขาเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนต.ค.นี้เอง
อย่างไรก็ดีหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏคดีแอบอ้างสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือคอรัปชั่นในโครงการเทิดพระเกียรติแล้วโดนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นข่าวคึกโครม มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 2 รายที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำในค่ายทหาร
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อมูลจากฐานข้อมูลคดีเสรีภาพ ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ระบุว่าในช่วงปี 2557-2558 มีผู้ต้องหาคดีแอบอ้างที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 36 คน (อ่านที่นี่) เกือบทั้งหมดเป็นคดีอันเกี่ยวพันกับเครือข่าย ‘พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์’ และญาติของ ‘ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี’ ต่างก็แต่ผู้ต้องหาล็อตนั้นถูกควบคุมตัวโดยทหารก่อนถึงมือตำรวจหลายวันแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ากี่วัน (อ่านที่นี่) จากนั้นก็ถูกคุมขังยาวที่เรือนจำทั่วไปของพลเรือน ไม่ใช่เรือนจำพิเศษใน มทบ.11 และทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ (ยกเว้น 1 รายที่ตกจากที่สูงเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว)  
นอกจากนี้ยังมีคดีแอบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และถูกฟ้องในมาตรา 112 เท่าที่ปรากฏในข่าวหรือสืบหาข้อมูลได้ เช่น คดีของ ‘ประจวบ’ ถูกกล่าวหาว่าไปแอบอ้างว่าทำงานใกล้ชิดกับหลายพระองค์ หลังจากตำรวจเชิญตัวเขาไปพูดคุยจากกรณีสงสัยว่ามีพฤติกรรมฉ้อโกงประชาชน เขาถูกจำคุกอยู่ 4 ปี 7 เดือนจึงพ้นโทษ คดีของ ‘อัศวิน’ ถูกกล่าวหาว่าอ้างพระนามของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เจ้าของบ้านพักในรีสอร์ทแห่งหนึ่งยกบ้านพักให้ คดีนี้ศาลวินิจฉัยว่า กรณีนี้เจ้าของบ้านที่ฟังอยู่ย่อมรู้สึกว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียและรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระองค์ การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการใส่ความ ศาลงโทษจำคุก 5 ปี คดีอยู่ระหว่างฎีกา
ด้วยเหตุที่คดีแอบอ้างมีเพิ่มมากขึ้น และเกิดข้อถกเถียงว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ประชาไทพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คือ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจากไอลอว์ที่ติดตามคดี 112 มายาวนาน เพื่อสอบถามหลักกฎหมายและความคิดเห็นในเรื่องนี้
ดูเหมือนทั้งคู่จะเห็นตรงกันว่า เท่าที่มีการเปิดเผยเนื้อหาการกระทำความผิด คดีแอบอ้างล่าสุด “เครือข่ายหมอหยอง” น่าจะเข้าข่ายกฎหมายฉ้อโกง
สาวตรี กล่าวว่า โดยหลักการมาตรา 112 นั้น คำว่า “หมิ่นประมาท” และ “ดูหมิ่น” นั้นใช้ในความหมายเดียวกันกับมาตรา 326 กับมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลธรรมดา
คำว่า “ดูหมิ่น” นั้นชัดเจนว่าต้องเป็นการสบประมาทเหยียดหยามซึ่งมักไม่เกี่ยวพันกับคดีแอบอ้าง แต่ “หมิ่นประมาท” นั้นถูกตีความเกี่ยวโยงให้การแอบอ้างนั้นเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันด้วย
สาวตรีกล่าวว่า ในทางหลักกฎหมายความผิดฐาน “หมิ่นประมาท" ต้องมีลักษณะของการใส่ความกันด้วยข้อเท็จจริง หรือเป็นการกล่าวร้ายบุคคลอื่นด้วยการยืนยันข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้ผู้ถูกกล่าวร้ายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังจากบุคคลอื่น
ดังนั้น การดูว่าการแอบอ้างใดๆ เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่จึงต้องวิเคราะห์ว่ามันเป็นการใส่ความด้วยหรือไม่
“ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราไปกระทำความผิดทำร้ายร่างกายหรือฆ่าคนตาย แล้วเราไปแอบอ้างว่าใครสักคนหนึ่งเป็นคนใช้ให้เราทำ แบบนี้จะเข้าข่ายได้ เหมือนไปกล่าวให้ร้ายหรือทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียงว่าเป็นคนใช้ให้มากระทำความผิด” สาวตรีกล่าว
เมื่อถามถึงคดีแอบอ้างกรณีล่าสุดที่ตำรวจแถลงข่าวไปนั้น สาวตรีมองว่า ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดโดยชัดแจ้งและไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ใช้ จึงเป็นการแอบอ้างอีกลักษณะหนึ่งซึ่งตีความแล้วไม่เข้าข่าย “ใส่ความ” ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
“การบอกแจ้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง ไปหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด การแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ แล้วได้ประโยชน์ในทางทรัพย์สิน แน่นอนว่าเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงบุคคลธรรมดา หรือฉ้อโกงประชาชนในกรณีที่หลอกหลายคน ซึ่งได้สัดส่วนกับความผิดหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น” สาวตรีกล่าว
เมื่อถามว่าคดีแอบอ้างถูกฟ้องในมาตรา 112 หลายคดีและที่ผ่านมาศาลก็พิพากษาลงโทษตามมาตรานี้ การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้จะเกิดผลกระทบอย่างใดหรือไม่ สาวตรีมองว่า เป็นการตีความขยายความเกินไปกว่าตัวบท และโทษในคดีนี้ก็หนักด้วย ย่อมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"พอตีความแบบนี้ก็จะทำให้สับสนได้ว่าตกลงการหมิ่นประมาทมีขอบเขตแค่ไหนกันแน่ มันทำให้กฎหมายอาญาไม่มีความชัดเจนในตัวเอง เพราะองค์ประกอบความผิดถูกตีความขยายไป และยิ่งตีความกว้างเท่าไร มันยิ่งง่ายต่อการกลายเป็นเครื่องมือของฝักฝ่ายต่างๆ" สาวตรีกล่าว
ในคำถามเดียวกันนี้ ยิ่งชีพ มองว่า หากใช้มาตรา 112 กับการแอบอ้างก็จะต้องใกล้เคียงกับคำว่า “หมิ่นประมาท” ที่สุด หากมีคนแอบอ้างว่าผู้ที่อยู่ในมาตรา 112 ต้องการทรัพย์สินหรือให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เรียกว่าทำให้เสียหาย ก็พอจะเป็นหมิ่นประมาทได้ และเมื่อพอจะเป็นหมิ่นประมาทได้ก็พอจะเป็น 112  ได้ ถือว่าไม่ได้เป็นการตีความกฎหมายที่แย่จนเกินไป แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 112 ให้ดีแล้ว มันเป็นกฎหมายที่ต้องการปกป้องความมั่นคงของรัฐ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเราก็มีกฎหมายฉ้อโกงอยู่ตามมาตรา 341 ซึ่งต้องการปกป้องทรัพย์สินของคนไม่ให้ถูกโกง
“เมื่อมีกฎหมายสองอันซ้อนกัน ก็ต้องดูเจตนาของคนที่กระทำความผิดว่าเขาต้องการอะไรมากกว่า เขาต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือต้องการเงินและทรัพย์สิน เมื่อพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างหลัง ความผิดเป็นเจตนาต่อทรัพย์สิน ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายเรื่องฉ้อโกงอยู่แล้วก็ควรใช้กฎหมายเรื่องฉ้อโกงเป็นหลักมากกว่าจะไปใช้มาตรา 112” ยิ่งชีพกล่าว
เมื่อถามถึงผลกระทบของการใช้มาตรา 112 ในคดีแอบอ้างที่เห็นว่าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ยิ่งชีพระบุว่า คิดว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายอะไร แต่เป็นการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ที่กว้างขวาง ซึ่งการตีความและใช้อย่างกว้างขวางนั้นทำให้มีการจับกุมกรณีที่แอบอ้างไปอย่างน้อย 36 คนแล้ว บางคนก็โดนโทษไม่น้อย มีกระบวนการจับเข้าค่ายทหาร และมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความกลัวในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น
“คนที่แอบอ้างสถาบันแล้วหาผลประโยชน์ให้ตัวเองก็เป็นโทษกับสังคมจริงๆ ซึ่งถ้ามีการปราบปรามขบวนการเหล่านี้อย่างจริงจังก็เป็นเรื่องดี แต่ในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมดูมีปัญหาเพราะใช้ศาลทหารก็ดี จับเข้าค่ายทหารก็ดี แล้วจำเลยแต่ละคนก็เป็นคนใหญ่คนโตโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเขาเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือเปล่า มันมีแต่จะสร้างความกลัวและไม่ได้มีผลดีอย่างเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่ามีมุมมืดของสังคมที่อธิบายไม่ได้ว่าตกลงความจริง ความเท็จ คืออะไร” ยิ่งชีพกล่าว

ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอทางจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรกต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมตราหนึ่งอนุมาตราด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 344 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ให้ประกอบการงานอย่างใดๆ ให้แก่ตนหรือให้บุคคลที่สาม โดยจะไม่มีค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลนั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น