วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ประชามติ ชวนโหวตเห็นด้วยหรือไม่ ใช้ มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราว


เว็บไซต์ประชามติ ชวนโหวต และแสดงความคิดเห็น ต่อการใช้กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังผูต้องหา “คดีพิเศษ”
10 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายว่า เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) ได้เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมโหวต และแสดงความคิดเห็นต่อประกาศของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนนครไชยศรี โดยกำหนดให้ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขัง ภายใต้สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ถ.พระราม 5 (มทบ.11)
เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภท "มีเหตุพิเศษ"
เว็บไซต์ประชามติระบุว่า โดยหลักการแล้ว เรือนจำพิเศษมีขึ้นเพื่อแยก "ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี" ออกจาก "ผู้ต้องโทษจำคุก" ที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของรัฐจะเห็นว่า "เรือนจำในค่ายทหาร" เป็น "เรือนจำพิเศษ" ที่ตั้งขึ้นเพื่อเหตุผลด้าน "ความมั่นคง" เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ผู้ดูแลเรือนจำดังกล่าวจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 4 นาย
ที่ผ่านมา เรือนจำดังกล่าวถูกใช้เพื่อควบคุมตัวอาเดม คาราดัก และไมไรลี ยูซูฟู  ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์ แต่ทว่าปัจจุบัน เรือนจำแห่งนี้ ถูกใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากกระทำความผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยมีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวไว้ ได้แก่ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง", จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิทของหมอหยอง และ พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือ "สารวัตรเอี๊ยด"
หากเปรียบเทียบจากคดีในลักษณะเดียวกันการควบคุมผู้ต้องหาคดีอาวุธหลังรัฐประหารได้ รวมไปถึงคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ  ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในการควบคุมตัวอยู่ของเรือนจำปกติ ไม่เว้นแม้แต่คดี พล.ต.ต. พงศ์พัฒน์
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าผู้ต้องขังอย่างน้อยสองคน คือ สุริยัน และพ.ต.ต. ปรากรม เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อสังคมถึงระบบภายในเรือนจำ ระบบการดูแลผู้ต้องหา ว่าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ต้องหา และสมควรหรือไม่ ที่รัฐมีอำนาจแยกผู้ต้องหามาควบคุมเป็นการเฉพาะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น