วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ศาลทหารสั่งรอพิจารณาคดี ‘พันธ์ศักดิ์-นัชชชา’ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล

พันธ์ศักดิ์ และนัชชชา ภาพโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์

5 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้(5 พ.ย.) เวลา 08.30 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีหมายเลขดำที่ 175 ก./2558 ศาลทหารกรุงเทพ คดีของ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen ซึ่งถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
ก่อนเริ่มพิจารณา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพได้ยื่นใบแต่งทนายความเข้าต่อสู้คดี จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ พันธ์ศักดิ์จึงยืนยันไม่ให้การจนกว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
โดยคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ทนายความของพันธ์ศักดิ์ยื่นต่อศาลทหาร สรุปประเด็นได้ดังนี้
1.ขณะที่เกิดเหตุจนกระทั่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ พันธ์ศักดิ์มีสถานะเป็นพลเรือนและไม่ได้รับราชการทหารแต่อย่างใด จึงมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16
2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้
3. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารมีเนื้อหาเกินขอบเขตของกฎหมายที่เป็นฐานในการประกาศให้อำนาจ ไม่สามารถใช้บังคับได้
4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (1)และ (5) อันทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย
5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจประกาศถูกยกเลิก
ตุลาการศาลทหารรับคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้พิจารณา และสั่งให้อัยการโจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน และสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งจะจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในเขตอำนาจ คือ ศาลแขวงดุสิต
วันเดียวกันนี้(5พ.ย.) ศาลทหารกรุงเทพยังมีนัดสอบคำให้การ คดีที่ นัชชชา กองอุดม นักศึกษาที่เคลื่อนไหวรณรงค์ประชาธิปไตยในช่วงหลังรัฐประหาร ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ขณะไปสังเกตการณ์กิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558
เมื่อเริ่มการพิจารณาคดีทนายความได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ โดยอ้างเหตุผลคล้ายคลึงกันกับคดีของพันธ์ศักดิ์ คือ
1. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้
2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักรราช ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจประกาศฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วก่อนเกิดเหตุที่นัชชาจะถูกจับ
3. นัชชามีสถานะเป็นพลเรือนและไม่ได้รับราชการทหาร จึงมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 16
ตุลาการศาลทหารได้รับคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ทนายของนัชชายื่นไว้พิจารณา และสั่งให้อัยการโจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน และมีคำสั่งให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งจะจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ทนายของนัชชาอ้างว่าอยู่ในเขตอำนาจ คือ ศาลแขวงปทุมวันด้านนัชชายืนยันจะไม่ให้การจนกว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
กระบวนการภายหลังจากนี้ จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ในกรณีต่างๆดังนี้
1. ถ้าหากศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีทั้งสองนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาลที่พันธ์ศักดิ์และนัชชาอ้างว่ามีอำนาจพิจารณาก็เห็นพ้องกับศาลทหารกรุงเทพ ก็ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
2. ถ้าหากศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่พันธ์ศักดิ์และนัชชาอ้างถึง และศาลที่พันธ์ศักดิ์และนัชชาอ้างก็มีความเห็นพ้องกับศาลทหารกรุงเทพ ก็ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อให้มีคำสั่งโอนคดีไปศาลที่พันธ์ศักดิ์และนัชชาอ้าง หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความ (โจทก์) นำคดีไปฟ้องที่ศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
3. ถ้าศาลทหารกรุงเทพและศาลที่พันธ์ศักดิ์และนัชชาอ้างว่ามีอำนาจพิจารณา มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในดคีดังกล่าว ศาลทหารกรุงเทพก็จะต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา พันธิ์ศักดิ์ทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน#2 เมื่อเผด็จการใช้ศาลทหารตัดสินพลเมือง” เพื่อย้ำเตือนว่าบ้านนี้ เมืองนี้มีความไม่เป็นธรรมอย่างไร เวลา 08.30 น. พันธ์ศักดิ์ เดินเท้าออกจากบ้านที่อำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 14 นาย ใช้มอเตอร์ไซต์ขับติดตาม บันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว บางช่วงระยะทางมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบสังกัด ปตอ.พัน.6 จำนวน 8 นาย มาดักรอถ่ายภาพ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบคอยอำนวยความสะดวกเป็นระยะ ตลอดเส้นทางที่พันธ์ศักดิ์เดิน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น