'จาตุรนต์' ระบุ 'มีชัย' วางกลไกให้กาบัตรเลือกตั้ง 1 ได้ 3 สร้างเงื่อนไขเพื่อให้คนนอกนั่งนายกหากร่าง รธน. กติกาไม่เป็นประชาธิปไตย 'อภิสิทธิ์' จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายก ด้านโฆษก กรธ. ระบุยังไม่ได้ข้อยุติ
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอ กรธ. ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง และการให้มีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือกได้ 3 คน คือ เลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เลือกระบบบัญชีรายชื่อ และเลือกตัวนายกรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน ว่า เป็นการสร้างความสับสน ผู้ที่ออกเสียงต้องชั่งน้ำหนัก ไม่รู้ว่าที่เลือกไปเลือกอะไรกันแน่ ต่างจากมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งผู้ออกเสียงอาจนิยมตัวผู้สมัครสูง แต่อาจจะเลือกไม่ตรงกับพรรคการเมืองที่นิยม เลือกบัตร 2 ใบคนละอย่างได้ และการใช้คะแนนดิบที่ได้แต่ละเขตเลือกตั้ง มาคำนวณบัญชีรายชื่อ โดยคำนวณ ส.ส.ทั้งสภาของแต่ละพรรค พรรคที่ได้ ส.ส.เกินครึ่งจากเขตเลือกตั้ง จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา ก็จะไปเอื้อประโยชน์คนนอกมาเป็นนายก
“ทำให้สงสัยกลไกนี้เป็นการปูทางให้คนนอกเป็น นายกฯ หรือไม่ โดยอาจฝากชื่อกับพรรคบางพรรค เป็นวิธีการกินทีละคำ คือ ให้เกิดเงื่อนไขให้ได้ นายกฯ คนนอก ได้ก่อน แล้วสร้างสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องยอมรับว่า ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ กรธ. เป็นจอมยุทธ์ในทางเทคนิคกฎหมาย วางแผน สร้างเงื่อนไขอย่างแนบเนียน จนในที่สุดเกิดสภาพการมี นายกฯ คนนอก และมีการครอบงำจากอำนาจนอกระบบ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กลไกเหล่านี้ ยังขัดแย้งกับแนวทางป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองพรรคใดที่เสียงข้างมาก หรือมีการฮั๊วกันด้วย เพราะพรรคเล็กๆ อาจเสนอชื่อคนเป็น นายกฯ ซ้ำกับพรรคใหญ่ก็ได้ ก็จะไปร่วมมือกับบางพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ต้องจับตาดูการสร้างเงื่อนไขการมี นายกฯ คนนอก และการมีอำนาจนอกระบบที่จะเกิดขึ้น จะอยู่ที่เงื่อนไขหลายๆ อย่างประกอบกัน เท่าที่เห็นบ้างแล้ว เช่น การที่ นายมีชัย พูดถึงเรื่องถ้ามี ส.ส.พรรครัฐบาลได้ใบแดง รัฐบาลก็ต้องล้มไป เป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้ต่างอะไรกับการลงโทษเหมาเข่ง ยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค และมีผลทำให้รัฐบาลต้องล้มไปเหมือนอย่างในอดีต อาจจะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ทำให้รัฐบาลล้มไปได้โดยง่าย และบ้านเมืองก็อยู่ในสภาพวิกฤติอีก ถ้าให้มีการยุบสภา และมีการเลือกตั้ง ก็จะเจอเงื่อนไขที่ กรธ.แย้มไว้บ้างแล้ว ก็คือ ถ้าในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีคนใดได้คะแนนมากกว่าโหวตโน ก็จะทำให้ไม่มี ส.ส.ในเขตนั้น
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แค่เร่ิมต้นก็เห็นแล้วว่า กรธ.กำลังคิดเงื่อนไขในการที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประเทศ และในที่สุดก็จะต้องหาอำนาจนอกระบบ
เพราะฉะนั้นคิดว่า เราจำเป็นต้องดูประเด็นต่างๆ ที่ กรธ.กำลังเสนอ และในที่สุด ต้องดูภาพรวม ดูจุดหมายปลายทาง กรธ.กำลังต้องการอะไรกันแน่ ฝ่ายการเมืองน่าจะหารือกันย้ำให้สังคมเข้าใจว่า ถ้ากติกาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำเสียงประชาชนไม่มีความหมาย วันนี้ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้งดีกว่า และถ้าต้องรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะทำ นักการเมืองควรช่วยกันทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่า พรรคการเมือง และนักการเมือง ไม่ใช่จะอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีเลือกตั้งเร็วๆ การแสดงความคิดเห็นจะมาหวังสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดฟังความเห็นต่างด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไปปิดประตูร่าง แล้วประกาศใช้ไปเลย ถ้าจะให้ได้ร่างที่ดีต้องให้แสดงทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้สนับสนุนอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่ขอความร่วมมือ เป็นการยุประเทศให้ลงเหวไปมากกว่า และถ้าร่างนี้ผ่านประชามติ บ้านเมืองวิกฤติอีกแน่
'อภิสิทธิ์' จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายก
ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐรายงานวันนี้ (15 พ.ย.) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.เสนอโมเดลที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯซึ่งอาจเป็นคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ ตามหลักการนายกฯต้องเป็น ส.ส. ทุกอย่างก็จะง่าย เพราะใครจะมาเป็นนายกฯต้องผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองว่าพรรคการเมืองจะไม่โปร่งใส ก็ต้องหามาตรการ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้อนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ ความพยายามของ กรธ. ที่ต้องการให้ประชาชนทราบล่วงหน้า กับอีกด้านหนึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาหรือไม่ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หวาดระแวงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ จึงอยากให้ กรธ.มีความชัดเจนทีละประเด็น ว่าประเด็นนายกฯต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่เป็นจะใช้เงื่อนไขอะไร การให้เปิดเผยรายชื่อมีจุดประสงค์เพื่ออะไร หาก กรธ.มีความชัดเจนจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ เพราะถ้าเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก อาจกังวลว่าพรรคการเมืองจะไม่เปิดเผย ทำให้ประชาชนไม่ทราบล่วงหน้า ดังนั้นต้องให้ได้ข้อยุติก่อนว่า จะมีนายกฯคนนอกหรือไม่
โฆษก กรธ.แนะ 'จาตุรนต์' อ่านคำชี้แจงของประธาน กรธ.ให้ครบถ้วน
สำนักข่าวไทยรายงานว่าวันนี้ (15 พ.ย.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุแนวคิดของ กรธ.เรื่องการเปิดชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นการปูทางให้อำนาจนอกระบบ ว่า ขอให้กลับไปอ่านคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่ชี้แจงสื่อมวลชนโดยละเอียด 6-7 ข้อ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีสาระว่า 1.กรธ.ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ให้ระบุชื่อก็เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้สังคม หรือประชาชนได้รับทราบว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเสนอให้ใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เสนอได้ไม่เกิน 5 ชื่อ 2.หากพรรคการเมืองต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่าจะไม่เสนอชื่อคนนอก หรือผู้ที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะไม่มีคนนอกขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรี 3.เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะเลือกบุคคลใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เกี่ยวกับ กรธ. เราเพียงทำหน้าที่ตอบโจทย์ให้ประชาชนรู้ตามสิทธิว่าใครจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคการเมืองนั้นชนะเลือกตั้ง ดังนั้นหากพรรคการเสืองเสนอชื่อคนที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ขอให้ดูให้ครบถ้วนก่อน
ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุในลักษณะขู่ว่าจะรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านการทำประชามตินั้น นายนรชิต กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ตนคงไม่ตอบโต้ใด ๆ แต่อยากถามกลับเช่นกันว่าถ้าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการบัญญัติให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน ถามว่ายังคิดจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
เมื่อถามว่า ที่ระบุเช่นนี้เหมือนจะชี้ให้เห็นว่าถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้ประโยชน์ก็จะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายนรชิต กล่าวว่า ต้องให้สังคมคิดเอง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าพรรคหรือตัวเองได้ประโยชน์ ก็จะไม่มีใครคัดค้านในการออกกฎหมายต่าง ๆ ใช่หรือไม่ และที่ออกมาค้านนี้ก็อยากให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ระบบเดิม ๆ หรือไม่ แต่ขอให้ดูผลสำรวจโพลต่าง ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับการปฏิรูป การวางระบบเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ส่วนคำตอบนั้นขึ้นอยู่ที่ประชาชนต้องคิดเองว่าจะเลือกอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น