วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

จำคุก 9 ปี คดี 112 ‘ปิยะ’ โพสต์เฟซบุ๊ก ทนายชี้คดีแรกศาลอาญาลงโทษหนักเท่าศาลทหาร


20 ม.ค.2559  ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ ปิยะ (สงวนนามสกุล) โบรกเกอร์วัย 46 ปีตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน
อ่านรายละเอียดคดีปิยะ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th
ทั้งนี้ที่ผ่านมาคดีนี้สืบพยานเป็นการลับเนื่องจากอัยการร้องขอต่อศาลโดยให้เหตุลผลว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควรเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้ 
ปิยะถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2557 เรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษ นอกจากนี้ยังยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 2 ในระหว่างถูกคุมขังในคดีนี้ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นไปยังอีเมล์หลายชื่อ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ก.พ.นี้
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของปิยะ กล่าวว่า คดี 112 คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลาอาญาลงโทษจำคุกจำเลยหนักใกล้เคียงกับศาลทหาร ที่ผ่านมาหากจำเลยต่อสู้คดีในศาลอาญา โทษต่อกรรมของคดีนี้จะอยู่ที่ 5 ปีมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของโทษคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุคนี้ และน่าจะทำให้จำเลยที่คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และอยากต่อสู้คดีจะยิ่งมีน้อยลงไปอีก
“โทษจำคุกต่อกรรมสูงถึง 9 ปี ต่อไปจำเลยอื่นๆ ก็จะยิ่งไม่มีใครกล้าต่อสู้คดีนี้” ทนายความกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้กล่าวว่าทนายสู้คดีได้ดี และมีจุดให้ใช้ต่อสู้ในการอุทธรณ์ได้มาก ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 ธ.ค.ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากต้องนำผลคดีไปปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา (อ่านข่าวที่นี่)
ผู้สื่อข่าวถามถึงพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีและการสืบพยานจากทนายความ ศศินันท์ตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มีเพียงรูปภาพที่แคปเจอร์มา 1 ภาพ และพยานบุคคลที่สำคัญ 1 ปากซึ่งศาลรับฟังและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ขณะที่พนักงานสอบสวนของปอท.และพยานปากอื่นๆ ไม่มีใครสามารถยืนยันว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กนี้อยู่จริงเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้วแต่เฟซบุ๊กปฏิเสธการให้ข้อมูล
ทนายความขยายความถึงหลักฐานรูปภาพว่า เป็นภาพตัดต่อเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา-ข้อความหมิ่น-รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปของปิยะมาไว้รวมกันไว้ใน 1 ภาพซึ่งปริ๊นท์ออกมาเป็นกระดาษ ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลและมีบุคคลเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับปิยะหลายราย โดยมีผู้แจ้งความมาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้รวม 5 คน แบ่งเป็น 3 คนแรกมาจากจังหวัดน่าน อีก 1 คนเป็นหมอจากจังหวัดนครปฐม ทั้งหมดเบิกความได้เห็นรูปภาพดังกล่าวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยไม่เคยเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก พงศทอน บันชอน หรือเห็นข้อความต้นฉบับจากเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน
ส่วนพยานปากสุดท้ายเป็นพยานปากสำคัญที่ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด พยานปากดังกล่าวเป็นหัวหน้าชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมซึ่งเบิกความยืนยันว่า บัญชีพงศธร บันทอน มีอยู่จริง เขาเคยให้ทีมงานเข้าไปเป็นเพื่อนกับบัญชีนี้และมีการสืบด้วยวิธีการลับจนทราบว่าเจ้าของบัญชีดังกล่าวเป็นใครอยู่ที่ไหน พยานรายนี้กับพวกได้เดินทางไปยังที่อยู่ดังกล่าวเพื่อติดตามจำเลยแต่ไม่เจอตัวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ นอกจากนี้พยานยังระบุด้วยว่า ทางชมรมฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในการสืบพยานตัวตนของคนโพสต์หมิ่นได้
ขณะที่ปิยะ จำเลยในคดีนี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าของบัญชี พงศทอน บันทอน แต่เหตุที่เมื่อคัดทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่าเคยมีการสวมชื่อพงศธร บันทอน นั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเขาต้องการหนีภาระหนี้สิน ส่วนภาพของเขาเองที่ไปปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กของพงศธร บันทอน นั้นก็เป็นภาพที่เขาใช้บัญชีทวิตเตอร์
ด้านเพจเฟซบุ๊ก iLaw รายงานสรุปความคำพิพากษาว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าในวันเวลาตามฟ้องมีผู้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน ข้อความที่ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์เข้าใจได้ทันทีว่ามีเจตนา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
ในคดีนี้ โจทก์มีอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ มาเบิกความว่าพบเห็นข้อความจากเฟซบุ๊กของนายพงศธรโดยตรง และทราบว่าจำเลยเคยใช้ชื่อ Vincent Wang ซึ่งจำเลยก็รับว่าเคยใช้ชื่อดังกล่าวจริง อัจฉริยะยังเบิกความว่าสืบทราบมาว่าพงศธรมีบ้านอยู่ที่เขตดอนเมือง ซึ่งตรงกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยเคยสวมชื่อเป็นนายพงศธร บันทอน ที่สำนักงานเขตดอนเมือง คำเบิกความของอัจฉริยะจึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้มีการเปลี่ยนชื่อและสวมชื่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่อเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถทราบถึงตัวตนได้ ที่จำเลยเบิกความว่าเพิ่งพบเห็นข้อความตามฟ้องจากการที่แฟนมาบอก แต่ก็ไม่ได้นำตัวแฟนมาเบิกความต่อศาล และที่จำเลยเบิกความว่าเคยแจ้งให้ google ลบภาพนี้จากระบบค้นหาก็เป็นการแจ้งหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้
จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น