พล.อ.ประยุทธ์ ขออย่าปลุกปั่นคนออกมาต้าน ชี้การแก้ไขปัญหายางฯไม่เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา สรรเสริญ วอนอย่าเอาการช่วยเหลือชาวสวนยางไปเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ระบุเพียงที่มาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว
19 ม.ค. 2559 เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาโดยการเยียวยาจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงอย่างเดียว แต่พยายามแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน เช่น การนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มนำมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น และต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาทุกปัญหามีต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาอาจจะมีข้ออุปสรรคและความยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่ จึงต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่าง ๆ และให้ได้ข้อยุติจากฝ่ายกฎหมายด้วย เช่น การรับรองมาตรฐาน ระเบียบการใช้เงินงบประมาณในการจัดซื้อ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ขออย่าปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาต่อต้าน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลไม่เหมือนการแก้ไขปัญหาโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลรับซื้อน้ำยางพาราสดจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อเริ่มต้นแก้ไขปัญหาราคายางพาราระยะที่ 1 อย่างครบวงจร เพื่อนำมาสู่กระบวนการผลิตต่อไป ทั้งนี้ ส่วนของกลไกตลาดจะยังเดินหน้าไปตามกลไกเหมือนเดิมไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมกล่าวขอบคุณเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความอดทนมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล รวมไปถึงเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ที่ให้ความร่วมมือลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี พ.ศ.2559 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และการขุดแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนพันกว่าแห่ง แต่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาน้อยจึงไม่มีน้ำไว้กักเก็บตามที่ต้องการ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำระบบเติมน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนมีปัญหาเกรงว่าปริมาณน้ำจะลดลงนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงว่า การจัดทำระบบเติมน้ำจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับพื้นที่โดยรวมของเดิม และจะทำได้เฉพาะฤดูน้ำที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากจนเกินความจำเป็นเท่านั้น จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ และอย่าพยายามสร้างความขัดแย้ง
ขออย่าเอาการช่วยเหลือชาวสวนยางกับโครงการรับจำนำข้าวมาเทียบกัน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีพรรคเพื่อไทยพยายามเชื่อมโยงเรื่องการช่วยเหลือชาวสวนยางของรัฐบาลกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีตว่า ไม่อยากให้สังคมหรือพรรคเพื่อไทยเข้าใจผิดว่าทั้งสองโครงการสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะเพียงที่มาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว
“โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่โครงการที่ผิด แต่เมื่อดำเนินการแล้ว มีผู้ทักท้วงว่ามีการทุจริต และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าว ยังปล่อยให้ดำเนินการต่อไปโดยมิได้ระงับยับยั้งหรือตรวจสอบ จนเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ส่วนการช่วยเหลือชาวสวนยางเป็นการทำหน้าที่ของรัฐบาลเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะเกษตรกรมีความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากราคายางในประเทสตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง และมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง จึงมอบให้ กยท.เข้าช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยใช้อำนาจตาม ม.8 และม.9 แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าวเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่จำกัดรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมาสต็อกไว้ โดยตั้งราคาสูงกว่าตลาดมาก ถือเป็นภาระทางการคลังอย่างมากและสุ่มเสี่ยงที่คุณภาพข้าวจะต่ำลงเรื่อยๆ แต่การรับซื้อยางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการรับซื้อแบบจำกัดจำนวนที่ 100,000 ตัน จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ณ จุดรับซื้อ 1,500 จุด ในราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อยที่ กก.ละ 45 บาท หรือลดทอนลงไปตามประเภทของยาง เป็นการซื้อมาแล้วขายต่อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมตามความต้องการผลิตภัณฑ์แต่ละประเทศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และตลาดอื่น ๆ ภายในประเทศ โดย กยท. ได้ขอความร่วมมือไปยัง อคส. และ คสช. ในการร่วมดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำยางที่ขายไปแล้ว หมุนเวียนกลับมาขายอีก โดยให้ คสช.ลงไปตรวจสอบคลังเก็บยางหรือผู้รับซื้ออย่างใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น