วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ไทยขอ 'กูเกิล' ลัดขั้นตอน เซ็นเซอร์เนื้อหา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล


กมธ.สื่อ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหารือกูเกิล ขอปิดกั้นเว็บเนื้อหากระทบความมั่นคง แบบไม่ต้องรอคำสั่งศาล พร้อมขอให้นึกถึงความสัมพันธ์อันดีที่ประชาชนมีต่อสหรัฐอเมริกา และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกูเกิลฯ  ชี้หากมีปัญหาในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ขอให้เสนอรัฐบาลไทยได้ โดย กมธ.พร้อมพิจารณาผลักดันและให้ความช่วยเหลือเต็มที่
28 ม.ค. 2559 วานนี้ เพจเฟซบุ๊กกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway: Thailand Internet Firewall #opsinglegateway เผยแพร่เอกสาร "สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 11" ซึ่งระบุถึงการพูดคุยระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับตัวแทนจากบริษัท กูเกิล
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ของสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ พบว่ามีเอกสารตรงกัน (ดูเอกสาร)
 

เอกสารดังกล่าวระบุว่า เป็นการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 219 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีเรื่องที่พิจารณาคือ แนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการส่งเสริมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญนาย Matt Sucherman รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายในประเด็นระหว่างประเทศ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เข้าร่วมประชุม
เอกสารดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวกับผู้แทนบริษัท กูเกิล ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เป็นไปในทางสร้างสรรค์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งด้านการมุ่งทำลายสถาบันสำคัญของชาติ หรือละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงอยากขอความร่วมมือให้ทางบริษัท กูเกิลฯ ช่วยถอดเว็บไซต์ที่มีลักษณะดังกล่าว ที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายของกูเกิล เช่น ยูทูบ เป็นต้น ไม่ให้ออกเผยแพร่ เพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อไป
ขณะที่ตัวแทนกูเกิล ระบุว่า ทราบดีว่าการเผยแพร่เว็บไซต์บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีปัญหาจากแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กูเกิลฯ มีบริการและนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดถอนหรือป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น บริษัท กูเกิลฯ ไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ จำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นและมีขั้นตอน กระบวนการอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล คือการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ ยับยั้งการเผยแพร่เว็บไซด์ดังกล่าว ซึ่งทางกูเกิลฯ ได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าที่ผ่านมา มีการขออำนาจศาลอยู่แล้ว เพียงแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน อยากให้กูเกิลฯ เร่งรัดกระบวนการในการถอดเว็บไซต์หากมีคำขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อให้ทันต่อการยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันการหากต้องรอให้ผ่านกระบวนการทางศาล พร้อมระบุว่าขั้นตอนการร้องขอดังกล่าว อย่างไรก็ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงไอซีที
ด้านผู้แทน กูเกิล ระบุว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะคำนึงถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน พร้อมแนะนำว่า วิธีป้องกันการเผยแพร่เว็บที่มีปัญหาได้พอสมควร คือ หากประชาชนเห็นว่าเว็บใดมีเนื้อหาไม่พึงประสงค์เพราะขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี สามารถใช้วิธีปักธง (flagging) เว็บนั้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรของกูเกิลที่มีความรู้และประสบการณ์คอยสอดส่องเว็บดังกล่าว หากเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่สมควรเผยแพร่ก็จะระงับหรือถอดออกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไป
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ระบุด้วยว่า ในตอนท้าย คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ กูเกิลฯ คำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีที่ประชาชนมีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกูเกิลฯ นำไปเป็นข้อพิจารณาด้วย พร้อมกันนี้หากมีปัญหาหรือความกังวลใดๆ ในการประกอบธุรกิจของ กูเกิลฯ ในประเทศไทย และอยากให้ช่วยเหลือ ขอให้เสนอทางรัฐบาลไทยได้และทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมพิจารณาผลักดันและให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น