วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สมชาย-ใบตองแห้ง-พนัส: ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'คสช.2.0'


สมชายชี้อย่าโฟกัสแค่ประยุทธ์จะสืบทอดอำนาจ จนลืม 'อภิชน' ที่เข้ามาอยู่ในโครงสร้างการเมือง ด้านใบตองแห้งเตือนประชามติรอบนี้เท่ากับรับรอง รธน.+กฎหมาย 10 ฉบับ พนัสสรุป ร่าง รธน. สะท้อน 'ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง'
3 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 13.00 น. โครงการปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ Group of Comrades ร่วมจัดเสวนา "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'คสช.2.0'" ที่ห้อง 802 อาคารเอนกประสงค์ มธ. ท่าพระจันทร์ มีผู้สนใจมารอฟังเสวนาจนล้นห้อง ต้องนำเก้าอี้มาเสริมหน้าห้อง
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง พิธีกรและคอลัมนิสต์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.  ดำเนินรายการโดย  ษัษฐรัมย์ ธรรมบุศดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ.
อ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ เว็บไซต์รัฐสภา
ในงาน วรัญชัย โชคชนะ มาร่วมฟังด้วยพร้อมพานรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าต้องการสื่อความหมายอะไร "มันชัดแล้ว ไม่ต้องพูดแล้วมั้ง" วรัญชัยกล่าว
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า จะอธิบายว่าเมื่อมองร่างรัฐธรรมนูญนี้มองผ่านกรอบแบบไหน ทำให้เกิดสถาบันการเมืองแบบใด เวลาคิดถึงรัฐธรรมนูญในสังคมเสรีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ 1.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฯ ไม่ได้เกิดลอยๆ แต่เกิดขึ้นจากแนวคิดนั้น 2.จัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐและหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าจะสัมพันธ์กันอย่างไร
“เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สักแต่ใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ อยากเขียนอะไรก็เขียนยัดอะไรตามใจชอบ แล้วเรียกรัฐธรรมนูญแต่ต้องมีอุดมการณ์พื้นฐานของมันด้วย ไม่เช่นนั้น มันจะเกิดภาวะที่ Constitution without constitutionalism รัฐธรรมนูญที่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างประเทศที่เป็นแบบนี้คือ พม่า” สมชายกล่าว
จึงขอพูดแบ่งเป็น สิทธิเสรีภาพประชาชน, สถาบันทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญ
จาก “สิทธิเสรีภาพ” สู่ “สิทธิและหน้าที่"
1.สิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเกิดจากการเรียกร้องของผู้คนให้คุ้มครองเสรีภาพของเราจากอำนาจรัฐ แต่ในสังคมไทย รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและทำให้เกิดการรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้คนลงในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก มันจึงมีความชอบธรรมที่เราไม่อาจปฏิเสธแม้มันจะมีความบกพร่องบางอย่าง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่กล้าเอาออก เช่น สิทธิชุมชน ฯลฯ สองฉบับเรายังพอเห็นความพยายามในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษร เฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเห็นการรับรองพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับมีชัย) จำนวนมากถูกเขียนใหม่และจำนวนมากถูกยกออกไป หลักการที่เป็นหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง แต่มันกลายเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ และสิทธิบางอย่างหดแคบลงทำให้กลายเป็นภารกิจของรัฐ
“เวลาประเทศอื่นพูดถึงสิทธิ เขาพูดถึงสิทธิเสรีภาพ มีแต่บ้านเราที่พูดเรื่องสิทธิและหน้าที่ เพราะเขาคิดว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” สมชายกล่าว
ลด “พลังประชาชน”
2.สถาบันทางการเมืองหรือโครงสร้างทางการเมือง เรื่องนี้สำคัญมาก ฝังอยู่ในหลายหมวด สิ่งที่เราเห็นมีประเด็นใหญ่ 2 ประเด็น คือ (1) ลดทอนอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันการเมืองที่มาจากประชาชน (2) สถาปนาอำนาจของ “อภิชน” หมายความถึงกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม

อันที่ (1) ดูได้จากระบบเลือกตั้งและรัฐสภา ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะไม่ทำให้มีพรรคการเมืองใหญ่เกิดขึ้น พอไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ สถาบันทางการเมืองไม่สามารถเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในบทเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ อำนาจนอกระบบ
“คิดง่ายๆ นึกถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั่งเป็นนายกฯ 8 ปีไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” สมชายกล่าว
ส่วนของรัฐสภา ความสามารถของรัฐสภาในการปฏิบัติหน้าที่จะลดต่ำลง เพราะ ส.ส.ต้องบวกกับ ส.ว. ที่เลือกกันเอง โอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนนโยบายหลักๆ ของประเทศทำได้ยาก
อันที่ (2) เราจะเห็นอภิชน กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาทำหน้าที่ในโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขุนนางนักวิชาการ ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. องค์กรอิสระต่างๆ เหมือนกันที่เคยเป็นมา  อีกกลุ่มหนึ่งคือ หากใช้คำอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า ชนชั้นนำชายขอบ ผมเรียกว่านักการเมืองประชารัฐ พวกนี้หมายถึงหลังรัฐประหาร 2549 เราจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งมีตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เคยเป็น สนช. 2549 แล้วกลับมาใหม่ เป็น สปช. สนช. สปท. อะไรเต็มไปหมด ยกตัวอย่างชัดๆ เช่น ทนายความ สื่อมวลชน ศิลปินแห่งชาติ หมอ ชนชั้นนำของเอ็นจีโอ คนกลุ่มนี้เป็นฐานของระบบอำนาจนิยม
“เวลาคิดถึงการสืบทอดอำนาจ เราไม่ได้หมายความถึงการสืบทอดอำนาจของคุณประยุทธ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เราจะเห็นสถาบันการเมืองชนิดหนึ่ง มีนักการเมืองชนิดหนึ่งเกาะมากับระบบแบบนี้ จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่านักการเมือง เพราะไปแปดเปื้อนนักการเมือง พวกนี้ไม่ออกแรงหาเสียง แต่เวลาเขาออกแรงคือ พูดว่าประยุทธ์ควรอยู่ต่ออีก 4 ปี สังคมการเมืองไทยเรากำลังจะมีระบบการเมืองอีกชุดซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง และที่สำคัญมันกำกับการเมืองแบบการเลือกตั้ง ดังนั้น เราไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประยุทธ์ ประวิตร แต่ควรดูคนกลุ่มนี้ด้วย พวกเขาสนับสนุน สืบทอด ค้ำยัน ระบบรัฐประหาร เพราะระบบรัฐประหารเกิดขึ้นต้องมีคนมาเป็นแขนขา ยิ่งรัฐธรรมนูญทำให้ระบบโครงสร้างแบบนี้ดำรงอยู่ก็จะมีคนกลุ่มนี้เกาะอยู่ ส.ว. 20 วิชาชีพ ก็คงไม่ใช่ช่างไม้ช่างปูน ช่างประปา แต่คือคนกลุ่มนี้นี่แหละ เข้าไปมีตำแหน่งได้โดยไม่ต้องหาเสียงจากการเลือกตั้ง แต่หาเสียงกับ...คนที่เราไม่ต้องพูดถึง” สมชายกล่าว
ใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ?
3.ศาลรัฐธรรมนูญ ในโลกนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศประชาธิปไตยมีศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยใหม่ มีหน้าที่ชี้ข้อขัดแย้งในทางรัฐธรรมนูญและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน งานของฝรั่งจำนวนมากศึกษาเปรียบเทียบ บีจอน เดรสเซล (Björn Dressel) เสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นได้ 2 แบบคือ ตุลาการภิวัฒน์ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศาลอินเดียทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนไร้บ้าน ศาลฟิลิปปินส์ตีความเรื่องความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย เข้าไปตีความแล้วขยายอำนาจประชาชน สิทธิพื้นฐานต่างๆ ให้ขยาย แต่ต้องระวังว่า จะเกิด politicization judiciary ต้องระวังการเล่นการเมืองของผู้พิพากษา โดดเข้าไปเลือกข้างทางการเมือง จะเป็นปัญหา 
ผมคิดว่าต้องระวังเนื่องจากตอนเราเอาแนวคิดตุลาการภิวัฒน์เข้ามาในเมืองไทย ตอนนำเข้ามาก็พูดแต่เรื่องดี หลัง 2550 คดีที่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ แยกเป็นกลุ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน กับคดีการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพประชาชน เมืองไทยมีคดีไหนที่ชาวบ้านชนะ คดีพวกนี้ศาลรัฐธรรมนูญของเรายืนข้างอำนาจรัฐ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยแอคทีฟในเรื่องทางการเมือง ตีความในทิศทางที่เป็นปัญหา
“คำถามสำคัญคือ ใครจะตรวจสอบคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ” สมชายกล่าวและว่ามันต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส กระบวนการคัดเลือก กระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ ไม่ว่าอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็หลุดลอยจากประชาชนไม่ได้
“เรายกอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกระบวนการควบคุม ตรวจสอบ ต้องคิดด้วย ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเลย เรากำลังจะมีองค์กรอิสระ อิสระจากประชาชน ไม่สัมพันธ์กับประชาชนหรือสัมพันธ์แบบเบาบางมากๆ” สมชายกล่าว

 

ชี้ประชามติรอบนี้เท่ากับรับรอง รธน.+กฎหมาย 10 ฉบับ

อธึกกิต แสวงสุข กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนองค์กรอิสระไว้ในที่ต่างๆ รัฐธรรมนูญ 2550 แยกองค์กรอิสระออกมาเป็นหมวดองค์กรอิสระ แต่ยังไม่รวมทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาจากหมวดศาล และเอาทุกองค์กรอิสระมารวมกัน เรียกได้ว่าให้ความสำคัญกับองค์กรอิสระอย่างมาก
       มาตรา 211 องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระ
       ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม
       กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ


หากเราดู มาตรา 211 เป็นเหมือนสโลแกนหรือคำโฆษณาขององค์กรอิสระ แต่กลับไม่เห็นรากที่มาขององค์กรอิสระเลยว่ามาอย่างไร คุณมีชัยก็ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าศาลและองค์กรอิสระไม่ต้องยึดโยงประชาชน เรื่องการสรรหาก็น่าสังเกตยิ่งกว่าว่า กรรมการสรรหานั้นมีสัดส่วนของผู้ที่มาจากประชาชนน้อยลงและให้องค์กรอิสระเลือกคนที่จะเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเองอีกที
ต่อมาเรื่องที่สำคัญคือ มาตรฐานจริยธรรม หากดูมาตรา 215 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา แล้วใช้บังคับ ส.ส. ส.ว.ด้วย เรื่องมาตรฐานจริยธรรม โผล่ในมาตรา 155 คุณสมบัติรัฐมนตรีด้วย ข้อ 4 ระบุให้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อดูรวมกันสองมาตรานี้ จะเห็นว่าการถอดถอนรัฐมนตรีทำได้ง่าย ทั้งการที่ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 ของสภา สามารถยื่น กกต. ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติหรือไม่ หรือให้ ป.ป.ช.เป็นผู้วินิจฉัยก็ได้ 
“มาตรฐานจริยธรรมนี้ให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วไปใช้กับนักการเมือง เวลาจะถอดถอน ผ่าน ป.ป.ช. ผ่าน ส.ส. ส.ว.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้กรรมาธิการร่างฯ บอกว่าไม่ได้เพิ่มอำนาจศาล เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างหาก แต่คุณไปเขียนคุณสมบัติให้ตีความได้กว้างและคลุมเครือขนาดนี้ ถ้าทุจริตก็ผิดกฎหมายไปเลย แต่คำว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นี่ขึ้นกับการตีความของศาลล้วนๆ” อธึกกิตกล่าว

“ผมสรุปง่ายๆ ว่า ศาลเอามาตรฐานตัวเองมาปลดรัฐบาลได้” อธึกกิตกล่าว
นอกจากนี้ยังมีช่องปลดรัฐบาลได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากทำผิด พ.ร.บ.งบประมาณ ครม.โดนปลดได้ มาตรา 139 อ่านกี่ครั้งก็ไม่เข้าใจ เพราะหากเข้าใจกระบวนการงบประมาณ ปกติ ครม.เสนองบประมาณ เข้าสภา สภาก็ไปตัดลดงบประมาณให้เหมาะสม ซึ่ง ครม.ก็ไม่ได้เกี่ยวแล้ว อะไรคือรายละเอียดตัวนี้

“ผมเชื่อว่านักกฎหมายที่ไหนก็อ่านเรื่องนี้ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราย้อนไปดูบทเฉพาะกาลแล้วจะเข้าใจว่าทำไมมีชัยใช้เวลาร่างตั้งแปดเดือน ลองดู ข้อ 10 การทำกฎหมาย 10 ฉบับ มีเรื่องกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เข้าใจว่ากฎหมายตัวนี้จะมีส่วนที่ไม่ได้พูดอีกมาก กฎหมายนี้สำคัญมากและจะเพิ่มอะไรเข้าไปอีกยังไม่รู้ คุณมีชัยยังสามารถเพิ่มอะไรอีกหลายอย่างได้ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้อาจบอกว่าวิจารณ์ศาลติดคุกก็ได้” อธิกกิตกล่าว
ดังนั้น เวลาทำประชามติ คนไม่เข้าใจเรื่องนี้ว่า 1.มันเป็นการรับรองการทำกฎหมายลูก 10 ฉบับที่ยังอาจทำอะไรที่มองไม่เห็นตามมาอีกมาก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัด เรียกว่า “ตีเช็คเปล่า” ให้คุณมีชัยไปทำกฎหมายลูกใส่รายละเอียดสำคัญที่ไม่มีใครรู้ต่อไป 2.เป็นการรับรองมาตรา 44 จากเดิมที่มาตรานี้เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตั้งเอง ใช้เอง หากประชามติผ่าน มาตรา 44 จะเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรม
“สิ่งที่อยากจะฝากเป็นคำถามคือ รัฐธรรมนูญมีชัยต่างจากรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์อย่างไร ผมว่าบวรศักดิ์เขียนเป็นระบบกว่า มีความรับกันตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ของมีชัยไม่ต้องมี อยากใส่อะไรก็ใส่มา แต่ขณะเดียวกันมีชัยซ่อนอะไรได้ลึกกว่า ถ้าไม่อ่านละเอียดจะลำบากเพราะแกเป็นนักเทคนิคกฎหมายชั้นบรมครู” อธึกกิตกล่าว
“ในแง่ของระบบ มีชัยจะย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2534 และลักษณะของอำนาจทั้งหมด มีชัยจะมองเฉพาะอีลีท แต่บวรศักกดิ์เขาแบกความเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 บางทีเขาก็อาย ต้องอธิบายเยอะ และเขาเป็นเจ้าแห่งสิทธิเสรีภาพที่เอาเป็นจุดขาย แกคิดกว้างกว่าแต่เป็นระบบที่ลงตัวได้ยาก บวรศักดิ์พยายามเอาคนชั้นกลางในเมือง ปราชญ์ชาวบ้าน สภาพลเมือง เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมทั้งหลายเข้ามาด้วย แต่มีชัยโยนพวกนี้ลงชักโครกหมดแล้วทำให้เอ็นจีโอออกมาแสดงความไม่พอใจ แต่อย่าไว้วางใจ ถ้ามีชัยเอาพวกเขากลับเข้าไปเมื่อไร พวกเขาก็เอาเมื่อนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้สนใจอำนาจศาลหรือปัญหาเชิงระบบการเมือง” อธึกกิตกล่าว 


ร่าง รธน. สะท้อน 'ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง'

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า อยากชี้ให้เห็นว่า มาตรา 48-59 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ น่าคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล” หรือเปล่า หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นก็เข้าสู่อำนาจ ป.ป.ช. ว่ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ถอดถอนได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอน แต่เขาใช้คำว่า “ให้พ้นจากหน้าที่” และคนที่จะสั่งให้พ้นจากหน้าที่ได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง
เรื่องจริยธรรม มันกว้างขวางมาก เป็นการง่ายที่จะกล่าวหา ไม่ชัดเหมือนกฎหมายที่ระบุการทุจริตชัดเจน เจตนารมณ์ของเขาคือต้องการให้การถอดถอนผู้มีตำแหน่งทางการเมืองง่ายกว่าเดิมมาก อีกศาลที่ยกขึ้นมาให้อำนาจเคียงข้างกันคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องจริยธรรมไปศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีอื่นให้ไปศาลฎีกา
“นี่เป็นการให้อำนาจตุลาการขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารโดยสิ้นเชิง ถูกมัดมือมัดเท้าตั้งแต่ต้น ประชาชนเลือกมา แต่เลือกมาแล้วฉันถอดถอนได้ เอาเข้าคุกได้ โดยการตีความกว้างขวาง อย่างนี้แล้วมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนก็ไม่จริง” พนัสกล่าว
“อำนาจที่ประเคนให้ศาลรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วคือ อำนาจทางการเมือง ในแง่นี้ศาลรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือประหัตประหารทางการเมืองนั่นเอง อยู่ที่ว่าใครจะคุมศาลรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาตรงนี้จะเห็นว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น จะชาวบ้านชาวเมืองที่ไหนเข้าไปได้ มีแต่ขุนนางใหญ่ ไม่อย่างนั้นก็ต้องศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ก็คงถูกเลือกอีกว่าเป็นศาสตราจารย์สายไหน จริงๆ มันคือกระบวนการเล่นพวก แต่เราเรียกโก้ๆ ว่ากระบวนการสรรหา” พนัสกล่าว
“เพื่อนผู้พิพากษาของผม เกษียณแล้วก็ยังมีงานทำต่อ มาดำรงตำแหน่งพวกนี้แหละ เทียบกับของต่างประเทศ ของอเมริกาจะมีวิธีการคือ เป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่จะเสนอชื่อ คัดหัวกะทิจริงๆ มีการตรวจสอบประวัติแบบแทบจะเอากล้องขยายส่องเลย แล้วการลงมติของสภาก็ไม่ปิดลับแต่ลงเปิดเผย และไม่ใช่เซย์เยสอย่างเดียว ต้องอธิบายเหตุผลด้วย อันนี้เป็นกระบวนการที่โปร่งใสมากในการแต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างนี้ และมันยึดโยงกับประชาชนด้วย เป็นอำนาจสองอำนาจร่วมกันแต่งตั้งอำนาจตุลาการ” พนัสกล่าว
พนัส สรุปว่า ระบบที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง 

 

คำถามจากผู้ฟัง –   คำตอบจากวิทยากร :   ชำแหละรัฐธรรมนูญ คสช.2.0

คำถาม
1. มีเวลาเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญถึงแค่ 15 ก.พ.เราควรทำอย่างไร/ เราควรรับหรือไม่รับ จะรณรงค์อย่างไรดี/ ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ ชีวิตพวกเราจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร
2. เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญคือการจัดวางสถาบันทางการเมือง สิ่งที่นักนิติศาสตร์สายประชาธิปไตยต้องคิดหนักคือ เผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นปัญหาตอนปี 2548 กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลมันไม่ทำงาน ต้องหาคำตอบให้ได้มากกว่าจะพูดแต่เรื่องไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะศาลรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางนั้นๆ เพียงแต่การตรวจสอบพวกเขาจะทำอย่างไร รัฐบาลสามารถวีโต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม นอกจากนี้ในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เห็นด้วยกับมาตรา 44 เพราะทำให้รัฐมันเดินได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล (ขอตอบคำถามข้อ 2)
เวลาเราคิดถึงประชาธิปไตย เราไม่ได้คิดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตอนปลายๆ ของรัฐธรรมนูญ 2540 เห็นแล้วว่าองค์กรอิสระมีปัญหาถูกการเมืองแทรกแซง ข้อดีของประชาธิปไตยคือเปิดโอกาสให้แก้ไขตัวเอง แก้โดยระบบที่ทุกคนพูดได้
ถามว่าจะออกแบบให้สมบูรณ์ที่สุดก่อน เราจะเอาระบบดีเลิศประเสริฐศรีตลอดกาล มันไม่มี มันต้องเริ่มต้นแบบนี้ ตรงไหนเห็นข้อบกพร่องก็แก้กันไป ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่มีข้อเสีย แต่มันเปิดโอกาสให้แก้ปัญหาโดยตัวมันเอง
ส่วนเรื่องชอบมาตรา 44 มันส์มาก ผมตอบด้วยนักปราชญ์ฝรั่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับที่ท่านพูด แต่ก็จะปกป้องสิทธิที่ท่านจะพูด แต่มาตรา 44 ทำไม่ได้ ผมแถลงข่าวแสดงความเห็นไม่กี่คนก็ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จะให้เอามาตรา 44 ไปจับคนที่ผมไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เอา  ผมจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับมาตรา 44
คำถาม (ต่อ)
3. ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เหมือนร่างที่แล้ว แล้ว คสช.จะไปอยู่ตรงไหน เขาวางเกมไว้อย่างไร
4.นายกฯ คนนอกจะมาทางไหน การเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก็เท่ากับประชาชนรับทราบแล้ว ต้องเลือกคนที่ประชาชนรับได้
5.หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ต้องรับผิดชอบอะไรไหม
พนัส ทัศนียานนท์
“โดยส่วนตัวผมไม่ให้ผ่าน รับไม่ได้ แต่ประชามติจะออกมายังไง ผมพยากรณ์ไม่ได้ มีแฟกเตอร์หลายอย่าง เทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 แรงต่อต้านเยอะอยู่แต่สุดท้ายก็ผ่านได้ ทั้งข่มขู่ทั้งหลอกลวง ตัวชี้วัดอันหนึ่งเขาจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไหม เพราะถ้าไม่แก้ให้ชัดเจน โอกาสที่จะไม่ผ่านก็เยอะ ถ้าเขาแก้ว่านับเกินกึ่งหนึ่งของคนมาออกเสียงลงคะแนน แปลว่าเขาต้องการให้ผ่าน” พนัสกล่าว

“นายกฯ คนนอกเคยเกิดแล้ว คนออกแบบรัฐธรรมนูญก็คือคนนี้ ถ้าจะมีแบบนั้น ก็ต้องเกิดสถานการณ์ 1.พรรคการเมืองทั้งหลายยกเว้นเพื่อไทยเห็นดีเห็นงามกับรัฐธรรมนูญนี้ 2.เมื่อเลือกตั้งออกแบบมาแล้วต้องเป็นรัฐบาลผสม เงื่อนไขก็ใกล้เคียงกับ 2523 เป็นต้นมาถึง 2531 พล.อ.เปรมอยู่มาได้ถึง 8 ปีไม่ต้องลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองไปอัญเชิญมา เราต้องวิเคราะห์ว่าเงื่อนไขขณะนี้กับตอนนั้นมันเป็นไปได้ไหม คนที่เขาคิดเรื่องนี้อาจคิดว่ามันเป็นไปได้เพราะเขาติดกับการรับรู้เก่าของเขาที่เคยทำได้”
“เนื้อแท้ของการขับเคลื่อนการปฏิรูป ก็คือ การขับเคลื่อนไปสู่อดีต ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดได้” พนัสกล่าว
อธึกกิต แสวงสุข
“นายกฯ คนนอก ผมคิดว่าคงมายาก แต่ก็ต้องมองว่าเขียนเพื่ออะไร เขียนแล้วจะโละไหม ผมมองมุมกลับด้วยซ้ำว่าเป็นการล็อคพรรคการเมือง มีว่าที่นายกฯ ได้ 3 คน เวลาหาเสียงต้องอุ้มพวกนี้เป็นไข่ในหินเลย เดี๋ยวทำอะไรแล้วโดนตัดสิทธิขึ้นมา หนึ่ง สอง สาม หมดแล้ว ถามว่าเขายกเลิกได้ไหม ผมว่ามาตรานี้ไม่มีปัญหาอะไรเลย คนที่ไม่ชอบมากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีแนวโน้มจะรับร่างรัฐธรรมนูญถ้าขจัดเงื่อนไขบางอย่างกำลังต่อรองกันอยู่ ครั้งนี้ ปชป.ไปแบบไม่มียางแล้ว คราวที่แล้ว ปชป.ยังพูดเรื่อง ไม่เอา ส.ว.สรรหา แต่รับไปก่อนแล้วจะแก้ทีหลัง แต่คราวนี้ไม่พูดเลย ส่วน กปปส.ไม่ต้องสงสัย สำหรับพรรคเพื่อไทย บอกทักษิณหน่อย ถ้าทักษิณประกาศไม่รับร่าง จะมีคนอีกเป็นล้านโหวตรับทันทีโดยไม่ต้องอ่าน นี่มันคือรัฐธรรมนูญแห่งความเกลียดชัง ไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญก็ได้ พอโฆษณาว่าปราบโกง เห็นพวกเพื่อไทยร้องกันจ้าละหวั่น ก็คิดกันว่าดีนี่หว่า นี่มันยันต์ปราบผี สังคมไทยมันกลายเป็นแบบนี้ไปหมดแล้ว”
“อันนี้รับไปก่อนไม่มีแก้ทีหลัง รับแล้วไม่มีเลือกตั้งเร็วด้วย ล็อคตายเด็ดขาดหมด แต่ยังจะมีคนรับใช่ไหม แต่ถ้าดูท่าทีตอนนี้เขาเอาจริงเอาจังมาก อำนาจ คสช.เข้มแข็งกว่า คมช. แต่ขณะเดียวกันด้านกลับที่ คสช.ต้องถูกต้องตั้งคำถาม คือ หนึ่ง คุณจะให้เราเอาโรดแมปของใครแน่ ของคุณ 6-4 (6+4+6+4) หรือ กรธ. ซึ่งกลายเป็น 8+2+5 อะไรไม่รู้ สอง คุณจะวางตัวเป็นกลางไหม ตอนปี 2550 แม้จะใช้อำนาจเบื้องล่างอย่างไร รัฐบาลสมัยนั้นไม่ได้แสดงตัวโจ่งแจ้งว่าเขาสนับสนุน คมช.ไม่ได้เต้นแร้งเต้นกา ครั้งที่แล้วดีเบตกันเต็มไปหมด ครั้งนี้จะมีไหม แล้วครั้งนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันเต็มไปหมด”
“รัฐธรรมนูญที่จะออกมาในทางไม่พึงประสงค์ของ คสช.คือ หนึ่ง-คว่ำ สอง-ชนะเฉียดฉิว ชนะเฉียดฉิวก็แย่ เพราะคุณจะอยู่อีก 15 เดือน ไม่ได้รีบไป บนฐานคะแนนแบบนี้ ไม่ง่ายนะ สิ่งเดียวที่จะทำให้ คสช.ใช้อำนาจต่อในบทเฉพาะกาลได้มั่นคงก็ต้องชนะอย่างท่วมท้น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างภาพให้แฟร์ด้วย ประชามติในภาพรวม ไม่ว่าจะไม่ผ่านหรือผ่านอย่างเฉียดฉิวมันกระทบต่อเสถียรภาพทั้งสิ้น แล้วเขาต้องคิดหนัก จนถึงปลาย มี.ค.จะให้มีประชามติไหม จะคว่ำร่างเองคนก็เจอมาแล้วจะตอบคำถามยังไง”
“ถามว่าทำไม คสช.ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่เลย ผมคิดว่าถ้ามันไปถึงจุดนั้นจริงมันมีหลักประกันที่มั่นคง มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอิสระ ก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพแล้ว และมันยังอีกยาว ถ้าร่างบทเฉพาะกาลไม่สำเร็จ ตั้ง กรธ.ใหม่ได้อีก มันไปว่ากันข้างหน้า ตัดสินตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อีก เขามีลักษณะเดินไปก่อนแล้วตัดสินใจตอนใกล้ๆ เหมือนร่างบวรศักดิ์ ฉะนั้น ไม่ต้องห่วง ถ้าผ่านอีก 15 เดือน ยืดไปอีก มาตรา 44 ก็ยังอยู่” อธึกกิตกล่าว
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
“สิ่งที่จะเกิดคือการสร้างระบบการเมืองให้อภิชนแทรกเข้ามาอยู่ และไม่ได้ผูกยึดโยงกับตัวประยุทธ์ แม่น้ำทำไมต้องมีห้าสาย นี่คือการขยายฐานของนักการเมืองอภิชน หรือ นักการเมืองประชารัฐ ความพยายามวางระบบแบบนี้มีมานานตั้งแต่ 49”
“เรากำลังจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาสู่สถาบันทางการเมืองโดยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ผ่านระบบเลือกตั้ง”
“ถ้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญอะไรจะเกิดขึ้น เราจะเห็นการถดถอยลงของระบบพรรคการเมือง โลกปัจจุบันเวลาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญๆ ต้องมีความชอบธรรมทางการเมืองมาหนุนหลัง เช่น จะปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีที่ดิน ไม่สามารถอาศัยอำนาจที่ไม่มีฐานทางการเมือง การเสื่อมถอยของมันทำให้การเปลี่ยนของสังคมที่มีกฎเกณฑ์มีระบบและมั่นคง เป็นไปได้ยาก”
“คำถามต่อมา แล้วถ้ามีการถดถอยลงของสถาบันทางการเมืองจากการเลือกตั้งจะเกิดอะไร ต้องคิดเรื่องการเมืองมวลชน เพราะเราจะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลขาดประสิทธิภาพนำเสนอปัญหาต่างๆ เช่น ราคายาง ฯลฯ มันจะเกิดความอลหม่านในระยะยาว”
“คำถามว่า ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบอะไร การที่เขาตั้งบวรศักดิ์ มีชัยขึ้นมา ถ้ามีเสียงคัดค้าน ก็โทษคนร่าง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น