ที่มา : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
ประธาน กรธ. ไม่เห็นด้วยที่ กกต. เสนอให้มีการจัดทำข้อดีข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญแจกประชาชน ระบุไม่ใช่หน้าที่ กกต. เผยไม่หนักใจแม้สองพรรคใหญ่ไม่เห็นด้วยกับตัวร่าง แต่สุดท้ายขอให้เห็นแก่ประโยชน์ประเทศ ปัดหากคำถามพ่วงสร้างควมขัดแย้ง ไม่เกี่ยวกับ กรธ.
11 เม.ย. 2559 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีวาระพิจารณาการจัดทำคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปดำเนินการเผยแพร่ต่อประชาชน ทั้งนี้ มีชัย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า กรธ.จะส่งเอกสารสรุปคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ให้กกต.ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ ทั้งนี้เอกสารที่จะนำส่ง กกต.เล่มแรกจะเป็นการสรุปเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด ส่วนอีกเล่มเป็นสรุปเฉพาะประเด็นที่สำคัญๆ พร้อมกับภาพประกอบประมาณ 10 เรื่องที่ควรรู้
การจัดทำข้อดี-ข้อเสีย ไม่ใช่หน้าที่ กกต. หวั่นชี้นำประชาชน
มีชัย กล่าวต่อไปถึงกรณีข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้มีการจัดทำดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแจกให้กับประชาชนว่า ไม่ควรจัดทำข้อดี ข้อเสีย ของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการชี้นำ และไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. เนื่องจาก กกต. จะต้องมีความเป็นกลางจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ดี เอาใครมาเป็นมาตรฐาน ซึ่งเรื่องนี้ต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งหากยังดำเนินการเช่นนั้นอาจผิดกฎหมาย และเข้าข่ายความผิดทางอาญาด้วย
ทั้งนี้ มีชัย ยอมรับว่า เป็นห่วงกับการนำเสนอร่าง รธน. ไปยังประชาชน เพราะขณะนี้มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่บิดเบือนเนื้อหาทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
2 พรรคใหญ่ไม่เห็นด้วย ไม่หนักใจ แต่ขอให้ทุกฝ่ายนึกถึงประโยชน์ประเทศ
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ มีชัยกล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจว่าพรรคการเมืองจะชี้นำให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามขอให้ทุกฝ่ายนึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เพราะผู้ร่างก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้กันทั้งประเทศ ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องนั้น ไม่ใช่เรื่องบกพร่อง อาจเป็นเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีใครที่จะเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มีคุณธรรม เขาก็ไม่ทำสิ่งใดที่บิดเบือน ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราก็รับรู้ แต่พรรคการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม ก็จะไปบิดเบือน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีวิชามารทยอยบิดเบือนข้อมูลกันแล้ว ตนกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
ประธานกรธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่า กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคือ การไม่ใช้คำว่า"ไล่ออก"และ"ปลดออก" เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา แต่ครั้งนี้ กรธ. เขียนเป็น "ถูกให้พ้นจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐเพราะทุจริต ต่อหน้าที่” เพราะเห็นว่าคำว่า "ให้พ้นจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ" กว้างกว่าคำว่า "ไล่ออก" "ปลดออก" หรือ "ให้ออก" เพราะบางครั้งไม่ได้ไล่ออก แต่เป็นการเลิกสัญญา ถ้าเขียนแบบเดิมจะไม่ครอบคลุม กรธ. จึงปรับใหม่เพื่อให้ครอบคลุม ดังนั้นการกล่าวหาว่า กรธ. ช่วยพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าบิดเบือน กกต. จึงต้องตรวจสอบ แต่ถ้ากรธ. พบก็จะส่งเรื่องไปให้ กกต. ดำเนินการ
คำถามพ่วง สนช. จะสร้างความขัดแย้งหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ กรธ.
เมื่อถามว่าถ้าคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านการทำประชามติ กรธ.ต้องปรับแก้ไข มองว่าจะขัดกับหลักการที่วางไว้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถึงตอนนั้นเจตนารมณ์ของประชาชนต้องเป็นใหญ่ เมื่อถามย้ำว่าเกรงว่าคำถามพ่วงจะสร้างความขัดแย้งหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรธ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น