วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออก‘สมศักดิ์’ ปิยบุตรห่วงยังมีช่อง มธ.ลงดาบซ้ำ


<--break- />
11 เม.ย.2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 10 ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลข บ.408/2558 ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยศาลพิพากษาว่าคำสั่งของอธิการบดีมธ.และการยกคำอุทธรณ์ของ ก.พ.อ.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าวและเพิกถอนคำวินิจฉัยของ ก.พ.อ.ที่ยกอุทธรณ์ของสมศักดิ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว นั่นคือวันที่ 19 ธ.ค.2557 อันเป็นวันต่อจากวันที่คณบดีมีหนังสือให้สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ
คำพิพากษาปรากฏเหตุผลหลักว่า สมศักดิ์ไม่ได้มีความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน เนื่องจากหลังจากสมศักดิ์ยื่นเรื่องขอลาไปเพิ่มพูความรู้ทำวิจัยเรื่องเฮเกลเมื่อ 16 พ.ค.2557 แล้ว ก็ปรากฏว่าได้รับการอนุมัติให้ลาตามร้องขอ (1 ส.ค.2557-31 ก.ค.2558) จากหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ คณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์แล้วเป็นที่เรียบร้อย แม้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากอธิการบดี นอกจากนี้ผลจากคณะกรรมการสอบสวนที่ทางมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นภายหลังก็ปรากฏข้อมูลว่ามีกรณีที่อาจารย์สามารถเดินทางไปเริ่มต้นการศึกษาเพิ่มพูนความรู้หรือทำวิจัยได้เลยหากทางคณะอนุมัติ โดยทางมหาวิทยาลัยจะทำการอนุมัติย้อนหลัง
นอกจากนี้ยังพบการพิจารณาที่ล่าช้าเป็นพิเศษในกรณีของสมศักดิ์เพราะกว่าคณะจะส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัยพิจารณาก็ใช้เวลากว่า 3 เดือนและมหาวิทยาลัยก็ใช้เวลาอีกนานในการตรวจสอบกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกการลาดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทับซ้อนกับการลาดังกล่าวนั้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีการอนุมัติจากอธิการบดี คณบดีได้มีหนังสือเรียกตัวให้สมศักดิ์กลับมาสอนในวันที่ 18 ธ.ค.2557 สมศักดิ์จึงได้ยื่นจดหมายลาออกในวันที่ 19 ธ.ค.2557 โดยขอให้มีผล 30 ธ.ค.2557 แต่ทางมหาวิทยาลัยระบุว่าได้รับหนังสือลาออกดังกล่าวของสมศักดิ์ในวันที่ 6 ม.ค.2558 และยังไม่มีการอนุมัติใดๆ จากนั้นคณบดีได้มีหนังสือเรียกตัวสมศักดิ์กลับมาสอนอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ค.2558 จากนั้น 1 วัน คือในวันที่ 27 ม.ค.2558 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีคำสั่งให้คณะยกเลิกการลาไปทำวิจัยของสมศักดิ์ ศาลเห็นว่า ในกรณีนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสมศักดิ์ได้รับรู้คำสั่งยกเลิกการลาของเขาแล้วหรือไม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นๆ อันจะอนุมานพฤติการณ์และนำมาวินิจฉัยได้ว่าสมศักดิ์ทราบเรื่องแล้วและจงใจไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยอ้างว่าการขาดราชการของสมศักดิ์ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ที่ได้จ่ายในระหว่างเวลาตามคำสั่งไล่ออกจากราชการ ศาลเห็นว่า หากอธิการเห็นว่าการที่สมศักดิ์ไม่มาปฏิบัติราชการทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนก็สามารถเรียกให้สมศักดิ์ชำระคืนเงินเดือนและเงินสวัสดิการที่ได้รับไปโดยมิชอบพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายได้ ส่วนเรื่องทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายร้ายแรง
ขณะที่ประเด็นที่สมศักดิ์ยกเหตุผลประเด็นการถูกคุกคามและอาจมีอันตรายอย่าร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ จากเหตุการณ์วันที่ 12 ก.พ.2557 ที่มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่บ้าน และถูกข่มขู่ทั้งทางตรงทางออ้มจากคณะบุคคลซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครอง ทำให้ไม่สามารถกลับมาปฏิบัติราชการได้ตามปกตินั้น ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ยิงใส่บ้านสมศักดิ์ผ่านมาเป็นเวลา 10 เดือนก่อนหน้าหัวหน้าภาควิชาจะมีหนังสือเรียกให้เขากลับมาปฏิบัติราชการ ภัยดังกล่าวเกิดที่บ้าน และไม่ปรากฏว่าเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง สมศักดิ์จึงไม่อาจอ้างกรณีดังกล่าวเป็นเหตุผลไม่มาปฏิบัติราชการได้
ในส่วนของสมศักดิ์อ้างคณะบุคคลซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครอง คุกคาม เช่น มีการแจ้งดำเนินคดีอาญามาตรา 112 มีการออกคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว ก็เป็นกรณีที่สมศักดิ์จะต้องสู้คดีจะต้องต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายต่อไป ข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้อีกเช่นกัน

ปิยบุตรชี้ชนะคดีไม่สุด ชะตากรรม ‘สมศักดิ์’ วนกลับไปอยู่ในมือ ‘สมคิด’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังข่าวคำพิพากษาดังกล่าว ปิยบตุร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งข้อสังเกตถึงคดีนี้ว่า คำพิพากษาฉบับนี้จะเป็นการ ‘ยื่นดาบ’ ให้ มธ. ดำเนินการทางวินัยและมีคำสั่งไล่ออกได้อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากศาลปกครองได้เปิดทางไว้ในคำพิพากษาว่า หาก มธ. จะดำเนินการทางวินัยใหม่ก็สามารถทำได้ เพราะหลังวันที่ 28 ม.ค.2558 ทาง มธ.ได้แจ้งให้สมศักดิ์ทราบแล้วว่าไม่อนุมัติให้ลาไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้และให้กลับมาปฏิบัติงานทันที การที่สมศักดิ์ยังคงไม่กลับมาก็ทำให้ดำเนินการทางวินัยได้ โดยเหตุที่ไม่สามารถอ้างเรื่องไม่รู้ ไม่จงใจได้อีกแล้ว
ส่วนเหตุผลที่ศาลยกมาประกอบนั้น พบว่าศาลปกครองนำข้อเท็จจริงเรื่องการลาราชการเพื่อเพิ่มพูนความรู้มาใช้เพื่อวินิจฉัยว่าสมศักดิ์ไม่จงใจเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องรัฐประหาร เรื่องการคุกคามชีวิตและร่างกาย ตลอดจนเรื่องการที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่สมศักดิ์ซึ่งเป็นเหตุทำให้การขาดงานของเขามีเหตุอันควรนั้น ศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
“ดังนั้น คำพิพากษานี้ ดูเหมือนเป็นคุณกับอาจารย์สมศักดิ์ แต่ไม่ได้เป็นคุณกับอาจารย์สมศักดิ์อย่างถึงที่สุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ มธ อีกครั้งว่า จะดำเนินการทางวินัยใหม่อีกครั้งและสั่งไล่ออกอีกหรือไม่ หากไล่ออกขึ้นมา อาจารย์สมศักดิ์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งไล่ออก คราวนี้จะบอกว่าไม่จงใจไม่ได้แล้ว และจะบอกว่ามีเหตุอันควร (อันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หากกลับไป) ก็ไม่ได้ เพราะศาลปกครองได้บอกไว้ในคำพิพากษาแล้วว่า ฟังไม่ขึ้น หากอาจารย์สมศักดิ์ลาออก มธ. อนุมัติให้ลาออก เรื่องก็จบ เลิกแล้วต่อกัน อาจารย์ได้เงินบำนาญตามสิทธิที่ควรได้ และใช้ชีวิตผู้ลี้ภัยต่อไป หาก มธ. ไม่อนุมัติให้ลาอก และตัดสินใจดำเนินการทางวินัยใหม่และไล่ออกอีก คราวนี้คงยุ่ง ต้องฟ้องกันใหม่เป็นอีกคดี” ปิยบตุรระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น