วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

'สถาบันสิทธิฯ มหิดล' ชี้คุณกำลังขัดกับรธน.ของตัวเอง เหตุคุกคามคนบอกรับ/ไม่รับร่างรธน.


ภาพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แถลงสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรธน.เพื่อการออกเสียงประชามติที่เสรี-เป็นธรรม เตือนคสช. รัฐบาลและกกต. กำลังขัดรธน. ม.4 ของคสช. รวมทั้ง พ.ร.บ.ประชามติเสียเอง ที่เขียนให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
28 เม.ย.2559 จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามขอให้ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาซึ่งทำหน้าที่วิทยากรในเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 หัวข้อ “คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ทีผ่านมา ไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อชี้แจงกรณีการเผยแพร่เอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งความผิดใด ๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานและหน่วยงานต้นสังกัดของ เบญจรัตน์ ขอชี้แจงและเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
1. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายืนยันการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนและถกแถลงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อันจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม การสร้างคุณค่าร่วมกัน และการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่างเหล่านั้น

2. การแสดงออกถึงการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของปวงชน และตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”

3. พฤติกรรมของผู้แทนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการออกคำสั่ง จับกุม และข่มขู่ผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเปิดเผย เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่มุ่งสร้างความสามัคคี สกัดการใช้กำลัง และยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้ง การไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์และนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มุ่งยุติความขัดแย้งของคนในชาติ

4. ถ้ารัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า บุคคลและ/หรือองค์กรใดมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 จำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า บุคคลและ/หรือองค์กรนั้นกระทำผิดกฎหมายฉบับใด ในมาตราใด ด้วยเหตุผลใด และต้องเป็นการชี้แจงโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

5. การแจกเอกสารหรือการแถลงข่าวว่ารับหรือไม่รับ และการเชิญชวนให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำโดยสุภาพและสุจริตใจตามมาตรา 7 ที่อ้างถึงข้างต้น น่าจะกระทำได้เพราะไม่ถูกห้ามโดยมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

6. ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมายพึงตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะมาตรา 61 ในทางที่เอื้อไม่ใช่ในทางที่ลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ขอยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และขอเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติโดยสุจริตใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น