วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

แอมเนสตี้ร้องปล่อยตัวผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กถูกรัฐบาลทหารไทยคุมตัว



28 เม.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า การที่ผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กอย่างน้อย 10 คนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยใช้อำนาจอย่างกว้างขวางตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การกระทำดังกล่าวแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงก่อนจะถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
โดยทั้ง 10 คนถูกจับกุมหลังแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งรัฐบาลทหารของไทยพยายามประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ได้  สำหรับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กซึ่งถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายดังกล่าวอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ถ้าประชาชนทั่วไปไม่สามารถแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กได้ เนื่องจากอาจถูกลงโทษจำคุกถึง 10 ปี และเสียค่าปรับที่สูงลิบลิ่วแล้ว. จะมีความหวังได้อย่างไรว่าจะมีการอภิปรายถกเถียงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับร่างรัฐูธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐบาลทหาร
“รัฐบาลทหารของไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อผู้แสดงความเห็นเหล่านั้นโดยทันที และปล่อยตัวพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าสิ่งใดที่สามารถพูดได้หรือไม่สามารถพูดได้เกี่ยวกับการทำประชามติ ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้วิจารณญาณทางการเมืองตัดสินใจด้วยตนเอง” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว
รัฐบาลทหารของไทยเสนอให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ แต่ในช่วงก่อนหน้านั้น ทางการได้เพิ่มการปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เกือบทุกวันมีผู้ถูกจับกุมและถูกลงโทษแม้เพียงแค่การตั้งข้อสังเกตแบบพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งขู่ว่าเขาต้องการจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” สำหรับคนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นที่เห็นชอบของทางการ โดยบอกว่ามีผู้แสดงความเห็นซึ่งใช้ “ภาษาที่หยาบคายและก้าวร้าว” แต่ให้เหตุผลว่าทางการจะยอมรับการอภิปรายถกเถียงในลักษณะ “ที่เป็นวิชาการประกอบด้วยตรรกะและเหตุผล” ได้
“คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่าต้องการการถกเถียงด้วยข้อมูล แต่แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่างสะท้อนให้เห็นว่าทางการไม่มีความอดทนพอที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น