วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

FTA Watch ลั่นไม่รับร่างรธน.มีชัย เหตุทำหลักการเจรจาสัญญาระหว่างประเทศเสื่อมถอย


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน แถลงไม่รับร่างรธน.มีชัย เหตุเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการจนทำให้การเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเสื่อมถอย ทั้งกัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ทำลายตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างบริหาร-นิติฯ ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร จำกัดและลดความสำคัญของประชาธิปไตย
22 เม.ย. 2559 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยระบุว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 178 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่เสื่อมถอยไปจากมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างสิ้นเชิง จนกระทบต่อหลักการสำคัญ 4 ประการ เป็นการบ่อนเซาะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา เนื่องจาก กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร จำกัดและลดความสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้ : 
แถลงการณ์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามการเจรจาระหว่างประเทศและผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาการเจรจาการระหว่างให้มีความสมดุลและเป็นธรรมพบว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ “การเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 178 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่เสื่อมถอยไปจากมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างสิ้นเชิง
นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ประเทศไทยได้มีการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศจำนวนมาก และในท้ายที่สุดได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงระหว่างประเทศภายใต้การปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้เกิดความรอบคอบในการเจรจา เพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจา ทำให้เกิดผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติมากขึ้น และแม้ว่าจะได้มีความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หลายครั้งเพื่อเร่งรัด ลดขั้นตอนและเวลา แต่เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการเจรจามีต้นเหตุมาจากการไม่ได้จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 มิใช่เกิดจากตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 178 นั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดทอนและปรับเปลี่ยนเนื้อหาบทบัญญัติของมาตรา 190 เดิม จนกระทบต่อหลักการสำคัญ 4 ประการ เป็นการบ่อนเซาะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ดังนี้
1. กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล :  โดยการตัดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงสาระสำคัญของหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาตั้งแต่ในขั้นการจัดทำกรอบการเจรจา  ข้อบัญญัติที่เคยมีอยู่ดังกล่าว เป็นการสร้างความโปร่งใส สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และเป็นแนวทางป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหนังสือสัญญา
2. ทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ :  โดยตัดข้อบัญญัติที่ให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น ในมาตรา 178 วรรคสองยังได้เพิ่มข้อกำหนดตอนท้ายว่า ในขั้นการพิจารณาเข้าร่วมผูกพันในหนังสือสัญญา หากรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 60 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง
3. ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร : การตัดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาออกไป เป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหารในการเจรจา ขั้นตอนดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศต่างๆ ยึดถือปฏิบัติและอ้างอิงเพื่อสร้างและเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายบริหารในการเจรจา
4. จำกัดและลดความสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา : โดยการตัดทอนข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญในกระแสโลกาภิวัตน์  การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการจัดทำหนังสือที่ผ่านมาตามมาตรา 190 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทำให้การเจรจามีความรอบคอบ ช่วยตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนเป็นกลไกที่ช่วยทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีคุณภาพและมีผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาที่แท้จริง
นอกจากหลักการทั้ง 4 ประการข้างต้นจะถูกบ่อนเซาะทำลายแล้ว ข้อบัญญัติในมาตรา 178 วรรคสามยังได้กำหนดขอบเขตของประเภทหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางไว้อย่างจำกัด ทำให้ขอบเขตการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ และพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาสังคมถูกจำกัดและหดแคบลงไปอีก
ยิ่งกว่านั้น ข้อบัญญัติในมาตรา 178 วรรคสี่ ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายลูกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่กฎหมายที่จะมีสาระสำคัญเพื่อการกำหนดขั้นตอนและวิธีดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา มีความโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามหลักธรรมาภิบาลตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550  แต่กลายเป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับมาตราอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประกันสิทธิพื้นฐานของประชาชนโดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาและการคุ้มครองผู้บริโภค ยังพบว่า มีบทบัญญัติที่ล้าหลังอันเป็นการลดทอนสิทธิของประชาชน แต่มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจรัฐลดอำนาจประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการที่ไม่ดี ไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้
ด้วยเหตุผลและข้อวิเคราะห์ดังกล่าว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จึงขอประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ  และพร้อมที่จะจัดเวทีหรือเข้าร่วมเวทีถกแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ และความเห็นต่างอย่างรอบด้าน อันเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองอันชอบธรรมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น