วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ UN กังวลหนัก ทหารใช้อำนาจเข้มข้น-ปิดความเห็นค้านร่าง รธน.


ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ UN Human Rights - Asia

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติห่วงบทบาทของทหารที่เพิ่มขึ้นในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนของไทย และการลิดรอนสิทธิผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
22 เม.ย. 2559 UN Human Rights - Asia รายงานว่า ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ไซอิด รา’เอด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อบทบาทของทหารที่เพิ่มขึ้นในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนของไทย รวมทั้งการลิดรอนสิทธิผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดในขณะที่ประเทศไทยเตรียมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไซอิด กล่าวว่า ผู้วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญหลายรายถูกจับกุมโดยพลการ ถูกควบคุมตัว และคุกคามนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยเมื่อวันจันทร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนา เมืองสุข ถูกควบคุมตัวโดยทหารหลังวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในโซเชียลมีเดีย ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อวานนี้ ต่อมาในวันอังคาร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 5 คนถูกนำไปควบคุมตัวยังสถานที่ควบคุมตัวของทหารหลังชุมนุมต่อต้านการลิดรอนสิทธิของรัฐบาลอย่างสันติ แต่ขณะนี้ทุกคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ไซอิดได้แสดงความกังวลโดยเฉพาะต่อการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะยิ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐรายอื่นๆ แสดงความเห็นต่อเนื่องอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ในการออกเสียงประชามติได้จำกัดขอบเขตในการแสดงออกของกลุ่มคนหรือบุคคลเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว กฎหมายดังกล่าวซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยจึงอาจได้รับการตีความตามอำเภอใจและนำไปใช้กับผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
“การอภิปรายสาธารณะร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างและมีพลวัตจะบ่มเพาะความสมานสามัคคีระดับชาติ ทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับและมีความชอบธรรมมากขึ้น และส่งผลให้ผู้คนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญร่วมกัน” ไซอิดกล่าวและว่า “แทนที่จะขัดขวาง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการเสวนาและการมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนี่จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นฐานอันมั่นคงเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย”
ทั้งนี้ แม้ว่าข้าหลวงใหญ่จะกล่าวว่า ยินดีที่เห็นว่าประชาชนได้รับอนุญาตให้แสดงความเห็น นอกจากนี้ บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบางประการยังถูกนำมารวมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ย้ำเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้พื้นที่แก่สาธารณชน สมาชิกพรรคการเมือง ประชาสังคม รวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน สื่อ และนักวิชาการในการแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวถูกคุกคาม ตอบโต้ หรือถูกจับกุม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ออกคำสั่งใหม่หลายฉบับเพื่อเพิ่มบทบาทของทหารในการกำหนดนโยบายและบังคับใช้กฎหมาย หลังจากประเทศประสบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและการประท้วงอย่างรุนแรงมาหลายปีแล้ว
“การเพิ่มอำนาจทหารไม่ใช่คำตอบในการสร้างภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ของไทย” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว “ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีสถาบันพลเรือนที่มีความสามารถ และดังนั้น จึงควรหาทางเพิ่มความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ทำให้กฎนิติรัฐและธรรมาภิบาลอ่อนแอลงแต่อย่างใด”
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลขที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารประจำการและอาสาสมัครทหารพรานดำเนินการกรณีมีการทำความผิดต่างๆ ภายใต้กฎหมายอย่างน้อย 27 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเคหสถาน ยึดทรัพย์ ระงับธุรกรรมทางการเงิน ห้ามไม่ให้ผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศ ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ การตรวจสอบโดยศาล หรือความความรับผิดแต่ประการใด แม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าอำนาจดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งใช้กับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ แต่ก็มีความกังวลว่าจะมีการใช้อำนาจนี้กับผู้คัดค้าน นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกฉบับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 เพิ่มอำนาจทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ยังส่งผลให้บทบาททหารในการกำหนดนโยบายและบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (institutionalized) กล่าวคือ มาตรา 265 และ 279 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คำสั่งของทหารที่ออกภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้รับการรับรองว่าชอบด้วยกฎหมายและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถออกคำสั่งนิติบัญญัติ คำสั่งบริหาร หรือคำสั่งตุลาการใดก็ได้ โดยในปีที่ผ่านมา มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ถึง 61 ฉบับภายใต้มาตรา 44
“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะระงับการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งแบบปูพรมไม่เลือกหน้าซึ่งเปิดทางให้ทหารมีอำนาจมากกว่าเดิม” ไซอิดกล่าว
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องซ้ำอีกครั้งให้โอนทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนประชาธิปไตย ตลอดจนปฎิบัติตามกฎบัตรอาเซียนและสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น