ตร.มีความเห็นสั่งฟ้อง ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนาย NDM คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กรณีไม่ยอมให้ค้นรถ ขณะที่อัยการนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ค.นี้ หลังทนายขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่ม
12 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความศูนย์ทนายฯ เข้าพบพนักงานอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ในคดีซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี) และมาตรา 368 (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 เดือน)ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว พนักงานอัยการเลื่อนไปนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 ก.ค. เวลา 9.30 น. เพื่อทำการสอบพยานเพิ่มเติม
โดยเวลาประมาณ 11.30 น. ขณะรายงานตัว ศิริกาญจน์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ซึ่งหนังสือขอความเป็นธรรมได้เสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าตรวจค้นรถของศิริกาญจน์ในคืนวันที่ 27 มิถุนายน 2558 โดยไม่มีหมายค้นและความยินยอมนั้นไม่ได้มีอำนาจสอบสวนในพื้นที่ที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังทราบดีว่าตนไม่มีอำนาจจะกระทำการดังกล่าว ซึ่งศิริกาญจน์ได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการละเมิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และหากมีการสอบสวนพบว่าผู้กล่าวหาได้กระทำผิดจริง ย่อมแสดงว่า ศิริกาญจน์ ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมถึงการดำเนินคดีกับศิริกาญจน์ซึ่งถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของลูกความ ยังจะทำให้กระทบกระเทือนถึงภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของประเทศ นอกจากนี้หนังสือขอความเป็นธรรมยังขอให้มีการสอบสวนพยานเพิ่มเติม คือ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นลูกความของศิริกาญจน์, เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และพนักงานสอบสวนที่ได้รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ของศิริกาญจน์ ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
นอกจากนี้ แซม ซาริฟี ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดน ประจำประเทศไทยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนดังกล่าว ได้ให้ความเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ได้รับความสนใจในระดับระหว่างประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของทนายความที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ด้าน ภาณุพงษ์ เจริญยิ่ง อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ศาลแขวง 3 ได้ชี้แจงกับผู้สังเกตการณ์ว่า ขั้นตอนแรกอัยการต้องพิจารณาก่อนว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใด จากนั้นจึงพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามสำนวนและหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งคดีนี้จะตั้งเป็นคณะทำงานซึ่งจะมีตนเป็นหัวหน้าคณะ อย่างไรก็ตามคดีนี้ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบของสำนักงานอัยการ ดังนั้นคนที่จะพิจารณาความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือไม่จะเป็นอธิบดีอัยการศาลแขวง ซึ่งพนักงานอัยการนัดมาฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เวลา 9.30 น. ที่สำนักงานอัยการศาลแขวง 3 (ดุสิต) ในระหว่างนี้พนักงานอัยการจะทำการสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีก่อน
ทั้งนี้ ศิริกาญจน์ เป็นหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 นักศึกษาขบวนประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในการคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คนต่อศาลทหารในคืนวันที่ 26-27 มิ.ย.58 ภายหลังจากการพิจารณาในศาลทหารเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าขอค้นรถศิริกาญจน์เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาทั้ง 14 คนซึ่งฝากทีมทนายความไว้ก่อนเข้าเรือนจำ ศิริกาญจน์ปฏิเสธไม่ให้ค้นรถยนต์เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นและปราศจากเหตุอันสมควรที่จะค้นรถได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำตรวจได้ยึดรถยนต์ศิริกาญจน์ไว้ข้ามคืนจนนำหมายศาลมาตรวจค้นในวันที่ 27 มิ.ย.58 ภายหลังจากนั้นศิริกาญจน์ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาในการยึดรถไว้ ต่อมาพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี 14 นักศึกษาจึงเข้าแจ้งความว่าศิริกาญจน์ซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา แต่คดีมาตรา 172 และมาตรา 174 นั้นยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น