วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สืบพยานนัดหน้า 27 ก.ย.คดีพ่นสีสเปรย์-ปล่อยลมรถทหาร


เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพมีการสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ 6 ก./2557 ที่อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้องพรรณมณี ชูเชาวน์ จำเลยที่ 1 และนายสมบัติ โกมัยพันธ์ จำเลยที่ 2 ความผิดทางอาญาข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ทำลายทรัพย์สินทางราชการ ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยในวันนี้เป็นวันนัดสืบพยานโจกท์ซึ่งเป็นทหารที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 28 พ.ค.2557 หรือการชุมนุมประท้วงรัฐประหารของประชาชนที่ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ทั้งนี้ ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ย.2559
พรรณมณี ชูเชาวน์ จำเลยที่1 อายุ  42 ปีเป็นข้าราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวตามหมายจับศาลทหารเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2557 เธอยอมรับว่าได้พ่นสีสเปรย์รถทหาร ขณะมีการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จริงแต่ทำไปโดยไม่ทราบว่าเป็นความผิด และยืนยันว่าไม่มีใครจ้างวาน วันที่ 31 พ.ค. 2557 หลังพรรณมณีถูกควบคุมตัวนำฝากขัง เธอได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 40,000 บาท พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ส่วนสมบัติ โกมัยพันธ์ วัย 43 ปีถูกจับกุมและควบคุมตัววันที่ 2 มิ.ย.2557ตามหมายจับศาลทหาร เขายอมรับว่าได้ไปร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ แต่ไม่ได้ปล่อยยางลมรถทหารส่วนที่นำมือวางตรงจุกเติมลมยางรถของทหารเพราะนึกสนุกแต่มีคนถ่ายรูปไว้ พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ต่อมา 3 มิ.ย.2557 สมบัติได้รับการประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 40,000 บาท อย่างไรก็ตามตั้งแต่ได้รับการประกันตัวเมื่อปี 2557 ถึงปัจจุบันทั้งคู่ยังถูกห้ามชุมนุมและแสดงความคิดเห็นใดๆ ทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
พรรณมณีกล่าวว่า การถูกกำจัดสิทธิเสรีภาพไม่ให้ร่วมชุมนุมหรือแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ นั้นส่งกระทบต่อเธอเพราะเดิมอยู่ในกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งเธอมองว่าเป็นการห้ามที่ผิดแปลกไปจากหลักการทั่วไป
ด้านสมบัติบอกว่าไม่ได้หวังสิ่งใดมากนัก เพราะคู่ความคือเป็นทหารแล้วต้องมาขึ้นศาลทหารอีก นอกจากนี้แม้ว่าจำเลยได้รับการประกันตัว แต่การต่อสู้คดีที่ยาวนานมรวมถึงก่อนหน้านี้ได้ร้องขอต่อศาลแล้วว่าไม่ขอสืบพยานที่ไม่มีความสำคัญแต่ศาลไม่อนุญาตนั้นส่งผลกระทบต่อสมบัติที่ต้องลางานเพื่อมาศาลบ่อยครั้ง
ในการสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้ พยานเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยพยานเบิกความว่า ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดคุ้มครองความปลอดภัยให้กับกองทัพปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ พัน ปจว. เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ประมาณ 15.00 น.-18.00 น. โดยช่วงแรกสถานการณ์ปกติแต่ เมื่อเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมราว 50 คน เริ่มทยอยเข้ามาตรงเกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยฯ เจ้าหน้าที่พูดให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมเริ่มมีการใช้คำพูดด่าและขว้างปาสิ่งของใส่สห. ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง สุดท้ายจึงให้ตำรวจมาล้อมพาชุดปฏิบัติหน้าที่ของพยานโจทก์ออกไปอยู่ที่เกาะราชวิถีโดยรถต้นแบบยังอยู่ที่เดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานโจทก์บาดเจ็บบริเวณเท้า ขา แข้ง ประมาณ 2-3 ราย และจำไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมคนใดทำอะไรกับเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะสถานการณ์คับขันและผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก โดยชุดปฏิบัติหน้าที่ของพยานโจทก์ได้รับการเน้นย้ำจากผู้บังคับบัญชาว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นให้ใช้เพียงโล่กันภัยเท่านั้นและพยานไจทก์ไม่ได้โต้กลับทั้งไม่รู้จักผู้ร่วมชุมนุมมาก่อน
พยานตอบทนายความถามค้านว่า อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมนั้นมีลักษณะเดินผ่านไปมา และสิ่งที่ได้ยินชัดเจนจากผู้ชุมนุมคือ “ทหารออกไป” แต่ไม่มีผู้ชุมนุมมาด่าโดยตรงและส่วนโล่กันภัยนั้นมีความยาวคลุมลงมาจนถึงเข่า ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาถูกทำร้ายที่บริเวณขาจากการใช้แผงเหล็กนั้นระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร และไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันในการเบิกความ
พยานโจทก์เบิกความต่อว่า ขณะเกิดเหตุถ้าประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการประท้วงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ประท้วงไม่ผิดกฎหมาย และไม่ทราบถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น