วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พิชญ์วิเคราะห์เกมประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้


24 มิ.ย. 2559 ในการเสวนาเรื่อง "อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้เกมประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้  พร้อมใช้มุม "เปลี่ยนผ่านวิทยา" เข้าใจทหารเพื่อจำกัดทหารจากการเมือง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นสลับกันไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยและการรัฐประหาร ทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาเป็นการพิจารณาถึงการสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้ามาเล่นในเกมประชาธิปไตย โดยไม่ใช่การรอคอยไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ทฤษฎีนี้มักจะถูกวิจารณ์คือ มันให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของชนชั้นนำ โดยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าชนชั้นนำไม่ขยับ แต่นั่นถูกเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือ ในฐานะประชาชนเราจะสร้างแรงจูงใจอะไร เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ชนชั้นนำขยับ ผู้เล่นสำคัญอันหนึ่งในชนชั้นนำคือ ทหาร เราไม่ได้มองในฐานะแค่ศัตรูของประชาธิปไตย แต่โจทย์คือ จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้กองทัพออกไปจากการเมืองและอยู่ได้ด้วย
“คนที่ไม่เข้าใจกรอบทฤษฎีนี้มักพูดว่า มองไม่เห็นประชาชน ในการเปลี่ยนผ่านวิทยาสิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกรอบคิดของทหารเองและจะทำยังไงให้เขาออก เราต้องดูด้วยทหารเขาสร้างระบอบพันธมิตรอย่างไรที่ทำให้เขาอยู่ยาว นอกจากปัจจัยทางอุดมการณ์”
ในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยสิ่งที่เกิดเสมอคือ “การเปลี่ยนไม่ผ่าน” แล้วอยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งเราอาจต้องเถียงกันว่าจริงหรือเปล่าที่พื้นที่นั้นมันรอการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง หรือจริงๆ แล้วมันคือความจริงทางการเมือง
ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ “การแบ่งปันอำนาจ” มันไม่ได้แปลว่า แบ่งกันอย่างเท่ากัน แต่เป็นสถานการณ์เทาๆ เป็นสถานการณ์แห่งการต่อรอง มันต้องมีพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายมีที่ยืน อะไรทำให้เกิดเงื่อนไขเช่นนั้น
“ผมคิดว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเดินต่อ มันเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน และอาจเป็นไปได้ว่าเกมในอนาคตที่ทำให้ทหารเข้ามาสู่การเมืองไม่ได้ ไม่ใช่การสั่งสอนประชาธิปไตยทหาร แต่เป็นทหารเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำรัฐประหารบ่อยเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 18 ครั้งนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตัวเลขนี้มากกว่าทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2475 ยังมีปัญหาที่ถกเถียงกันในทางวิชาการว่าจะเรียกมันว่าอะไร แต่สำหรับพิชญ์เห็นว่ามันคือ การเปลี่ยนระบอบ (regime change)
คำถามที่มากับทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านและการล่มสลายเหล่านี้ คือ
1. จะทำอย่างไรให้ “ประชาธิปไตย” เป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะเล่นในเกมประชาธิปไตย
2. สังคมไทยมักพยายามใช้อำนาจนอกรูปแบบประชาธิปไตยจัดการกับปัญหาประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยสามารถจัดการปัญหาได้จากภายใน
3. การเล่นเกมประชาธิปไตยเป็นการเล่มเกมที่แพง คนบางคนคิดว่าเล่นไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายก็ชนะเอาๆ หรืออาจเป็นได้เขามีทรัพยากรอื่นที่ไม่ต้องเล่นเกมประชาธิปไตย คำถามจึงเป็นว่าจะทำให้คนเหล่านั้นมีแรงจูงใจมาเล่นเกมประชาธิปไตยได้อย่างไร
4. ปัญหาในการออกแบบประชาธิปไตยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะสร้างบรรยากาศที่จะทำให้คนรู้สึกว่าจะชนะและแพ้สลับกันไปได้อย่างไร การออกแบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนอย่างที่พยายามกันอย่างมากจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า
5. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นความหวังหรือเปล่า ถ้าประชาธิปัตย์แพ้ทุกครั้งขนาดนี้จะสร้างสถาบันทางการเมืองอะไรมาคานอำนาจประชาธิปไตยในระบบ นี่เป็นการออกแบบสถาบันให้ยั่งยืน ให้คนส่วนน้อยที่มีอำนาจมากอยากจะเล่นในเกมประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น