3 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยคำร้องดังกล่าวเป็นของ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (3 มิ.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ตนมองว่าอย่าคิดไปไกล เพราะประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่สาหัสแต่อย่างไร ขณะที่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเรื่องดังกล่าวก็มีเพียงว่า หากจำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ตนมองว่าหากมีความจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่ กรธ.นั้นขออยู่อย่างสงบและเจียมตัวจะดีกว่า
ต่อกรณีคำถามที่ว่า หากวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนจากเดิม มองว่าจะเป็นจุดกระทบความมั่นคงรัฐบาลได้หรือไม่ มีชัย กล่าวว่า คงไม่เพราะการเลื่อนวันลงประชามติเพราะมีเหตุจำเป็นและมีอุปสรรค ไม่ใช่เป็นเพราะความต้องการที่จะอยากเลื่อนเท่านั้น ขณะที่ผลของการเลื่อนประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะกระทบโรดแมปของรัฐบาลหรือไม่ก็ต้องดูว่า หากเลื่อนแล้วจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหา มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ยังไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เลื่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากที่กำหนดไว้เดิมไว้ได้ หากถามว่าอะไรที่เป็นเหตุจำเป็นต้องเลื่อนวันประชามติได้นั้น ตนคิดว่าอาจจะเป็นเหตุการระเบิดจากนิวเคลียร์ หรือเกิดสงครามโลก
หวั่นหากตีความ ม.61 ขัด รธน. เนื้อหาร่างฯถูกบิดเบือนหนักแน่
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า มีชัย กล่าวอีกว่า ต้องดูที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ตีความประเด็นใด หากเป็นเฉพาะบางถ้อยคำ เช่นคำว่า “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” หากขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็พอมีผลใช้ได้ แต่หากให้ตีความทั้งวรรค ก็จะกระทบกับการป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเริ่มมีการบิดเบือนเยอะมากขึ้น แม้ว่าจะมีกฎหมายทั่วไปบังคับใช้เพื่อควบคุมแทนได้บ้าง แต่ก็ไม่ตรงตามจุดประสงค์ต่อการออกเสียงประชามติ จึงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน แล้วถามความเห็น กกต. ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย ส่วนผลกระทบต่อโรดแม็ปหากมีการเลื่อนการทำประชามติ ที่นายกรัฐมนตรีเองก็เริ่มแสดงความเห็นไว้นั่น ก็ต้องรอความชัดเจนจากคำวินิจฉัยก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น