วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ดักคอเลื่อนประชามติ iLaw แจงยื่นตีความ พ.ร.บ.ประชามติแค่มาตราเดียว


ไอลอว์ชี้ไม่ว่าศาลรธน.วินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ อย่างไร ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลื่อนการทำประชามติ ชี้ขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ 
3 มิ.ย. 2559 จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ และประชาชนรวม 107 คน ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการประชุมว่าจะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ไอลอว์ ชี้แจงว่า กรณีที่ผู้ตรวจการออกมาแถลงนั้น เป็นเพียงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ ผลที่จะตามมาก็คือ เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ จะใช้บังคับไม่ได้ เสมือนว่าเนื้อหาตามวรรคสองนี้ไม่เคยมีอยู่ และบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีตามวรรคสองของกฎหมายดังกล่าวก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมายนั้นอีกต่อไป
พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 66 มาตรา ความยาว 21 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียง การแบ่งเขตออกเสียง ผู้มีสิทธิออกเสียง การนับคะแนน การประกาศผล ฯลฯ มาตรา 61 เองมีหกวรรค หรือหกย่อหน้า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ จะมีผลกระทบเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ความยาวสี่บรรทัดเท่านั้น มาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับนี้และย่อหน้าอื่นๆ ในมาตรา 61 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติลุล่วงไปได้
ไอลอว์ยกตัวอย่างกรณีที่ใกล้เคียงกันกับเรื่องนี้คือ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 198 ว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลสามีเท่านั้น ทำให้ชายและหญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมายด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล
จากกรณีนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546 ระบุว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 30 ที่คุ้มครองสิทธิเสรีของประชาชนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งผลที่ตามมาภายหลังคำวินิจฉัยก็คือ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ถูกยกเลิก เพียงมาตราเดียวเท่านั้น และหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อการลงประชามติหรือไม่ ไอลอว์เห็นว่า ขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะการอ้างว่า หากมาตรา 61 วรรคสองบังคับใช้ไม่ได้ จะทำให้ไม่มีกฎหมายควบคุมและจะเกิดความวุ่นวายในการทำประชามติ เป็นเพียงการสันนิษฐานไปเองโดยที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และในความเป็นจริงแม้ไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง การหมิ่นประมาท การยุยงปลุกปั่น การปล่อยข่าวลือที่เป็นเท็จ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้แต่การโพสต์ข้อความบนสื่อออนไลน์ที่กระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ก็เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และในภาวะปัจจุบันยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารอยู่แล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังให้ความเห็น ต่อกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้อีกว่า “หากไม่มี มาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม" เช่นเดียวกับ ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ
"หากมีการเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไปนั้น มิใช่ผลจากกระบวนการการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นผลจากการตัดสินใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญจะช่วยให้ พ.ร.บ.ประชามติไม่ถูกนำเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน" ไอลอว์ ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น