วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชาวบ้านลุ่มน้ำภาคอีสาน ยื่นหนังสือค้าน พ.ร.บ. น้ำ ชี้ ปชช. ไม่มีส่วนร่วม


เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ยื่นหนังสือ 7 เหตุผล 4 ข้อเสนอ ค้าน พ.ร.บ. น้ำ ต่อ สนช. ชี้กระบวนการร่างยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน หวั่นกระทบวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2559 เวลา 10.00 น ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน และตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 30 คน ได้ยื่นหนังถือ 7 เหตุผลที่ค้านร่าง พรบ.น้ำ และ 4 ข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี วิวัฒน์ เถระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นตัวแทนลงมารับหนังสือ
จันทรา จันทาทอง ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ร่าง พรบ.น้ำ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วม และการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในลุ่มน้ำก็ไม่ได้รับรู้หรือครอบคลุมพื้นที่ชาวบ้านลุ่มน้ำจริงๆ  การนำร่าง พรบ.น้ำที่ประชาชนยังไม่ได้รับรู้เนื้อหาเข้าสู่กระบวนการให้สภานิติบัญญัติพิจารณาร่าง พรบ.น้ำ คงเป็นไปไม่ได้ โดยวันนี้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ดจึงมายื่นหนังสือให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำการถอดถอนร่าง พรบ.น้ำ ออกก่อน เนื่องจากกลัวว่าร่าง พรบ.น้ำ จะขัดต่อการดำเนินวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ
ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่ยื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้เพราะว่า เนื้อหาในร่าง พรบ.น้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำยังมีเนื้อหาที่ให้อำนาจรัฐมากเกินไปในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งสร้างความกังวัลให้กับทางเครือช่ายมาก เนื่องจากวิถีชีวิตการพึ่งพาอาศัยน้ำในแต่ละลุ่มน้ำมีความแตกต่างกัน การเข้าถึง การเข้าใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์ การจัดการน้ำ บางพื้นที่มีรูปแบบคล้ายกัน ส่วนบางพื้นที่มีรูปแบบไม่เหมือนกัน ซึ่งเราควรคำนึงถึงความหลากหลายของพื้นที่ลุ่มน้ำให้มาก ถ้าเกิดว่า พรบ.น้ำฉบับนี้ผ่านอาจจะสร้างความขัดแย้งกับวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำนั้นๆ ต่อไปในอนาคตเพราะความไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ เหมือนนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ผ่านมาของรัฐ เช่น โครงการโขง ชี มูล เป็นต้น  
สริศักดิ์ ระบุด้วยว่า ตามกระบวนการร่าง พรบ.น้ำ ควรที่จะให้ประชาชนลุ่มน้ำเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง พรบ.น้ำ ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้เขาไม่เสียสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นถึงเนื้อหาของร่าง พรบ.น้ำ ที่จะให้ประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง  สุดท้ายเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานจะยังเดินหน้าที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนลุ่มน้ำต่อไปด้วย 7 เหตุผลที่ค้านร่าง พรบ.น้ำ และ 4 ข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน

เรื่อง        ให้ถอดถอนร่าง พรบ.น้ำ
เรียน       ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติน้ำอย่างต่อเนื่องแต่กลับถูกประชาชนคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติน้ำที่ถูกนำเสนอมาตลอด เนื่องจากกระบวนการร่างกฎหมายน้ำนั้นขาดการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างของภาคประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก เนื้อหาของพระราชบัญญัติที่ไม่ครอบคลุมและจำกัดสิทธิการเข้าถึง การจัดการและการใช้ประโยชน์น้ำของภาคประชาชน เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเสนอกฎหมายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ การพยายามผลักดันของกรมทรัพยากรน้ำ       
การเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการของกรมทรัพยากรน้ำ เรื่องการปรับปรุงพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....... เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...ให้เกิดความรอบคอบอันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน และลดข้อขัดแย้งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ..... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในเร็ววัน
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มีความเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะต้องถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ที่กรมทรัพยากรน้ำจะนำเสนอด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นกับร่างพระราบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของชาวบ้านลุ่มน้ำผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตามหลักการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชน
2.ตามร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มาตรา 6 “ให้รัฐมีอำนาจบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้นั้น” โดยรัฐยังมีอำนาจในการรวมศูนย์การจัดการน้ำ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยที่รัฐสามารถที่จะกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่คนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างรัฐกับชุมชน
3.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ..ไม่ได้กระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา
4.สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะมีตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่เลย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ในประเด็นการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
5.กระบวนการกำหนดนโยบายและแผนงานตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....เป็นการกำหนดจากส่วนบนลงล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อภาคประชาชนคนลุ่มน้ำ
6.การกำหนดให้มีผู้เสนอแนะตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ที่กำหนดให้ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ นั้นย่อมหมายถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำ แต่บุคคลกรเหล่านี้อาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจระบบนิเวศในแหล่งน้ำที่มีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศของภาคอีสาน
7.ร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ฉบับนี้ มุ่งสรรหาในประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือมุ่งเน้นการบูรณาการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน้ำ
ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ข้างต้นดังนี้
                1.ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ถอดถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ...ของกรมทรัพยากรน้ำออกจากการพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น
                2. กระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รัฐจะต้องจัดให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีส่วนได้ ส่วนเสียอย่างแท้จริง
                3.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... เป็นร่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนลุ่มน้ำอย่างแท้จริง
                4.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนร่างกฎหมายทุกขั้นตอน
                จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น