30 มิ.ย. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่ง สมบัติ เป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สมบัติ ไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้
ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”
ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น