ภาพเปิดศูนย์ปราบโกง บ้านโป่ง
30 มิ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าวนั้นถูกเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อปิดศูนย์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนในหลายจังหวัดมีทั้งที่เปิดได้และเปิดไม่ได้ โดยจุดหนึ่งที่สามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ คือที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อย่างไรก็ตาม 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่ง 10 รายกลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.59) แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ที่บ้านโป่ง ดังกล่าว เปิดเผยว่าตนได้รับหมายเรียกในคดีนี้ด้วย โดยมีผู้ถูกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกประมาณ 15 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ มีเพียงตนคนเดียวที่เป็นนักศึกษา โดยให้ไปที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อพบกับพนักงานสอบสวน ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เวลา 11.00 น.
แหล่งข่าวดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ระบุว่า ตนเองไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่เปิดศูนย์ปราบโกงฯ มานานแล้ว แต่เมื่อกลับมาบ้าน ทราบว่าจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ก็แวะไปเยี่ยม เข้าไปและถ่ายรูป
รัฐให้ข่าวสับสนเดี๋ยวเปิดได้เดี๋ยวเปิดไม่ได้
แหล่งข่าว เปิดเผยถึงเหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวว่า ตามหลักการมันคือความเป็นพลเมือง ตอนนั้นเราไม่รู้ข้อมูลว่ามันทำได้หรือไม่ได้ เนื่องจากในตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่อกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ว่าสามารถทำได้ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเปิดไม่ได้ ขณะที่ต่อมาให้ไปถาม กกต. ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ขณะที่ กกต. ก็บอกว่าทำได้ และยินดีด้วย ช่วงนั้นข่าวจะสร้างความสับสนมากว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ตนจึงเชื่อ กกต. ไว้ก่อนเนื่องจากมองว่ากระบวนการทำประชามติมันเป็นของ กกต. ดังนั้นเราก็ไปร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในฐานะพลเมือง
เขามองว่ามันเป็นกระบวนการที่มันน่าจะทำได้ในหลักการทั่วไป เราก็ไม่รู้ว่ารัฐให้เราทำได้หรือไม่ได้ แต่อย่างที่ตนบอกไปโดยเบื้องต้น เราคิดว่าทำได้ เพราะเขาให้ถาม กกต. แล้ว ขณะที่รัฐกำลังรณรงค์ประชามติ จะรับหรือไม่รับนั้น กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงก็ไม่ได้แสดงออก ตนเองแม้ไม่ได้เป็น นปช. แต่ก็เห็นว่าศูนย์ปราบโกงฯ นี้ก็เป็นประโยชน์ มันมีช่องมีทางให้สามารถตรวจสอบได้ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี มันน่าจะดีต่อความชอบธรรมของประชามติครั้งนี้ รวมทั้งอำนาจรัฐด้วย
"อย่างน้อยที่สุดในยุคปกตินักการเมือง ผมคิดว่าเขามีประสิทธิภาพในการตรวจสอบคนอื่นที่โกง ถ้าตรวจสอบตัวเองว่าโกงนั้นไม่มีใครเขาทำกัน แต่ว่านักการเมืองมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบคนอื่นที่โกง ถ้าตัวเองจะโกงมันก็จะมีกลุ่มฝั่งตรงข้ามที่เขาเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลกันไว้" แหล่งข่าว โต้แย้งข้อกล่าวหาที่ว่า นปช. เป็นนักการเมืองและมีข้อครหาว่ามีการทุจริตแล้วจะมาจับหรือตรวจสอบการโกงได้อย่างไร
แหล่งข่าว มองว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการของศูนย์ปราบโกงฯ ก็ทำได้เพียงชี้มูลความผิดให้กับกลไกรัฐซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองอยู่แล้ว โดยการมีศูนย์ปราบโกงฯ ที่จะรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบเพื่อส่งให้ กกต. ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยการชี้มูลความผิดให้กับรัฐนั้นไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองเลย
"พอเกิดบรรยากาศแบบนี้มันเกิดความหวาดกลัว มันไม่ปกติ และเป็นส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่จะไปลงประชามติแน่นอน และเป็นสิ่งที่กระจายไปในวงกว้าง เพราะฉะนั้นประชามตินี้ก็อาจจะไม่บริสุทธิ์ถ่องแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์" แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ แหล่งข่าว ยังกล่าวว่า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หากเป็นไปได้ขอให้ใช้ศาลพลเรือนปกติ และถามสมมุติว่ากระบวนการมันจบก่อนหน้านั้นได้ก็ดี เพราะเรามองว่าสิ่งที่เราทำนั้นสอดคล้องกับที่รัฐบาลบอกแน่นอน ไม่ได้มีเจตจำนงค์ใดๆ ทางการเมือง ในวันเปิดศูนย์ปราบโกงฯ นั้น ไม่ใครประกาศว่าไม่เอา คสช. เลย แค่มาถ่ายรูปร่วมกันและการรวมตัวจากนั้นก็คือการรับปรทานอาหาร และอยู่ในสถานที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวด้วย ไม่ได้ออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
กกต. สมชัย เคยระบุ นปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงฯได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม นปช. เตรียมตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมให้การออกเสียงประชามติครั้งนี้ให้มีความเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับ ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด กกต.พร้อมให้การสนับสนุน หากกลุ่มการเมืองอื่น ๆ อยากตั้งศูนย์ลักษณะเช่นนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ขอให้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่จงใจให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากพบการกระทำผิดเกิดขึ้น กกต. พร้อมดำเนินการ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ทีผ่านมา ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร แนะนำให้ นปช. มาคุยกับ กกต.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติ ว่า การตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล
“หากพบเห็นการทุจริตในกระบวนการออกเสียง สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดของสำนักงานกกต.หรือจะมาแจ้งที่สำนักงานกกต.โดยตรง โดยการถ่ายภาพบันทึกหลักฐานสามารถกระทำได้ หากกลุ่มนปช. ต้องการเข้ามาช่วยทำงานในด้านนี้ กกต.ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นประชาชนทั่วไป แต่การจะช่วยกันตรวจสอบ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งไม่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้กระบวนการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม” ประธานกกต. กล่าว
ประยุทธ์ยังเคยบอกให้เปิดไป
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรณี นปช. เปิดศูนย์ดังกล่าวว่า “ก็ให้เปิดไป แต่ผมไม่รับให้อยู่ตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าสื่อไม่ปลุกระดมก็ไม่มีผลอะไร ใครอยากจะตั้งก็ตั้งไป ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และศูนย์ฯนี้ก็อย่าทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการประชามติด้วย ถ้าผิดก็โดนจับหมด อย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแหลมในคูหา อย่าเข้าไปพูดว่าล้มไม่ล้มผิดพ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด ไอ้ตัวศูนย์ฯน่ะระวังให้ดี ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่ตั้ง จำนำข้าวทำไมไม่ตั้ง ทุจริตทำไมไม่ตั้ง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น