วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมายที่ มธ.-เรียกร้องปล่อยตัว 7 ผู้รณรงค์ประชามติ


ประชาธิปไตยใหม่จัดงาน "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - ชำนาญ จันทร์เรือง - พวงทอง ภวัครพันธุ์ - สาวตรี สุขศรี - เดชรัต สุขกำเนิด - สมบัติ บุญงามอนงค์ ร่วมอภิปรายทำไมรณรงค์ต้องเป็นสิทธิ และวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ เปิดทางให้ 250 ส.ว. ที่ คสช. เลือกในช่วงที่ใช้บทเฉพาะกาล ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี - นอกจากนี้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 ผู้รณรงค์ประชามติบางพลี
ผู้ร่วมกิจกรรมชูโปสเตอร์ และตะโกนคำขวัญ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" และ "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้รณรงค์ประชามติที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ทั้ง 7 ราย
ผู้ร่วมกิจกรรม "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูโปสเตอร์ข้อความ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" พร้อมตะโกน "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 7 คนซึ่งถูกจับกุมคุมขังจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่เคยถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อปีก่อน กล่าวให้กำลังใจ 7 ผู้รณรงค์ประชามติที่บางพลี ซึ่งถูกควบคุมตัว
3 ก.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงาน "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเมื่อเวลา 15.30 น. พิธีกรบนเวทีได้เชิญชวนผู้ร่วมงานชูนิตยสารก้าวข้าม ด้านที่เป็นโปสเตอร์ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" พร้อมตะโกน "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 7 คนซึ่งถูกจับกุมคุมขังจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่บางพลี จ.สมุทรปราการ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเปิด เผยสยามประเทศเผชิญวิกฤตรัฐธรรมนูญมาแล้ว 132 ปี
ต่อมา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มกล่าวเปิดงานว่า  วันนี้เราต้องมายืนยันสิทธิของเราในการลงประชามติร่างร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค.ว่า การรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างฯ เป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย เหตุที่ต้องมารวม ณ ที่นี้ เนื่องจากเยาวชนของเราจำนวน 7 คนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่น่าเชื่อ 40 กว่าปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ยังจำได้ว่าได้ไปเยี่ยม 13 กบฏรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ปีนี้เราต้องไปเยี่ยม 7 คนกบฏประชามติ
ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์อยากบอกว่า สยามประเทศไทยเรามีวิกฤตรัฐธรรมนูญมา 132 ปีแล้วไม่ใช่เพียง 10 ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น ได้แก่
- ร.ศ.103 มีข้าราชการหัวก้าวหน้าทำคำร้องขอรัฐธรรมนูญต่อ ร.5
- ร.ศ.130 ทหารหนุ่มวางแผนยึดอำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญสมัย ร.6ถูกจับขังคุกฐานกบฏ
- พ.ศ.2475 ทหารและขุนนางในนามคณะราษฎรทำการยึดอำนาจ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2
- 14 ตุลาคม 2516 นักเรียนนิสิตนักศึกษาประท้วงรัฐบาลถนอม ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10
- พฤษภาคม 2535 คนชั้นกลางประท้วงรัฐบาลเรื่องการมีนายกฯ คนนอก รัฐบาลสุจินดาปราบปรามประชาชน
- พ.ศ.2540 ประชาชนคนชั้นกลางเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองจนได้รัฐธรรมนูญ 2540 มีหลักการสำคัญ "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง"
- พ.ศ.2549 คปค.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่
- ร.ศ.233 หรือ พ.ศ.2557 คสช.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลเพื่อไทยล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่
"ประชามติในวันที่ 7 สิงหาน่าจะต้องมีการรณรงค์ใดๆ ก็ตามเยี่ยงนานาอารยประเทศ สยามเราถูกบังคับโดยอำมายาเสนาตุลาการ นายพล ขุนศึก ศักดินา พาสังคมพาเรือในอ่างน้ำเน่าซ้ำๆ ซากๆ มาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว คงไม่มีใครรู้ผลประชามติ (ถ้าจะมี) แต่การจับคนหนุ่มสาวไปขังไว้ในคุกนั้นเป็นสิ่งผิดอย่างแน่นอน สังคมใดก็ตามที่จับคนหนุ่มสาวมาขังคุกสังคมนั้นไม่มีอนาคต และยิ่งไม่มีอนาคตมากขึ้นเมื่อคนกำหนดอนาคตประเทศ เป็นผู้สูงวัยอายุ 60-กว่า 90 ปี แต่ท่ามกลางความหดหู่ ขอให้เรามองไปยังคนหนุ่มสาว ดังที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดได้โดยคนหนุ่มสาวทั้งสิ้น กบฏหมอเหล็ง (ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2455) เป็นคนหนุ่มทั้งสิ้น ปรีดี พนมยงค์ ก็อายุเพียง 32 ปี ขณะที่คนหนุ่มสาว 14 ตุลาไม่มีใครอายุเกิน 30 ปีเลย ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดแต่ประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกก็เกิดจากหนุ่มสาวทั้งสิ้น"
"ขอให้ผู้บริหาร ผู้กุมอำนาจ ผู้กุมกลไกความรุนแรงเปิดตาเปิดใจเห็นความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ้านเมืองเราเสียเวลามามากแล้วต้องเลิกพายเรือในอ่างน้ำเน่าและที่สำคัญเราต้องออกไปจากกะลา ไปให้พ้นความมืดบอดอคติและความเห็นแก่ตัว เห็นแก่หมู่คณะตนเอง ต้องกำหนดสติยึดมั่นคำสัญญาว่า เราจะอยู่เพื่อชาติและราษฎรของสยามประเทศ" ชาญวิทย์กล่าว
จากนั้นชาญวิทย์ได้มอบหนังสือให้แก่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจาย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปฝากนักโทษประชามติที่เรือนจำในวันพรุ่งนี้ "สี่สิบปีที่แล้วผมฝากหนังสือให้นักศึกษา ปีนี้ยังต้องมาฝากอีก" ชาญวิทย์กล่าว
รายชื่อหนังสือ ประกอบด้วย ประวัติการเมืองไทยสยาม 2475-2500, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, ตุลา ตุลา , พฤษภา พฤษภา, ชุมชนจินตกรรม, ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป, อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
หลังชาญวิทย์ กล่าวจบ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี พิธีกรบนเวที กล่าวว่า วันนี้มีแต่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยืนอยู่ที่นี่ แต่สมคิด เลิศไพฑูรย์ ทอดทิ้งรังสิมันต์ โรม ธรรมศาสตร์ไม่มีแม้แต่แถลงการณ์สักฉบับ

ชำนาญ จันทร์เรือง ชี้ประชามติฉบับกลัวแพ้
ต่อมา ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กล่าวว่า ประชามติที่จะเกิดขึ้นน่าจะเรียกว่า "อคติ" มากกว่า เป็นอคติจากความกลัวแพ้ เพราะมีการทำทุกวิถีทางเล่นงานคนที่ทำกิจกรรมรณรงค์
สำหรับทุกวันนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ถ้าประชามติผ่านหรือไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร หรือถ้าคำถามพ่วงผ่านแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองในเชิงเปรียบเทียบว่า ถ้าลูกในท้องตาย แม่ก็ต้องตายด้วย
ชำนาญย้ำว่า ทุกคนในที่นี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีบทเรียนประวัติศาสตร์จากเพื่อนบ้านหลายประเทศแล้วว่า แม้จะพยายามหยุดเวลาอย่างไร สุดท้ายเวลาก็ต้องเดินต่ออยู่ดี

การรณรงค์วันนี้ ถอยหลังยิ่งไปกว่าสองปีก่อน 
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ติดตามการเมืองไทยเข้าใจความยุติธรรมในสังคมดีว่าสองมาตรฐานยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
กว่าสองปีก่อนเกิดรัฐประหาร กลุ่มนักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) รณรงค์หลักการคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนต้องเท่ากัน เพราะเชื่อว่ามีความพยายามของกลุ่มอำนาจเก่าพยายามดึงเอาอำนาจที่เท่าเทียมของประชาชนไป แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่ต่อสู้กันวันนี้เรื่องสิทธิในการรณรงค์ ถอยหลังไปกว่าการรณรงค์เมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นยังมีโอกาสรณรงค์ในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องกลัวถูกจับกุม มาวันนี้จะรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนกลับทำไม่ได้ นี่คือความล้าหลังที่เห็น

คำถามพ่วงประชามติเปิดทาง คสช. เลือก ส.ว. 250 คน ไปลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นแรก หน้าที่ของการณรงค์มีความสำคัญมาก เพราะการอ่านร่างฉบับที่เขียนยอกย้อนมากเช่นนี้ไม่ง่าย ขณะเดียวกันมีสิทธิบางอย่างของประชาชนที่หายไป การณรงค์จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ ยกตัวอย่าง สิทธิการศึกษา รัฐธรรมนูญนี้ตัดสิทธิ์การศึกษาในช่วงม.ปลายและอาชีวะศึกษาเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ โชคดีที่น้องๆ มัธยมเป็นแนวหน้าลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้จนในที่สุด แม้กระทั่ง คสช.สุดท้ายยังต้องยอมถอยออกประกาศให้มีการศึกษาฟรีจน 15 ปีเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างว่าเรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ก็เพราะน้องๆ เขาออกมารณรงค์
"ฉะนั้น การณรงค์ไม่ใช่แค่เป็นสิทธิ แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ แต่เขาไม่ให้มีการรณรงค์เพราะไม่อยากให้รู้ว่าร่างนี้มีอะไรไม่ดีบ้าง" เดชรัตกล่าว
"มีคนถามว่าทำไมเขาไปเพิ่มสิทธิการศึกษาให้กลับมาเท่าเดิมผ่านประกาศ คสช. ผมตอบว่าอันนี้เป็นวิธีการทั่วไปของผู้กดขี่ เปาโล แฟร์ เขียนไว้นานแล้วว่า ผู้กดขี่ต้องการแสดงออกถึงความเมตตาปราณีอันจอมปลอม จะมีการแสดงออกจอมปลอมได้ต้องมีกฎกติกาอันไม่ยุติธรรม กฎเหล่านี้แหละจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้กดขี่แสดงอาการเมตตาปราณีอันจอมปลอมได้ ดังนั้นผู้กดขี่จึงต่อสู้เอาเป็นเอาตายเมื่อกติกานั้นจะได้รับการแก้ไข เพราะถ้ามันถูกแก้ไขเขาก็ไม่มีโอกาสแสดงความเมตตาปราณีอันจอมปลอมนั้นได้" เดชรัตกล่าว
ประเด็นต่อมา เดชรัตกล่าวถึง "คำถามพ่วง" ที่มาพร้อมร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เพื่อนมากกว่าครึ่งของเขาสงสัยว่ามีคำถามพ่วงด้วยหรือ? คำถามพ่วงถามว่า ช่วง 5 ปีแรกเห็นชอบไหมให้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมเลือกนายกฯ
"ถามว่ามันแปลว่าอะไร ในร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก แต่ช่วง 5 ปีแรกดันไปฝากไว้ในคำถามพ่วง ถ้าเราการับคำถามพ่วง ก็แปลว่าจะมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วย แล้วในร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ส.ว.มาจากการเลือกกันเอง แต่พออ่านบทเฉพาะกาล บอกว่า ส.ว. 250 คน คสช.เป็นคนเลือก จะเห็นได้ว่าเวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีสติอย่างมาก ไม่รู้อยู่ตรงไหนแน่" เดชรัตกล่าว
เขากล่าวอีกว่า ตอนนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 50 ล้านคน ถ้ามาใช้สิทธิ 70% ก็เท่ากับราว 35 ล้านคน เมื่อมาหารเฉลี่ยจะพบว่า ส.ส. แต่ละคนต้องมีเสียงประชาชนในการเลือก 70,000 เสียง แต่คสช. คณะเดียวเลือกได้ 250 คน เท่ากับปวงชนชาวไทย 17 ล้านคน อันนี้เป็นประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตย เป็นคณะเดียวที่เลือกเท่ากับ 50%ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
"นี่คือสิ่งที่เราต้องรณรงค์ ชี้แจงว่าอะไรจะเกิดขึ้น อนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร นี่เป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เราต้องยืนยันว่าต้องไปคุยกับเพื่อนกับพี่น้องของเรา และเรามีสิทธิจะบอกว่า เราไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้และเราไม่รับคำถามพ่วงที่มากับร่างนี้" เดชรัต

4 ที่สุดยุค คสช.-ปัญหามาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ
สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า ยุคนี้น่าจะเป็นยุค "ที่สุด" ของกฎหมายในหลายเรื่อง ประกอบด้วย
1. เป็นยุคที่ออกกฎหมายเร็วที่สุด ชนิดที่นักกฎหมายยังอ่านไม่ทัน วันเดียวรับหลักการสิบฉบับรวดยังเคยมี แล้วกฎหมายที่ออกมาจะดีหรือไม่
2. ถ้า สนช. หรือรัฐบาลนี้อยู่ต่อ อาจเป็นยุคที่มีการออกกฎหมายมากที่สุด แค่ประกาศ คสช. ออกมาครึ่งพันแล้ว ยังไม่นับกฎหมายอื่นที่ถูกแก้ไข
3. รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อ้างกฎหมายเพื่อรับรองการกระทำต่างๆ ของตัวเองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยลืมไปว่า ตัวเองเป็นที่สุดแห่งผู้ละเมิดกฎหมาย
4. กฎหมายสำคัญหลายฉบับเขียนให้อำนาจกับตนเองกว้างขวางที่สุด อย่าง มาตรา 44 หรือเกิดปัญหาการตีความมากที่สุด
สำหรับกฎหมายล่าสุดที่ต้องพูดถึงคือ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเป็นมาตราที่นักศึกษาทั้งเจ็ดถูกตั้งข้อหา ในมุมกฎหมายอาญา มาตรานี้ขัดกับกฎหมายอาญาหรือไม่ สาวตรี อภิปรายถึงคำถามนี้ว่า โดยหลักการ หลักกฎหมายที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญคือ "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" หมายความว่า รัฐบาลไหนจะกำหนดให้การกระทำของประชาชนเป็นความผิดที่มีโทษอาญา ต้องมีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในขณะ หรือก่อนที่จะทำความผิด โดยมีหลักย่อยที่ผู้บังคับใช้ต้องยึดถือสี่หลักคือ
หนึ่ง ห้ามใช้จารีตประเพณีในทางที่เป็นโทษต่อบุคคล (เพราะไม่มีบัญญัติลายลักษณ์อักษร)
สอง ห้ามใช้ย้อนหลังในลักษณะเป็นโทษต่อบุคคล
สาม ห้ามเทียบเคียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายอาญา ในทางเป็นโทษต่อบุคคล
สี่ ต้องบัญญัติโดยไม่ใช้ภาษาที่ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ เพราะจะทำให้ประชาไม่รู้ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้
หากมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติขัดกับสี่หลักนี้ โดยสภาพแล้วขัดรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ได้
ตามมาตรา 61 วรรคสอง เรารณรงค์ชี้นำได้ ทั้งบอยคอต โหวตโน โหวตเยส เพราะมาตรานี้ ชัดว่าจะทำไม่ได้ ก็ต่อเมื่อข้อความที่พูดบิดเบือนข้อเท็จจริง หยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ หากไม่ทำ ย่อมไม่ผิดกฎหมาย
มาตรานี้ขัดกับหลักข้างต้นที่กล่าวมา คำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ นั้นมีความคลุมเครือแต่ละคนตีความต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อความที่ระบุว่า รณรงค์ไม่ได้ ถ้าข้อมูลที่รณรงค์ผิดไปจากข้อเท็จจริง ถามว่าทำไมนักศึกษาที่นำเสนอการตีความร่างรัฐธรรมนูญจึงมีความผิด แต่ทำไมคลิปของสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงไม่ผิด สุเทพชี้นำให้ไปรับ นักศึกษาให้ไปโหวตไม่รับ ประเด็นคือทำไมสุเทพไม่ผิด นอกจากนี้ มาตรานี้ยังมีโทษที่สูง ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดด้วย
สาวตรีชี้ว่า ประชามติในอังกฤษกับไทย เหมือนกันแค่การใช้คำว่า "ประชามติ" นอกนั้นไม่มีอะไรเหมือนกัน ในอังกฤษ มีกฎหมายเรื่องการประชามติ แต่เปิดกว้างให้ประชาชนโหวตอยู่หรือโหวตออกได้เต็มที่ ไทยมีมาตรา 61 วรรคสอง แล้วยังมีมาตรา 44 ด้านหน้าที่ กกต. กกต.อังกฤษต้องทำหน้าที่สนับสนุนประชามติ แต่กกต.ไทย ไล่ล่าข่มขู่ นายกฯอังกฤษที่ริเริ่มการทำประชามติ ประกาศชัดว่าให้อังกฤษอยู่ในอียู แต่ไม่เคยบอกว่าต้องทำอย่างไร หรือห้ามทำอะไร แต่รายการคืนความสุข บอกว่าห้ามชี้นำ จะผิดกฎหมาย
"ถ้าเรายังคงมีได้แค่ประชามติแบบไทยๆ ที่สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นยังถูกลิดรอนอยู่ตลอด คงไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง" สาวตรี กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชี้"เราต้องไม่ลืมว่า เราเป็นคน ไม่ได้เป็นลิง"
สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) กล่าวว่า หากพิจารณาจากกระแสวิทยาศาสตร์ของโลกใบนี้อธิบายได้ว่า ไกลที่สุดและชัดเจนที่สุดคือ มนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง แล้วอะไรคือสิ่งที่เราแตกต่างจากลิง มีคนเล่าซึ่งอาจไม่จริงแต่น่าประทับใจว่า ลิงตัวแรกที่ตัดสินใจยืนตรง เลิกใช้สี่ขาคลาน วันที่ลิงมันตัดสินใจยืนตัวตรงคือจุดเปลี่ยนของความแตกต่างระหว่างลิงกับมนุษย์ คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะย้อนกลับไปเป็นลิงเหมือนเดิม ใครก็แล้วแต่ที่พยายามจะสวนอารยธรรม ทำให้คนในสังคมยืนไม่ตรง ความพยายามนั้นเป็นความพยายามที่จะไม่ประสบความสำเร็จ
สมบัติกล่าวด้วยความคับแค้นว่า ไม่กี่วันก่อนศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าเขาขัดคำสั่ง คสช. ไม่รายงานตัว เขาขอพูดเรื่องคำสั่ง คสช. เพราะตอนนี้เวลาคนวิจารณ์นักศึกษาหรือคนแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญเขาจะใช้วาทกรรมว่า คนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย
"แต่สองปีที่แล้วไม่มี คสช. และผมเคารพกฎหมาย แต่พอมีคนยึดอำนาจสถานปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแล้วประกาศนู่นประกาศนี่ ประกาศเหล่านี้ผมไม่ถือเป็นกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติไม่ใช่กฎหมาย การที่ผมนอนอยู่บ้านเพื่อนแล้วไม่ไปหาเขา ผมผิด ผมถูกตัดสินว่าผิด!! เขาตัดสินว่าคำสั่ง คสช.ถูกและการนอนอยู่บ้านนั้นผิด"
"ทีนี้ร่างร่างรัฐธรรมนูญของคสช.ก็จะต้องมีมาตราที่เขียนว่า รัฐธรรมนูญนี้ตราแล้วห้ามมิให้ฉีก มิให้ทำลายกฎหมายสูงสุด เหมือนรัฐธรรมนูญอื่นๆ คำถามคือ รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ แล้วเกิดมีคสช.2 ผมต้องทำยังไง แล้วคสช.2 ดันบ้าจี้เรียกผมอีก แล้วผมนอนอยู่บ้านเพื่อนอีก ถ้าจะให้ทำตามมาตรฐานที่เขาบอกว่าถูก ใครเอารถถังมายึดอำนาจเรียกรายงาน แล้วรีบวิ่งไปหา
เอาอย่างนั้นใช่มั้ย เราจะอยู่อย่างนั้นใช่ไหม ผมจะลงประชามติได้ยังไง ในเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตย ผมไม่กล้าหวังเหมือนในต่างประเทศที่จะมีการจับคณะรัฐประหารย้อนหลังมาติดคุก พูดตรงๆ ว่าผมไม่กล้าหวัง แต่ผมประชาชนคนนึงผมนอนอยู่บ้าน ผมผิด มันเป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ และฎีกาแน่นอน แม้จะติดคุกสองเดือน ผมยอมเรื่องนี้ไม่ได้"
"ผมพูดถึงน้องๆ ในเรือนจำ ตอนเริ่มทำกิจกรรมมักมีการพูดถึงครู โกมล คีมทอง ไปเป็นครูบ้านนอก วันนึงแก่เสียชีวิต มีคนเขียนถึงแกว่าแกเหมือนอิฐก้อนแรกที่ถมไปในหลุม ตอนนี้เราอยุ่ในหลุม แล้วน้องๆ ที่อยู่ในเรือนจำ หรือคนจัดงานวันนี้ แม้แต่พวกเราด้วย ก็เหมือนอิฐก้อนแรกที่ลงไปในหลุมแล้วจะมีอิฐก้อนอื่นๆ ทับถมไปเรื่อยๆ คนจะมองไม่เห็นหรอก แต่มันไม่มีทางจะเห็นอิฐก้อนบนได้เลยถ้าไม่มีอิฐก้อนแรก"
"พวกที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ สิ่งที่โรมเขาเขียนออกมา เขาเอาตัวเองเป็นเทียน พวกนี้ต้องเผาตัวเอง เสียสละเพื่อให้เกิดแสงสว่าง แล้วบรรยากาศการเมืองตอนนี้เต็มไปด้วยความกลัว ผมคิดว่าเขาเลือกแล้วที่จะให้แสงสว่างนั้นออกมาได้กว้างที่สุด ส่วนพวกเรา เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคน ไม่ได้เป็นลิง ดังนั้นเราต้องยืนให้ได้"

บุญเลิศ วิเศษปรีชา เรียกร้องปล่อยลูกศิษย์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การมาอยู่ที่นี่มาด้วยความรู้สึกคล้ายกันคือเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น การจับกุมนักศึกษาครั้งนี้เกิดจากการแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโน แม้แต่ชาวบ้านยังรู้ว่าการแจกใบปลิวเป็นสิ่งสามัญ ทำไมจึงต้องติดคุก ไปเยี่ยมนักศึกษา เห็นเยาวชนเจ็ดคน รังสิมันต์ถามตลอดเวลาว่าสถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไร
บุญเลิศตั้งคำถามว่า เผด็จการกลัวนักศึกษาเยาวชน แผ่นพับ และลูกโป่ง ขนาดนี้เชียวหรือ คงจะวิปริตเกินไปที่เราต้องมาพูดว่า คนแจกแผ่นพับถูกจับ ทั้งที่ กกต.สมชัย เพิ่งบอกว่าการรณรงค์ไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่อย่าก้าวร้าว หยาบคาย

เวียง วชิระ บัวสนธ์ ขอโทษที่รับร่าง รธน. ไม่ได้จริง
เวียง วชิระ บัวสนธ์ บก.สำนักพิมพ์สามัญชน กล่าวว่า อยากเรียนรัฐบาล คสช. และผู้สนับสนุน คสช. ให้ทราบว่า การที่เพื่อนหลายคน ทั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่และพลเมืองโต้กลับ ทำกิจกรรมที่อาจสร้างความรำคาญใจนั้นเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาล คสช. ที่ออกกฎกติกาข้อห้ามจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการรณรงค์ประชามติ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความไม่พอใจที่ความหมายของความเป็นมนุษย์ได้ถูกพรากไปแล้วตั้งแต่หลังรัฐประหาร
"การหมิ่นหยามคุณค่าของความเป็นคน ถ้ามีความคิดเช่นนั้นอยู่ ไม่แน่ใจว่ายังมีความเป็นคนหลงเหลือหรือไม่" เวียงฯ ฝากถึงรัฐบาล คสช.
เขากล่าวด้วยว่า จากการอ่านร่าง รธน. ฉบับมีชัย แล้วมองว่าไม่ชอบธรรม เพราะถูกผลิตขึ้นโดยผู้คนฝ่ายเดียว โดยส่วนตัว คิดว่าไม่อยากสังฆกรรมกับประชามติด้วย เพราะตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่เผอิญเขาไม่นับหากอยู่บ้านเฉยๆ จึงคิดว่าจำเป็นต้องไป เพื่อบอกว่าตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 คุณทำผิดและผิดมาตลอด "ขอโทษ กูรับมึงไม่ได้จริงๆ" เวียงฯ ทิ้งท้าย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชี้ประชามติต้องทำบนพื้นฐานความเท่าเทียม ไม่มีการข่มขู่คุกคาม
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ นำเสื้อ "โหวตโน" ขึ้นมาสวมบนเวที เขาเล่าว่า สองวันก่อน ได้ไปที่เรือนจำพิเศษ เป็นครั้งที่สอง เหมือนรียูเนียน ปีที่แล้วไปเยี่ยม 14 คน เพื่อยืนยันว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องในการแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เอารัฐประหาร และเมื่อไปเยี่ยม ถูกมองว่าเป็น "นักเขียนอันธพาล" "ทักษิณซื้อตัวไปแล้ว" ปีนี้ก่อนไปเยี่ยมได้ประกาศในเฟซบุ๊กว่าอยากให้เพื่อนนักเขียน ศิลปิน โดยเฉพาะนักเขียนรางวัลช่อการะเกด มาร่วม แต่ปรากฏว่ามีนักเขียนช่อการะเกดมาร่วมสองคน อาจเพราะกลัว หรือเปลี่ยนไปแล้ว
สุชาติ กล่าวว่า การทำประชามติต้องตั้งบนพื้นฐานความเท่าเทียม การตัดสินใจสุดท้ายเป็นของแต่ละคน ต้องไม่มีการออกกฎหมายประชามติ ที่ข่มขู่ คุกคาม คนที่รณรงค์โหวตโน
"สิ่งที่คนหนุ่มสาวรณรงค์ประชามติเป็นสิ่งชอบธรรม เพราะแสดงให้เห็นความชอบธรรมว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" สุชาติกล่าวพร้อมย้ำว่า "การโหวตโนคือการไม่ยอมรับรัฐประหาร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น