วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รู้จัก 7 ผู้ต้องขัง คดีแจกเอกสารประชามติ จากปากเพื่อนๆ


7 ผู้ต้องขัง คดีรณรงค์ประชามติ นอกจาก โรม NDM ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ยังมี 'ปอ เสรีเกษตร' 'กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว' 'เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม'  'บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน' 'เทค อดีตเลขาฯ สนนอ.' และ 'ต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด'
จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่)  ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป  และข้อหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ขอประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 50,000 บาท ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยืนประกันตัวนั้นถูกฝากขังผัดแรกที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สำหรับ 7 คน ที่ถูกฝากขัง นอกจาก รังสิมันต์ โรม หรือ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) โฆษก NDM ซึ่งเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะแล้ว (อ่านเรื่องราวของโรมได้ที่ 1 และ 2 ) อีก 6 คน ที่เป็นทั้งนักศึกษาและนักกิจกรรม ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะเท่าไหร่ ในโอกาสนี้จึงรวบรวมข้อเขียนจากบรรดาเพื่อนๆ ของคนทั้ง 6 พร้อมทั้งบางส่วนจากรายงานของ ilaw มานำเสนอเพื่อทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น ประกอบด้วย ปอ เสรีเกษตร กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม  บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน เทค อดีตเลขาฯ สนนอ. และต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด
กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) 

ปอ เสรีเกษตร

กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) อายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เขาปรากฏชื่อใน 1 ใน 5 ผู้ถูกศาลทหารอนุมัติหมายจับ กรณีร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
โดย จิมมี่ อติวิชช์ ปัทมาภรณ์ศิริกุล ซึ่งเป็นเพื่อของปอกล่าวถึง ปอ รู้จักกับ ปอ ในช่วงที่เริ่มเข้าทำกิจกรรมในกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และร่วมงานด้วยกันตลอดมาทั้งการเข้าร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย หลังการรัฐประหาร 2557 และการเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังจากครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร 
ทั้งแง่มุมในการทำงานร่วมกัน และแง่มุมของความเป็นเพื่อน จิมมี่ มองว่า ปอ เป็นอีกหนึ่งคนในรุ่นที่ทำงานหนัก แต่ส่วนมากเขาพึงพอใจที่จะทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า ทั้งการวางแผน การออกแบบกิจกรรม การประสานงานต่างๆ ส่วนในแง่ของความเป็นเพื่อน ปอ คือ เพื่อนที่เข้าใจ และคำว่าเข้าใจสำหรับจิมมี่ ไม่ใช่คำที่ใช้ได้ง่ายๆ

แม้หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก ปอ ในฐานะนักกิจกรรมมากเท่าไหร่ แต่ จิมมี่ เล่าว่า ปอติดตามเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองตลอด และเป็นคนที่จริงจังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเขาพร้อมตลอดที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง แม้รู้ว่าการออกไปทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง สุดท้ายแล้วหายจะนำไปสู่การถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

กินแซนวิชต้านรัฐประหาร ยืนดูนาฬิกาหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร และนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการถูกจับกุมสูง แต่ปอ เข้าร่วมทั้งกิจกรรมทั้งหมด เพียงเพราะหวังว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้ จะกระตุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้หันกลับมาตั้งคำถาม กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น

"ตั้งแต่รู้จักกันมาเขาเป็นคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ และแนวคิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คิดว่าเขาจะยอมประกันตัว เพราะเขามีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และน่าจะยืนยันอุดมการณ์ของตัวเองตรงนั้น” จิมมี่ กล่าว

จิมมี่ยังเชื่ออีกว่า การถูกจับกุมคุมขังของปอครั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาล หรือ คสช. อาจจะมองว่าเป็นการจับกุมเพื่อที่จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หยุดจัดกิจกรรม แต่เขากลับเห็นว่า ยิ่งรัฐจับกุมผู้ที่เห็นต่าง นั่นยิ่งทำให้กระบวนการการต่อสู้ของประชาชนและนักศึกษา ยิ่งเดินหน้าต่อไป

"ครั้งนี้ คสช. ไม่ชอบธรรมในหลายประการ ทั้งเรื่องของการควบคุมตัว และในเรื่องของพ.ร.บ. ประชามติ ที่มีการเปิดช่องให้มีการตีความได้สูง อีกทั้งยังมีโทษสูงมากถึง 10 ปี และเห็นได้ชัดจากการที่มีคนออกมารณรงค์โหวตโนแล้วถูกจับกุม”

"การจับกุมครั้งนี้มันทำให้การรณรงค์ ประสบความสำเร็จ เพราะอย่างน้อยคนทั้งประเทศไทยรู้แล้วว่า ขนาดออกมาบอกข้อมูล อีกด้านหนึ่งยังไม่ได้เลย แสดงว่าถ้ารับร่างไปประเทศล้มจมแน่นอน"

“เขาอาจคิดว่าการจับคนไป จะทำให้ทุกอย่างหยุด แต่ไม่ประสบความสำเร็จหรอกค่ะ กลุ่มหนึ่งถูกจับไป ก็จะมีกลุ่มใหม่ขึ้นมาทำแทน เพราะว่าประชาธิปไตยมันอยู่ในหัวใจของคนทุกคนอยู่แล้ว" จิมมี่ กล่าว
นันทพงศ์ ปานมาศ (กุ๊ก) 

กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว

นันทพงศ์ ปานมาศ (กุ๊ก) อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตสมาชิกกลุ่มกล้าคิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว โฆษก NDM โดยก่อนที่เขาถูกจับกุมในครั้งนี้ เขาเพิ่งเป็นข่าวจากกรณีพยายามจัดกิจกรรมเสวนา 3 ฝ่าย 'Vote Yes - No - บอยคอต' ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับถูกเจ้าหน้าที่ห้าม (อ่านรายละเอียด)จนต้องย้ายไปจัดที่อนุสารณ์สถาน 14 ตุลา
วิดีโอเล่าเรื่องราวของ กุ๊ก โดย NDM
 
โดย iLaw รายงานด้วยว่า เมื่อปีปลาย 2557 หลังการรัฐประหารกุ๊กและเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง  รวมกลุ่มกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม  “เสียงจากคนหนุ่มสาว” จัดกิจกรรมเสวนาเรื่องประชาธิปไตยกันหลายครั้ง เพื่อแสดงจุดยื่นว่าพวกเขาไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร หลังจากมีการตั้งรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศแล้ว เขาเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฝืดเคือง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงสนใจเรื่องปัญหาปากท้องชาวบ้านมากขึ้น เขากับเพื่อนๆ เคยทำหนังสือยื่นอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ถึง  2  ครั้ง  แต่เรื่องก็เงียบหาย จากนั้นดขากับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจทำใบปลิวและขึ้นป้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเร็ว ทำให้เขาถูกผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและทหารเรียกไปตักเตือนว่ากล่าวให้หยุดการกระทำและให้เก็บป้ายดังกล่าว  
กุ๊กเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า รู้สึกอึดอัดมากที่เขาและเพื่อนๆ ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดความเห็นใดๆ แม้กระทั่งการจัดกิจกรรมบางอย่างที่เห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์
 
กุ๊ก กล่าวว่า การที่ตัดสินใจออกมารณรงค์เรื่องการลงประชามติครั้งนี้เพราะอยากให้ประชาชนตื่นตัว ร่วมกันกำหนดอนาคตของตัวเรา และส่วนตัวของเขาเองมีเหตุผลที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพราะเห็นว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าทหารไม่สามารถบริหารประเทศได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยอมรับไม่ได้กับประเด็นนายกฯ คนนอกที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับว่าเรากำลังหลงลืมอดีตที่ผู้คนมากมายยอมเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อต่อสู้ให้มีนายกที่มาจากการเลือกตั้ง
 
กุ๊ก เห็นว่า การที่เขาต้องถูกจับโดยทหารเข้ามาใช้กำลังฉุดกระชาก และนำมาจองจำมัน ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่านี่คือความเลวร้ายของเผด็จการ 
 
“ผมรู้สึกหดหู่ใจยิ่งนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่าการที่ผมถูกจับต้องมาติดคุกติดตะรางนี่เป็นเรื่องทุเรศสิ้นดี ถึงตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าผมทำผิดอะไร แต่ผมไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการอย่างแน่นอน ผมต่อสู้ด้วยหัวจิตหัวใจที่บริสุทธิ์ ผมสูญเสียเสรีภาพ เพียงเพื่อความหวังว่าเราจะลุกขึ้นสู้ร่วมกัน และได้ร่วมเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยด้วยกัน” กุ๊ก กล่าว
 
“ถ้าขณะที่ผมกำลังบอกเล่าเรื่องราวของผมอยู่ขณะนี้มีคนได้ยิน ผมอยากบอกว่าการทำกิจกรรมต่างๆ  ผมทำด้วยหัวใจ ทำด้วยอุดมการณ์  ผมไม่เคยได้รับเงินจากการทำกิจกรรมใดๆ มาใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลย  และผมต้องทำงานเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือตลอดมา ผมเลี้ยงดูครอบครัวช่วยค่าใช้จ่ายครอบครัวทุกเดือน เดือนละ  5,000 – 6,000  บาท พ่อแม่ผมประกอบอาชีพเกษตรกรตอนนี้ก็ลำบากครับ  ขณะที่ผมถูกจองจำอยู่ผมเป็นห่วงครอบครัวนะครับ” กุ๊ก กล่าว
 
สมสกุล ทองสุกใส (เคิร์ก) 

เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม

สมสกุล ทองสุกใส (เคิร์ก) อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (ศ.ป.ส.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งใน 7 ผู้ถูกฝากขังที่อายุน้อยที่สุด ซึ่งประชาไทเคยรายงาน เรื่องเล่าของเคิร์กผ่านมุมมองของ แมน ปกรณ์ หนึ่งในสมาชิก NDM ไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติม)
 
เมื่อ ม.ค.57 ช่วงชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.และ คปท. ขณะนั้นเคิร์กเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้ร่วมกันในนาม โรงเรียนมัธยม 5 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ได้แก่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ จัดกิจกรรม ‘Respect My Future’ จุดเทียนเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคารพในอนาคตของนักเรียน เคารพสิทธิในการที่จะได้เรียนหนังสือ และเรียกร้องไม่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง ที่เกาะกลางถนนสิบสามห้าง บางลำพู กรุงเทพฯ  (อ่านรายละเอียด)
 
 
 

บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน

อนันต์ โลเกตุ (บอย) อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังรัฐประหารไม่นาน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.57 บอย กับเพื่อนอีก 3 คน ถูกจับในขณะที่ติดสติ๊กเกอร์ต่อต้านรัฐประหารในเขตมหาวิทยาลัย (อ่านรายละเอียด)
 
รายงานของ iLaw ระบุตอนหนึ่งถึง บอย ว่า สมัยเรียนมัธยมเขาเคย "บวชเรียน" อยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี จ.ลำปาง และเรียนจนจบชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค หลังจากนั้นเขารู้สึกอิ่มตัวกับการศึกษาทางธรรมจึงลาสิกขาและออกมาสมัครเรียนทางโลกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามคำแนะนำของรุ่นพี่ที่ลาสิกขาออกมาก่อนหน้านั้น แม้จะละทิ้งเพศบรรพชิตไว้เบื้องหลังแล้วแต่บอยก็ยังเลือกเรียนสาขาปรัชญาซึ่งเป็นศาสตร์ความรู้ทางเดียวกับศาสนาที่เคยศึกษามา 
 
บอยเล่าว่า ตอนที่เข้ามาเรียนที่รามคำแหงใหม่ๆ เขามีเป้าหมายชีวิตคล้ายๆกับคนส่วนใหญ่ คือ เรียนให้จบแล้วหางานดีดีทำ แต่หลังจากเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมค่ายอาสา บอยมีโอกาสเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น การออกค่ายครั้งแรกบอยไปที่จังหวัดสกลนคร ไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านที่ถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกิน สิ่งที่บอยเรียนรู้จากการทำกิจกรรมมาทำให้เขาเกิดความรู้สึกในใจว่า ปัญหาต่างๆที่เขาได้เรียนรู้อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบตัวได้ไม่ยาก บอยจึงทำกิจกรรมค่ายอาสามาอย่างต่อเนื่อง จากคนเข้าร่วมค่าย มาเป็นคนจัดค่าย และขึ้นเป็นประธานชมรม
 
"สมัยเรียนที่โรงเรียนปริยัติธรรม ก็มีแต่กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ เช่น แจกของช่วยชาวบ้าน แจกผ้าห่มให้กับคนในพื้นที่รอบๆ วัด ซึ่งไม่ได้แก้จุดที่เป็นปัญหาจริงๆ พอได้ทำกิจกรรมมากขึ้นแล้วได้เห็นว่า มีปัญหาในสังคมอยู่เต็มไปหมด ปัญหาอาจไม่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้โดยตรง แต่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคตโดยอ้อมก็ได้ เราก็เลยอยากทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น สิ่งที่ได้ก็ได้กับเราและแบ่งให้คนอื่นด้วย" บอยกล่าว
 
ในส่วนกิจกรรมการเมือง บอยก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นบางครั้ง เพราะเขามองว่า การเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตและเกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันของชีวิตทุกคน เช่นการรัฐประหาร 2557 ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ 
 
หลังการรัฐประหารบอยเคยรวมตัวกันกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยอย่างหลวมๆ เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง เขาเคยถูกจับไปปรับทัศนคติแล้วหนึ่งครั้งช่วงปี 2557 หลังไปติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่การถูกเรียกปรับทัศนคติก็ไม่ได้ทำให้บอยกลัวหรือยุติการทำกิจกรรมแต่อย่างใด ยังคงร่วมกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ จนกระทั่งมาแจกใบปลิวและถูกจับ
ยุทธนา ดาศรี (เทค) ภาพจากเฟซบุ๊ก Jam Chatsuda 

เทค อดีตเลขาฯ สนนอ.

ยุทธนา ดาศรี (เทค) อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) เช่นเดียวกับ บอย หลังรัฐประหารไม่นาน เทค ถูกจับในขณะที่ติดสติ๊กเกอร์ต่อต้านรัฐประหารในเขตมหาวิทยาลัย
อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการ สนนท. เขียเล่าเรื่องราวเดกี่ยวกับ เทค พร้อมเผยแพร่วิดีโอคลิปร่วมกิจกรรมบทเวทีผ่านฟ้า นปช.ปี 53 ซึ่งเป็นการขึ้นเวทีประกาศตัวร่วมเสื้อแดงครั้งแรกของพวกเขา อนุธีร์ ระบุว่า เทค คือผู้นำขบวนจากภาคอีสาน เป็นเพื่อนที่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมาเสมอทั้งในยามสุข และยามทุกข์ยามยาก
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jam Chatsuda เขียนถึงเทคด้วยว่า เทคเป็นเพื่อนที่น่ารัก อยู่กับเพื่อนตลอด ดูแลเพื่อนดีมาก เป็นคนจิตใจดีเลยหละ เป็นคนที่บางทีก็เหมือนจะยอมๆ ให้ใครๆ บางทีก็รั้นมาก เป็นคนที่เสียสละมาก มากๆ เสียสละได้ทุกอย่างเพื่องานขบวน  Jam เล่าต่อว่า เทคเข้ามาทำกิจกรรมตั้งแต่สมัย ม.ปลาย เคลื่อนไหวตลอด อยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม 
ธีรยุทธ นาบนารำ (ต้อม) ภาพจากเฟซบุ๊ก  'แมค ผู้ฆ่ายักษ์' 

ต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด

ธีรยุทธ นาบนารำ (ต้อม) อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อนของต้อม ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'แมค ผู้ฆ่ายักษ์' โพสต์เฟซบูีกว่า  เขาเป็นอดีตนักกิจกรรมที่ราม และเคลื่อนไหวกับตนมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ตนติดต่อเขาไม่ได้ตั้งแต่ปี 51 มาเจอเขาอีกทีแถวบ่อนไก่ ปี 53 แล้วเงียบยาวเลย มาติดต่อได้อีกที เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 
 
จากรายงานของ iLaw 'ต้อม' เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เข้ากรุงเทพเมื่อปี 2549 หลังมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  เขารู้สึกประทับใจมากว่าทำไมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาชนถึงกล้าต่อสู้กับทหารอย่างไม่กลัวตาย ทั้งที่ทหารมีอาวุธ และศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อเริ่มทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  
 
ชีวิตกิจกรรมของต้อมเริ่มจากการเข้าชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด  ทำค่ายอบรมกับเยาวชนระดับม.ต้นในต่างจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี สระบุรี เพราะมองว่ากลุ่มช่วงอายุนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเริ่มใช้ยาเสพติดได้ โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่พาน้องๆ เล่นเกมส์ต่างๆ ให้เห็นว่ายาเสพติดมีโทษอย่างไร หลังกิจกรรมดังกล่าว'ต้อม'รู้จักเพื่อนที่อยู่ชมรมข้างเคียง เช่น ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ทำให้ได้รู้จักเพื่อนที่สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น  และต่อมาถูกชักชวนกันไปเข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
 
หลังรัฐประหารปี 2549 'ต้อม' เคยไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารกับสนนท. เช่น กิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาล ชุมนุมหน้ากองทัพบก และแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ท้องสนามหลวง
 
"ตอนนั้นไม่แรงเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นเราไปหน้ากองทัพบก ไปยืนด่าทหารก็ไม่เห็นโดนเหมือนตอนนี้ มีการปราศรัยด่าโจมตีกันเรื่อยๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นเรื่องไร้สาระมากที่การแจกใบปลิวทำให้ถูกจับ สมัยปี 2550 ก็ไปแจกกันกว่าสิบครั้ง ตื่นเช้าประท้วงตื่นเช้าประท้วง"  ต้อม กล่าว
 
หลังหยุดเรียนแล้วไปทำงานโรงงานทำให้'ต้อม'ห่างหายจากการร่วมกิจกรรมทางสังคมไปบ้าง แต่ก็ยังได้ติดต่อกับเพื่อนๆนักกิจกรรมอยู่และชวนมาร่วมกิจกรรมกันอีกในปีนี้  เขาเล่าว่า "สถานการณ์ตอนนี้ประชาชนไม่ค่อยกล้าออกมาทำอะไร และรับข่าวสารจากรัฐบาลฝั่งเดียวทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม  การโพสต์ข้อมูลรณรงค์ประชามติ บนเฟซบุ๊กก็ยังเข้าไม่ถึงประชาชนอีกจำนวนมาก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น