วัฒนา เมืองสุข ชี้ รบ.แจกเงินผู้มีรายได้น้อย โดยให้ ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายไปก่อน เท่ากับทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบฯปี 61 วอน 'ป.ป.ช. สตง.' ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
30 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตามที่กระทรวงการคลังเสนอในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 100,000 บาท รวม 5.4 ล้านคน จากที่ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติช่วยเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 2.9 ล้านคนไปแล้ว ภายใต้วง เงิน 6,540 ล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณปี 61 จำนวน 12,750 ล้านบาท ส่วนวิธีการแจกเงินจะใช้วิธีการโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค.59
วันนี้ (30 พ.ย.59) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นวิจารณ์มาตรการดังกล่าวว่ามีกระบวนการเข้าข่ายผิดในทางกฎหมาย โดยระบุในหัวข้อบทความว่า “สิ้นคิดแถมยังผิดกฎหมาย” ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook'
วัฒนา ระบุว่า มติ ครม. ที่เห็นชอบกรอบวงเงินจำนวน 12,750 ล้านบาท เพื่อแจกผู้มีรายได้น้อยโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2560 ในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเห็นสมควร โดยให้ธนาคาร ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อนและชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคาร เท่ากับรัฐบาลทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบประมาณประจำปี 2561 จำนวนดังกล่าวให้ จึงถือเป็นมติ ครม. ที่ขัดต่อกฎหมายและธนาคารที่ปล่อยกู้อาจจะไม่ได้รับเงินคืน ป.ป.ช. และ สตง. ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
การแจกเงินยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเรื่องราคา ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพด วิสัยทัศน์ของ นรม. จึงมีเพียงชวนข้าราชการออกกำลังในเวลาราชการและใช้ปากแก้ปัญหา เช่น โทษเกษตรกรที่ปลูกกันมากเอง หรืออยากได้ราคาให้เอาไปขายที่ดาวอังคาร หรือขอให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัด เมื่อจนตรอกก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการแจกเงิน ซึ่งตนไม่ได้คัดค้านผลประโยชน์ของประชาชน แต่รัฐบาลจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
"หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจคือความเชื่อมั่น แต่การที่ประเทศเป็นเผด็จการ มีหัวหน้ารัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์แต่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทุกองค์กรและทุกคนตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เพราะอาจสิ้นคิดออกคำสั่งยึดกิจการของนักลงทุนแบบที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาใต้ หรือยึดทรัพย์นักลงทุนแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ ดังนั้น หากรักชาติและต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น หัวหน้ารัฐบาลจะต้องกำหนดเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ประกาศว่าตัวเองและพรรคพวกจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศอีกต่อไปเว้นแต่จะลงเลือกตั้ง เพียงเท่านี้บรรยากาศของการลงทุนจะดีขึ้นและขยะสังคมที่พูดถึงก็จะหมดไปทันที ทำประเทศเสียหายมามากแล้ว ไม่คิดแก้ตัวทำความดีให้ประเทศบ้างเหรอครับ" วัฒนา โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น