เกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เหมืองทองอัครา ชี้จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานเหมืองทองทุกคน หลัง คสช. ใช้ ม.44 สั่งระงับการประกอบกิจการทั้งหมดภายในสิ้นปี พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายระบุ
14 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวกรณีที่มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า อัคราฯ ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี รู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่มีการประกาศใช้คําสั่งหัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป
โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ผู้มีอํานาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สํารวจและทําเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคําและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงอัคราฯ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น
เกรก ฟาวลิส ระบุว่า บริษัทฯ จำต้องยื่นจดหมายเลิกจ้างให้กับพนักงานทุกคนในบริษัท มีผลทันทีวันที่ 31 ธ.ค. 2559 และบางส่วนจะมีผลในวันที่ 31 ม.ค. และ 28 ก.พ. 2560 ตามลำดับ โดยบริษัทฯ จะรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างงานให้กับพนักงานทุกท่านตามกฏหมายระบุไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งพนักงานจะได้รับเงินค่าเลิกจ้างสูงสุดถึง 300 วัน สำหรับพนักงานที่ร่วมงานกับบริษัทฯ มาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเงินจำนวนเหล่านี้จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนพนักงานได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม อัคราฯ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและถูกต้องเสมอมา ขอยืนยันว่าไม่เคยดำเนินการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ประกอบกิจการ
สำหรับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 เนื้อหาดังนี้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
โดยที่ได้มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากการประกอบ กิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่ แห่งชาติ พ.ศ. 2559 หรือตามกฎหมายว่าด้วยแร่ แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม
ข้อ 4 ให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการให้ระงับ การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ (1) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแล การฟื้นฟูพื้นที่ตามข้อ 3 (2) กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง (3) กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับการประกอบกิจการ เหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ
ข้อ 5 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัย ข้อเท็จจริงและปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
ข้อ 6 ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ที่ได้กระทำไป ตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้อง ค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ 7 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อ 8 ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น