วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ธีรยุทธ บุญมี เปรียบ คสช. อยู่ 3 ปีปฏิรูปเหลวเหมือนเรือแป๊ะพายวน


           ธีรยุทธ บุญมี ตั้งโต๊ะที่ศูนย์ราชการ-แจ้งวัฒนะ วิจารณ์ คสช.-พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 3 ปีคนไทยได้แค่ความสบายใจ ได้นายกรัฐมนตรีคุยสนุกทุกวัน แต่ปฏิรูปเหลวเหมือนเรือแป๊ะพายวนกลายเป็น “ยุทธเรือโยง ป้อมเรือพ่วง” เตือนเข้าสู่ช่วงขาลง ศรัทธาคลอนแคลน ตั้งกรรมการสารพัดชุดแต่ไม่มีผลงาน เตือนอย่าฝืนอยู่เกินโรดแมป วางยุทธศาสตร์ชาติพลาดให้อำนาจข้าราชการเมินประชาชน หวั่นคนไทยเสพติด ม.44 เหมือน ม.17 ยุคสฤษดิ์ พร้อมห่วงไผ่ ดาวดิน
          มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่อง "วิเคราะห์อนาคตการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย วิพากษ์ แนะนำ วิธีคิด คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์" โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ทิศทางอนาคตการเมืองไทย
การเมืองไทยทุกสมัยเป็นการแย่งชิงอำนาจครอบงำหรือครอบนำ (hegemony) อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการที่กลุ่มพลเรือนทหารแย่งชิงอำนาจมากจากราชวงศ์ การเมืองในช่วงถัดจากนั้นก็คือความขัดแย้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาธิปไตยและสังคม-ประชาชนนิยมของปรีดี พนมยงค์ และฝ่ายอนุรักษ์และจารีตนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ของควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และฝ่ายเผด็จการของคณะทหาร จนถึงยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ เกิดพลังประชาธิปไตยของนักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง และกลุ่มทุนย่อยขึ้นมาเพิ่มเติม ทำให้ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึงก่อนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญปี 2540 ทหารกับพรรคการเมืองต้องร่วมกันแบ่งปันอำนาจ ประชาธิปัตย์ยังเป็นตัวแทนพลังอนุรักษ์ ชาติไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ เป็นเพียงตัวแทนกลุ่มทุนเจ้าพ่อท้องถิ่น เป้าหมายเพียงเข้ายึดกุมอำนาจบริหารเท่านั้น
แต่เมื่อทุนนิยมไทยได้พัฒนาเข้าสู่ยุคตลาดเงินตลาดทุนเสรีแบบโลกาภิวัตน์ เกิดกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด ทุนการเงิน ทุนสื่อสารสัมปทาน ขึ้นหลายกลุ่ม เกิดพรรคเพื่อไทย มีพฤติกรรมบ่งชี้ว่าจะเข้าครอบงำอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เบ็ดเสร็จ โดยอาศัยการใช้อำนาจไม่ชอบ คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลผ่านทางนโยบาย ออก พ.ร.บ. การทำสัญญาให้รัฐเสียเปรียบ การโกงค่าคอมมิสชั่น การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทาน ขายผลประโยชน์ของรัฐ หลีกเลี่ยงภาษี โดยอาศัยนโยบายประชานิยมดึงดูดประชาชน ให้เป็นฐานคะแนนเสียง ซื้อหานักการเมือง เทคโนแครต ตำรวจ ทหาร เข้าเป็นพวกพ้องทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มฝ่ายแก่งแย่งกันหาผลประโยชน์ จึงถูกต่อต้านจากปัญญาชน ชนชั้นกลาง กลุ่มทุนกลาง-ทุนชาติที่ต้องการระบบคุณธรรมที่ดีที่โปร่งใส พลังอนุรักษ์และจารีตนิยมซึ่งเกรงกลัวกลุ่มใหม่นี้จะเข้ามารวบอำนาจอธิปัตย์ที่ตนเองเคยควบคุมได้บางส่วน จึงกระโดดเข้าร่วมด้วย กลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้จะวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจมีน้อยมาก เพราะผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดเป็นข้าราชการซึ่งจะสูญเสียอำนาจเมื่อมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่พิจารณาวาทกรรมของ คสช. ความเป็นจริงที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ
  • (ก) การดำเนินงานของ คสช. อาศัยข้าราชการ มหาดไทย ทหาร ตำรวจทุกเหล่าเป็นหลัก
  • (ข) นโยบายต่าง ๆ เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ข้าราชการและศูนย์กลางมากกว่ากระจายอำนาจ
  • (ค) บุคลากรซึ่งถูกแต่งตั้งไปเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นนายทหารเหล่าทัพต่าง ๆ จำนวนมาก โดยไม่มีผลงานปฏิรูปใด ๆ ทั้งที่มีการตั้งซูเปอร์บอร์ดศึกษาการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาแต่ต้น การเปลี่ยนผู้ว่ากทม. ผู้ว่าและบอร์ดรถไฟแทนที่จะตั้งเป้าปฏิรูปองค์กร ก็เพียงแต่รับงานตามประสงค์ของ คสช. ต่อ
  • (ง) บุคลากรในแม่น้ำ 5 สาย เกือบทั้งหมดมีความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม มีผลงานที่ดีบ้างแต่ยังไม่มีที่ให้ความหวังเรื่องการปฏิรูป แต่แสดงออกชัดเจนที่จะผลักให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจต่อด้วย ดังนั้น จากเรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็นยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ลากจูงกันไป ทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจจะเกยหาดหรือติดเกาะแก่งได้ถ้าฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป

2.วิพากษ์ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
1. มนต์ขลังจากภาวะบ้านเมืองสงบเริ่มเสื่อม ความมั่นใจในรัฐบาลเริ่มคลอนแคลน
ช่วงเกือบ 3 ปีหลังการยึดอำนาจโดย คสช. สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกได้ชัดเจนและนำมาซึ่งความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีความเปิดเผย จริงใจ และตั้งใจ คือ ความสงบผ่อนคลายจากแรงกดดันของวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ บ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบที่หยั่งลึกมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลากหลายในชีวิตจริงของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข สังคมถึงแม้จะโหยหาความผ่อนคลาย ก็ต้องหวนมาทบทวนปัญหาจริงจังมากขึ้น ผลงานของรัฐบาลยังไม่ปรากฏชัดเจนพอเพียง ดูขาดพลังที่จะปฏิรูป สถานะจึงเริ่มคลอนแคลน
2. เรือแป๊ะเริ่มพายวน 2 ปีแรกรัฐบาลพูดถึงและมีมาตรการหลากหลายเรื่องความปรองดองมาตลอด เข้าปีที่ 3 รัฐบาลก็เริ่มวนซ้ำมาตั้งกรรมการปรองดอง (ป.ย.ป.) ซ้ำอีก ในเรื่องคอร์รัปชั่นและการแสวงผลประโยชน์ไม่ชอบของนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการรัฐประหารตั้งแต่ยุค รสช. (2534) คมช. (2549) จนถึง คสช. (2557) คณะทหารใช้วิธีซ้ำซากคือตั้งนักกฎหมายไทย 2-3 กลุ่ม ที่มีจินตนาการบรรเจิด ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แผนการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อตนเองไม่ต้องแยกภาระการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ตัวเองต้องขัดแย้งกับนักการเมืองและข้าราชการด้วยกันเอง คสช. เองก็ตั้งกรรมการหรือสภาต่าง ๆ ขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด กรรมการปฏิรูป 2 ชุด แผนยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว โรดแมประยะต้น ระยะกลาง ระยะปลาย และยุทธศาสตร์ 20 ปี รวม 3 แผนใหญ่ ซึ่งยังไม่มีผลงานที่ให้ความมั่นใจว่าแก้ปัญหาจริงได้แม้แต่ชุดเดียว
3. คสช. ตั้งธงความคิดกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด?
  • 3.1 สงครามทางทหารมีเป้าหมายทำลาย แยกสลายกำลังของข้าศึก จากนั้นก็เข้าควบคุม ใช้จิตวิทยาให้ฝ่ายตรงข้ามยอมตามเจตจำนงของตน แต่สงครามสังคม-การเมืองมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ความคิด ตัวละคร พลวัตร ความผันแปรที่ต่างไปจากสงครามทหารอย่างมาก รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นสะท้อนยุทธศาสตร์แนวทหารขัดเจน กล่าวคือ คสช. มองว่าพรรคการเมือง นักการเมืองเป็นที่มาของวิกฤติ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องถูกทอนอำนาจบทบาทหน้าที่ลง แต่ถ้าเราคิดอีกมุมหนึ่งคือ ความล้มเหลวที่ผ่านมาทำให้พรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดวางยุทธศาสตร์ที่จะให้ภาคสังคม-ประชนชนมีสิทธิอำนาจควบคู่กับความรับผิดชอบมากขึ้น ให้กองทัพ ข้าราชการมีภูมิคุ้มกัน มีความเข้มแข็งที่จะไม่ร่วมมือคอร์รัปชั่นกับนักการเมือง แต่คอยต้านทานคัดแย้งได้ และให้ภาคสังคม-ประชาชน-เอกชนเข้มแข็ง มีอำนาจและความรับผิดชอบในการปฏิรูปและถ่วงดุลกับภาคการเมืองมากขึ้นก็ได้เช่นกัน
  • 3.2 ทหารไทยยึดถืออุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความมั่นคง อุดมการณ์ถูกต้องไม่มีข้อผิดพลาด แต่ก็มีข้อจำกัดบางด้านอยู่ ในทางสังคมศาสตร์แนวคิดนี้ก็คือทฤษฎีโครงสร้างหรือทฤษฎีระบบ ซึ่งมองว่าทุกองค์ประกอบของส่วนรวมต่างต้องอิงอาศัยกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ และจะมั่นคงถ้าทุกส่วนเหนียวแน่นสามัคคีกัน คสช. จึงมองว่าความสามัคคีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของความมั่นคง แต่ในแนวทฤษฎีรุ่นหลัง ๆ อีกหลายแนวมองว่า ในระบบสังคม ระบบการเมืองหนึ่ง ๆ มีหลายองค์ประกอบและหลายระดับ แต่ละระดับมีบทบาทความสำคัญผิดกัน ระดับแรกเป็นส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ เหตุการณ์ในชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่น เรื่องลอตเตอรี่ หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ ซึ่งเกี่ยวพันเป็นอิทธิพลท้องถิ่นย่อย ๆ ระดับที่ 2 คือระดับนโยบายและการปฏิบัติงาน ระดับที่ 3 เป็นระดับโครงสร้างลึก คือโครงสร้างอำนาจ ระดับที่ 4 เป็นมิติของแก่นความเชื่อลึกซึ้งของสังคม คือความเชื่อเรื่องคุณธรรม ความดี ความเมตตาอาทร หรือภาวะที่ตรงข้าม เช่น ความเลวทรามในจิตใจหรือใต้จิตสำนึก ซึ่งมีความลึกซึ้งมากเป็นระดับฐานราก ซึ่งถ้าเกิดเป็นปัญหารัฐไทยจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ถ้าจะบัญญัติศัพท์แบบนักเลงภาษา เราอาจเรียกข้อ 4 ซึ่งเป็นเรื่องของ ความระยำ+ระบบ นี้ว่า ปัญหาระดับระหยบ และระดับที่ 3 ซึ่งรุนแรงน้อยกว่าคือ ความเฮงซวย+ระบบ ว่า ปัญหาระดับระบวย

3.ปัญหาการปฏิรูป
1. ปัญหาที่เป็นรากฐานความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป
ประเทศจำเป็นจะต้องปฏิรูปก็เพราะมีปัญหาในระดับโครงสร้างลึกและโครงสร้างรากฐานในระดับจิตวิญญาณ ศีลธรรม และคุณธรรม จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใน 2 ระดับนี้อย่างแท้จริง เราพบสิ่งที่สะท้อนปัญหาใน 2 ระดับนี้หลายปัญหาใหญ่ด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาหาบเร่แผงลอยหรือวินมอเตอร์ไซค์ คือ
  • (ก) ประชาชนส่วนใหญ่จนซ้ำซาก ความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนคือความจนหรือความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ ถูกซ้ำด้วยความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และทางอำนาจการเมือง จนทำให้ชีวิตตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ คือความทุกข์ทางชีวิต วัตถุ ที่อยู่ การเดินทาง สูงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านตกเป็นเบี้ยทางการเมือง ผ่านการซื้อเสียง นโยบายประชานิยม การปลุกระดมได้ง่าย บ้านเมืองขาดเสถียรภาพได้ง่าย
  • (ข) กลุ่มอุปถัมภ์ระบาดไปทั่วสังคม โดยมี 2 แบบคือ กลุ่มอุปถัมภ์แบบหนี้บุญคุณในหมู่คนจน คนจนไทยตกอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ตลอดมาสมัยโบราณกาล คืออยู่ภายใต้ร่มเงาของเจ้านายขุนนาง เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ คนจนก็ตกอยู่ใต้ร่มเงาของข้าราชการ นักการเมือง ทุนท้องถิ่น จนเสมือนไม่มีปากมีเสียง ไม่มีตัวตน รัฐดำเนินนโยบายผ่านการตกลงกับผู้อุปถัมภ์ก็พอ จึงเกิดการบิดเบี้ยวทางนโยบายทุก ๆ ด้าน เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนมีอำนาจ สถานะเศรษฐกิจที่สูงกว่า ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
  • ในระดับคนรวยก็มีกลุ่มอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ คือการสร้างเครือข่ายคอนเนคชั่นในบุคคลผู้มีอำนาจใน 5 กลุ่มใหญ่ คือ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในฝ่ายยุติธรรม บริหาร นิติบัญญัติและงบประมาณ นักการเมือง ธุรกิจใหญ่และระดับนำ นักวิชาการ แทคโนแครต และวงวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ ทนายความ นักการเงินการธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ การสร้างเครือข่ายนี้มีมาตั้งแต่มีแผนพัฒนา คือเริ่มจาก วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) บ.ย.ส. หรือโครงการของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปปร. (สถาบันพระปกเกล้า) และตามมาด้วย วตท. (สถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) (มหาวิทยาลัยหอการค้า) พตส. (สถาบันพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
  • (ค) การขยายตัวทั้งขอบเขตและระดับความเลวร้ายของคอร์รัปชั่น ทำให้ศีลธรรม จริยธรรมเป็นรากฐานหนึ่งของทุกสังคม ศีลธรรมและค่านิยมในบ้านเราเสื่อมลงมาโดยตลอด จากคติ ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หรือ คนโกงกินบ้านเมืองต้องมีอันเป็นไปเปลี่ยนมาเป็น เขาจะโกงก็ปล่อยให้เขาโกงไป หรือ ปากดีเป็นศรีแก่ปาก ปากมากปากจะเป็นสี และเปลี่ยนมาเป็น ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ไม่โกงก็โง่ ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาเป็นจำเป็นต้องโกงไม่โกงจะถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ไม่ได้

          ข้อมูลคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อย ๆ บ่งชี้ว่ามีการคอร์รัปชั่นในขนาดใหญ่โตในระดับสูงจำนวนมากในประเทศไทย ในอดีตมีการโกงในระดับสถาบันการเงินการธนาคารกว้างขวาง เป็นต้นเหตุหนึ่งของวิกฤติต้มยำกุ้ง โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการจำนำข้าว ซึ่งเสียหายไป 7 แสนล้านบาท การซื้อฝูงบินหลายแสนล้านมาใช้ช่วงสั้น ๆ แล้วไปจอดกองทิ้งที่อู่ตะเภา คอมมิสชั่นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทย ปตท. การไฟฟ้า ประปา รถไฟ ขนส่ง สหกรณ์ครู สหกรณ์ชาวบ้านทั่วไป การคอร์รัปชั่นในวัด มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงเรียน กองทัพ ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ โดยที่จำนวนมาก ระบบยุติธรรมไม่สามารถนำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษได้
           การคอร์รัปชั่นมีต้นตอจากความเหลื่อมล้ำ แต่เกือบทั้งหมดดำเนินการอย่างระบบอุปถัมภ์ ในภาคนักการเมืองกับชาวบ้านยากจน มีลักษณะเป็นการคอร์รัปชั่นตรง ๆ เป็นการร่วมกันโกงกินในลักษณะการอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน ในภาคส่วนรัฐวิสาหกิจและโครงการพิเศษต่าง ๆ ในหมู่ข้าราชการ ชนชั้นนำที่มีการศึกษาสูงตำแหน่งสูง เป็นการใช้กลไกหรือวัฒนธรรมแบบ favoritism (คติเมตตามหานิยม คือ ขอมาก็มีเมตตาให้ไป เขาก็จะให้มหานิยมตอบแทนเรากลับมา) ของเครือข่ายอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ของนักการเมือง นักเทคโนแครต ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดีทบวง กรม สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
         คอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องการได้ผลประโยชน์ทางทรัพย์อย่างเดียว แต่ยังมีแรงจูงใจมาจากความต้องการยกระดับไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ 5 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นให้เฉลี่ยทัดเทียมกัน เพื่อให้กลไกสังคมของชนชั้นนำดำเนินไปได้ พวกข้าราชการ เทคโนแครต นักวิชาชีพ มีแรงจูงใจให้คอร์รัปชั่นก็เพื่อยกระดับและความมั่นคงในวิถีชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต การศึกษา อาชีพของลูกหลาน ส่วนพวกทุนใหญ่ก็เพิ่มความร่ำรวย เพิ่มเพื่อนฝูง เพิ่มความป๊อปปูลาร์ของวัฒธรรมเมตตามหานิยมอยู่ในปัจจุบัน
2. ดัชนี้ชี้วัดความจำเป็นต้องปฏิรูป
       วิกฤติต่อเนื่องก่อนการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปประเทศจนถึงการยึดอำนาจ คสช. ประเทศไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะการเมืองที่ใช้เรียกด้วยศัพท์ 3 คำ คือ Kleptocracy (การปกครองโดยอาชญากรโจร มาเฟียที่ครอบงำ ขโมยประเทศ) Elite capture state บวก Rentier State (การปกครองที่ชนชั้นนำยึดกุมทรัพยากรทั้งหมด และรัฐที่มีรายหลักจากการเก็บค่าเช่า ค่าจ้าง ส่วนต่างจากค่าเช่าแผ่นดิน แรงงาน เพื่อทำเขตปลอดภาษี เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการขายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การบริการขั้นต้น เช่น การท่องเที่ยว อัธยาศัยงดงาม การปรุงอาหาร ฯลฯ) คำสุดท้ายคือ รัฐล้มเหลว (Failed state) ซึ่งประกอบด้วยอาการ 4 อย่าง คือ 1. หมดความสามารถการควบคุมอาณาเขตของประเทศ 2. หมดความสามารถในการควบคุมภายใน ซึ่งเกิดจากการแตกเป็นกลุ่มก๊วนผลประโยชน์ ทั้งวงการเมือง วงราชการ วงสังคม ธุรกิจ ศรัทธาความเชื่อถือต่อองค์กรข้าราชการต่าง ๆ ก็หมดไป 3. ความสามารถในการจัดบริการประชาชนหรือภาคสาธารณะทั่วไปเพราะขาดงบประมาณ 4. สถานะในวงการต่างประเทศตกต่ำ ขาดความน่าเชื่อถือ สูญเสียการรับรองในที่สุด ดัชนีชี้วัดการก่อตัวของการเป็นรัฐของชนชั้นนำหัวขโมย และการเป็นรัฐล้มเหลวที่ชัดเจนคือ (1) วิกฤติการเมืองรุนแรงที่ต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปี (2) ปัญหาแยกดินแดนภาคใต้และเสียงกระเส็นกระสายในภาคอื่น ๆ (3) ความรุนแรงสังหารผู้บริสุทธิ์ในการชุมนุม (4) การฆ่าตัวตายประท้วง
4.ข้อแนะนำและความเห็นต่อบางประเด็นปัญหา
  • 1. ปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย อาจไม่มีใครทำได้ ประเทศไทยผ่านการปฏิรูปใหญ่เพียง 2 หน ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 คือการปฏิรูปวิถีชีวิตและการปกครองของไทย ครั้งที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การศึกษา การพัฒนาแรงงาน ช่าง และวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ได้ทรงสนับสนุนเต็มที่ เช่นโครงการพลังงานไฟฟ้า น้ำ โครงการชลประทาน ฯลฯ แต่บทบาทที่เป็นพระราชคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อคนไทยและทั่วโลกก็คือ การที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการมองปัญหาการพัฒนาให้ได้เห็น คือการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) หรือการต้านทานการพัฒนา (Counter Development) เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรมทางเลือก ฝายแนวธรรมชาติ ฯลฯ การปฏิรูปในหนที่ 3 ก็เพื่อแก้ปัญหาหมักหมมที่เกิดจากการไม่ลงตัวระหว่างรากฐานดั้งเดิมของไทย กับกระแสพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองของโลกสมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวหน้าไปได้ในกระแสวิกฤติการเมืองโลกาภิวัตน์ ซึ่งเท่าที่มีการเรียกร้องมาเกือบ 20 ปี มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจต้องเดินไปตามบุญตามกรรมโดยไม่มีการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปเกินกำลังของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเมืองไทยก็ไม่มีวัฒนธรรมที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาใหญ่ได้ด้วยตัวเอง
  • 2. พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำหลายโอกาสว่าตนเองอยู่ในสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นสถานะที่มีความสำคัญยิ่ง ประเทศหรือสังคมไม่ยอมให้ใครถืออำนาจนี้โดยง่าย นอกจากองค์พระประมุขซึ่งทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยขนบประเพณีและหลักรัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่มีระบบพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว สถานะนี้จึงสำคัญยิ่งถ้าใช้ให้ถูกต้อง เพราะสามารถควบคุมระดับใช้ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และพลังของประชาชนได้ มีตัวอย่างในโรมันสมัยโบราณ 2,000 ปี วุฒิสมาชิกโรมได้เชิญให้ Cincinnatus นักการเมืองโรมันผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเกษียณอายุไปทำไร่ ให้มาเป็นผู้สั่งการ (dictator) มีอำนาจสิทธิขาดทุกอย่าง เพื่อปราบสงครามขบถ เขาใช้เวลาเพียง 15 วันเอาชนะข้าศึก จากนั้นก็สละตำแหน่งกลับไปทำไร่เหมือนเดิม ครั้งที่ 2 ก็ได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่คลี่คลายวิกฤติการเมืองภายในของโรม ซึ่งเขาก็ใช้เวลาไม่นานเท่าที่จำเป็น แล้วก็กลับไปทำไร่ตามเดิม ชื่อของเขาจึงเป็นตำนานและถูกนำไปใช้ตั้งชื่อเมือง สถานที่ต่าง ๆ มากมาย เพื่อสะท้อนคุณธรรม การใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจริงจังเท่าที่จำเป็นเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์อื่นใด ช่วงปัจจุบันซึ่งมองได้ว่า พลเอกประยุทธ์ได้รับมอบอำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ เพื่อจะแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจของห่วงโซ่ปัญหาของประเทศ จะให้ประชาชนแต่ละคนหรือบางกลุ่มลุกขึ้นมาทำก็ยังไม่พร้อม จึงยังเป็นโอกาสที่ทหารจะทำได้ แต่ก็ต้องยึดหลักว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องถือเอาการมีส่วนร่วม การขยายอำนาจ และการรับผิดชอบของประชาชนมาเป็นเครื่องค้ำจุน
  • 3. การปฏิรูปเป็นแผนการดำเนินการ (plan of action) ไม่ใช่โปรแกรมทางความคิด (program of ideas) ทางปฏิบัติยังทำได้ทีละเรื่องหรือไม่กี่เรื่อง เป็นเรื่องของศิลปะการใช้อำนาจและเจตจำนงทางการเมืองของคนนำ การเลือกเรื่องที่จะทำกับแผนดำเนินงานที่จะให้เกิดผลสำเร็จจริงประเด็นที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การเริ่มแก้ความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ ซึ่งสรุปคือปัญหาที่คนจนถูกรุมผลักไสจาก ของทุกฝ่าย ให้ถอยร่นไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ที่สุด เพราะห่างไกลโรงพยาบาล โรงเรียน ที่ทำงาน ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งคนรวยอาจใช้เพียง 1.5 ชั่วโมง คนจนบริโภคอาหารที่คุณภาพต่ำสุด เป็นของเจือปน มีสารพิษ อันตราย สังคมไทยไม่ค่อยได้ตระหนัก เงินทุกบาทที่ใช้ไปในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทุกโครงการ มีส่วนผลักไสให้คนจนจนมากขึ้น และคนรวยรวยมากขึ้น ธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโด รถยนต์จะรุ่งเรืองขึ้น ชาวบ้านถูกผลักให้อยู่ไกลออกไปมากขึ้น โครงการรถไฟฟ้าเกือบล้านล้านบาทที่รัฐบาลกำลังจะลงเพิ่มขึ้น จะมีส่วนผลักให้กรุงเทพฯ มีออฟฟิศ คอนโด เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่ดินราคาสูงขึ้น แผงลอย ตลาดนัด ร้านอาหาร หนังสือพิมพ์ ตัดผม ร้านขายของชำตามตรอกซอกซอยจะถูกไล่รื้อ ร้านสะดวกซื้อที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จะร่ำรวยขึ้น รถยนต์จะมากขึ้น รถจะติดมากขึ้น คนจนจะลำบากขึ้นมนทุกๆ ด้าน ถ้าเรายังมีนโยบายพัฒนาระบบคมนาคมแบบเดิมก็จะเป็นการปล่อยให้เมืองใหญ่เติบโตแบบไล่ถีบเตะคนจนไปเรื่อยๆ จนสักวันหนึ่งก็จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทางแก้คือต้องบูรณาการเรือ รถ รถไฟ รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางกายภาพมากขึ้น เช่น ทุกโครงการใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่ ทุกสถานีใหญ่ต้องจัดสรรงบประมาณ 15-25% เพื่อพัฒนาระบบถนน รถสาธารณะเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน ทุกสถานีรถไฟฟ้าต้องพิจารณาเชื่อมโยงการขยายถนนหรือเพิ่มรถสาธารณะ ต้องบังคับให้เชื่อมโยงกับรถขนส่งต่างจังหวัด รถไฟธรรมดา เป็นต้น ต้องให้ทุกองค์กรบริการท้องถิ่นจังหวัด รัฐสวัสดิการท้องถิ่นจัดให้มีรถสาธารณะเชื่อมโยงเขตอำเภอต่าง ๆ อย่างพอเพียง

         ทุกฝ่ายยอมรับว่าควรจะปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำ แต่จะทำทุกระดับทุกด้านคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลน่าจะพิจารณาแนวปฏิรูปแบบ 2 ทาง (dual track) คือ สร้างระบบจูงใจแล้วคัดกรองครู อาจารย์ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามาเป็นสถานศึกษาในระบบปฏิรูป เริ่มต้นเพียงจังหวัดละ 1 แห่ง ภาคละ 1 แห่ง แล้วค่อยขยายต่อไป ทั้งนี้ควรระดมกำลังปัญญาในสังคม แก้ไขปรับปรุงหลักสูตรให้ง่ายขึ้น เหมาะสมกับโลกาภิวัตน์ด้วย
  • 4. การปรองดอง ถ้าเป็นการปรองดองในครอบครัวหรือความขัดแย้งในชีวิตประจำวันจะทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ (เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์) ก็จะแก้ได้ยากขึ้นตามลำดับ หรือสงครามกลางเมืองในสหรัฐ ต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี กว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะคลายความแคลงใจและยอมรับร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ใช้เวลาใกล้เคียงกันเกือบ 15 ปี กว่าฝ่ายซ้ายกับขวาจะเริ่มเข้าใจ พูดจา ไม่รังเกียจเดียดฉันท์กันได้

         การปรองดองจะเกิดได้จริงๆ ต่อเมื่อ 2 ฝ่ายอยู่ในฐานะที่ชัดเจนแล้ว เช่น มองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายได้ว่าแพ้-ชนะได้แน่นอนแล้ว ถ้ายื้อต่อไปจะเป็นสถานการณ์ต่างฝ่ายต่างสูญเสียเพิ่ม (loss-loss) แต่ถ้าหันมาพูดจากันจะเป็นทุกฝ่ายต่างชนะ (win-win) ที่ทำมาก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่จะได้ผลจริงๆ อาจต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือต้องมีแนวนโยบายที่ถูกต้อง สำหรับ คสช. การสร้างความปรองดองที่ดีที่สุดคือ ทำงานของตนโดยเฉพาะการปฏิรูปให้ได้ผล จะมีผลลดทอนเลี่ยงที่จะขัดแย้งกันได้ผลชะงัดที่สุด
          ผู้เขียนประเมินว่า งานในระดับจัดระเบียบ ปัญหาพื้นผิว หรืองานเชิงเร่งรัดนโยบาย เช่น เรื่องรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้า จะไม่ทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมเพิ่มมากนัก แต่งานในระดับโครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างรากฐาน เช่น การปราบคอร์รัปชั่น การเร่งรัดคดีคอร์รัปชั่นที่ค้างคา ที่รัฐเคยประกาศว่าจะจัดการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วก็ยังไม่คืบหน้า แถมมีคดีใหม่ เช่น เชฟร่อน รถยนต์ญี่ปุ่น เลี่ยงภาษี ปตท. ไม่ยอมคืนท่อแก๊ส การปราบปรามอิทธิพลนอกระบบที่รัฐประกาศจริงจังมานานแล้วก็ไม่คืบหน้า งานในระดับนี้จึงจะดึงศรัทธาประชาชนกลับมาได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจจะนึกถึงภาพรัฐบาล ตู่ต้นเตี้ย หรือ ตู่เตี้ยลงก็มีโอกาสเป็นไปได้ก่อนจะจบตามโรดแมปของ คสช.
000

ไม่เห็นด้วยมหิดลสอบสถาบันสิทธิ ห่วงไผ่ ดาวดิน หวั่นคนไทยเสพติด ม.44

          หลังธีรยุทธ์ แถลงมีผู้สื่อข่าวถามธีรยุทธ กรณีมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งกรรมการสอบ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา หลังจากออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 โดยธีรยุทธยืนยันว่า เป็นเสรีภาพทางวิชาการ ถ้าเราเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็น ก็จะได้สิ่งที่ดีๆ มา เหมือนผมเคยอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สามารถแถลงข่าวได้ เป็นสิทธิที่จะพูดทั่วไปทั้งเรื่องที่กระทบกับสังคมและการเมือง เพียงแต่ผมคิดว่าพูดดีก็มีคนฟัง พูดไม่ดีคนก็ไม่นิยมฟัง ทั้งนี้ธีรยุทธกล่าวด้วยว่าผลงาน 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ความสบายใจ คือได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่สนุกดี คุยกับนักข่าวสนุกวัน มีผลงานหลายอันด้านจัดระเบียบและนโยบายที่คนอื่นไม่ทำ แต่เขาทำ แต่หลายเรื่องผมไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการรังแกคนจนในเมือง เช่น เรื่องคลองถม
        เมื่อมีผู้ถามว่าหลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนแล้ว สังคมไทยจะเสพติดมาตรา 44 หรือไม่ ธีรยุทธแสดงความเป็นห่วงว่า สังคมไทยเคยเสพติดอำนาจมาพอสมควร ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 ยิงเป้าคนกลางสนามหลวง เราต้องให้ความรับรู้กับคนทั่วไปว่าต้องระวัง อย่าให้ความชอบธรรมกับภาวะพิเศษนี้ หรือไปเชียร์ให้ทหารปฏิวัติแบบนี้ไม่ถูก
         กรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ ท้าทายอำนาจรัฐแล้วถูกจับไม่ได้ประกันตัว ธีรยุทธกล่าวว่า กรณีของ ไผ่ ดาวดินนั้น โดยธรรมชาติแล้วรู้สึกเห็นใจคนที่ออกมาต่อสู้ทุกคน เว้นแต่คนบางคนที่ทำเพราะว่าได้สินจ้าง รางวัล ส่วนคนที่ต่อสู้ในเชิงความคิด ถึงจะคิดถูก คิดผิดอย่างไร ผมเห็นใจทุกคน ในอนาคตเขาอาจถูกก็ได้ ผมก็เคยเผชิญปัญหานี้มาก่อน
        คนจะด่าจะโจมตีก็ถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าไปตัดตรงนี้ทิ้งตั้งแต่ต้นโดยใช้อำนาจรัฐ การเปลี่ยนแปลงมันก็จะไม่เกิด เช่น การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 ทำแบบนั้น 14 ตุลาคม 2516 อาจไม่เกิดก็ได้ แต่ผมขอติงว่า บางทีบางเรื่องนั้น ทุกท่านที่เคลื่อนไหวขอให้เป็นนักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่อยากทำงานให้สังคมอย่างยั่งยืนจริงๆ เพราะอย่างที่ผมทำ ผมก็ทำเรื่องที่ประชาชนสนับสนุน ไม่ได้ไปทำเรื่องไกลตัว หรือเรื่องที่สังคมไม่เห็นด้วย ผมก็เคารพทุกความคิด แต่ก็ต้องรับผิดชอบการเคลื่อนไหวของตัวเองด้วย แต่อย่างไรผมก็เห็นใจ จะให้ผมช่วยเรื่องข้าวปลาอาหารก็ยินดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น