นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการอบรมหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ เปรียบข้าราชการเป็นดั่งเป็นสะพานให้ประชาชนได้ก้าวข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก เพื่อหลุดพ้นกับดักของประเทศ พร้อมแจง ป.ย.ป. ไม่ใช่ “ประยุทธอยู่ต่อไป”
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการเปิดหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “โครงสร้างและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)” โดยมีข้าราชการระดับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการทหารและตํารวจ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า 1,200 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้าราชการเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พร้อมกับจัดสรรเวลาให้ครอบครัวอย่างเหมาะสม ขอยืนยันว่าส่วนตัวมีความจำเป็นที่มายืนอยู่ตรงนี้เพื่อพูดกับทุกคน ทั้งนี้เพราะในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการเก่า จึงรู้ว่าข้าราชการมีส่วนสำคัญในการเดินหน้าประเทศในอนาคต ซึ่งขอให้ทุกคนได้คิดว่าทุกคนต้องมาช่วยกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ต้องทำต่อไปในอนาคต ดังนั้นหลักสูตรการอบรม ป.ย.ป. ไม่ใช่แค่หลักสูตรการอบรมแล้วจบ หรือมีการไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เป็นการอบรมเพื่อพัฒนาต่อข้าราชการทุกคน ให้เป็นผู้นำทางความคิด นำนโยบายของ ป.ย.ป. ไปขับเคลื่อนต่อในทุกระดับให้ได้ และให้ประสบผลสำเร็จ จับต้องได้จริง และต้องมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องสร้างการรับรู้ที่ดี ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ที่วันนี้แม้เปลี่ยนตัวผู้นำบางประเทศ โลกก็เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก
“ข้าราชการคือตัวแปรสำคัญ และรัฐบาลเป็นสะพานให้ประชาชนได้ก้าวข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก หลุดพ้นจากการติดกับดักของประเทศ โดยเฉพาะจุดต่างของคำว่าประชาธิปไตยและอนาธิปไตย ที่ประเทศไทยจะต้องแยกแยะให้ได้ และการที่รัฐบาลออกกฎหมายมานั้น ไม่ใช่เป็นการกำจัดใคร แต่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามและทุกคนมีส่วนร่วม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงที่มาของคำว่า ป.ย.ป. ว่า ไม่ใช่ “ประยุทธ์อยู่ต่อไป” แต่เป็นคำที่ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการที่ข้าราชการจะต้องนำหลักการไปปฏิบัติ โดยจะต้องมองหาข้อเท็จจริงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ และมีหลักคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้ยอมรับว่าสื่อโซเซียลมีเดียส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี จนทำให้เกิดความสับสน เพราะขาดหลักคิดและการไตร่ตรอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ปัญหาของประเทศขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องประชาธิปไตย ที่มีความเห็นที่แตกต่าง 2.เรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจของสังคม รวมถึงรายได้และความเป็นอยู่ และ 3.เรื่องการขาดหลักคิดที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการศึกษา พัฒนาความคิดให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด ประเทศไทยคงจะได้เป็นประเทศมหาอำนาจไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะดูแลทั้งฐานราก เศรษฐกิจขนาดใหญ่ และแม้รัฐบาลจะเดินหน้า 4.0 ก็ดูแลประชาชน ในระดับ 3.0 และ 2.0 ด้วย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้จ่ายในการลงทุน โดยจะทำควบคู่กับเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวพ้นกับดักประเทศปานกลางและลดความขัดแย้งให้ได้ ซึ่งถ้าเอาความขัดแย้งมาแก้ก่อน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งวันนี้ตนมองว่าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ส่วนจะยุติความขัดแย้งในอนาคตได้อย่างไรนั้น ป.ย.ป.จะเป็นส่วนสำคัญที่จะหาทางออกในเรื่องนี้
“ขอให้ทุกคนทำงานเต็มศักยภาพ และมีเกียรติ ช่วยสร้างความเข้าใจและทำความดีให้กับแผ่นดินให้มากที่สุด ในปี 2560 ถือเป็นปีสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง และจะพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเสนอความเห็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึง 10 ประเด็นของยุทธศาสตร์และนโยบายที่ ป.ย.ป. ที่เน้นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การพัฒนาเกษตรกร อุตสาหกรรมและภาคบริการตามเป้าหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด และเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก รวมถึงวาระการปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศใน 27 ด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างอุตสาหกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและวางแผนงานให้เป็นรูปธรรม หากเกิดอุปสรรคให้เสนอขึ้นมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้าราชการในการพัฒนามากกว่าปกครองเพียงอย่างเดียว ต้องทำงานในการพัฒนาควบคู่กับการปกครอง ด้วยความโปร่งใส สุจริต และเป็นธรรม มีศีลธรรมอันดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น