วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

6 นักศึกษายื่นคำคัดค้านคดีละเมิดอำนาจศาล หลังจัดกิจกรรมให้กำลังใจ 'ไผ่ ดาวดิน'


นักศึกษา 6 คน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล เข้ายื่นคำคัดค้านคำกล่าวหาต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่ศาลกำหนดนัดให้ยื่นภายใน 15 วัน ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพ ชี้ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีของศาลในคดี ‘ไผ่’
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นักศึกษา 6 คน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีจัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' เข้ายื่นคำคัดค้านคำกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่ศาลกำหนดนัดให้ยื่นภายใน 15 วัน ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพ พร้อมระบุด้วยว่าไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีของศาลในคดี ‘ไผ่ ดาวดิน’ 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดเพิ่มเติม จากกรณีที่เครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค จัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ และสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในวันดังกล่าว จตุภัทร์ถูกนำตัวมาศาลเพื่อสอบคำให้การ หลังอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย จากนั้น นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม 7 คน ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายเรียกให้มาแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ต่อมา วันที่ 24 เม.ย. 60 นักศึกษา 6 คน ที่ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มดาวดิน) และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่) เดินทางมาศาล ขณะที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘นิว’ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ไม่ได้รับหมายเรียก จึงไม่ได้มาศาล  ศาลจังหวัดขอนแก่นได้แจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาทั้ง 6 ว่า มีการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล
หลังผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คน ให้การปฏิเสธ ศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 31 พ.ค. 60 พร้อมทั้งให้ทำคำคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล ภายใน 15 วัน จากนั้นได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวทั้ง 6 โดยให้บุคคลอื่นทำสัญญาประกันในวงเงินคนละ 50,000 บาท
ทั้งนี้ คำคัดค้านข้อกล่าวหาที่ผู้อำนวยการฯ ศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล จากการ “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล” ได้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษายกคำกล่าวหา เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นการรบกวนและขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในคดีที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลย  โดยในวันเกิดเหตุ ศาลสามารถพิจารณาคดีได้โดยอิสระตั้งแต่เริ่มการพิจารณาจนเสร็จสิ้น
คำคัดค้านฯ ยืนยันว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในวันดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสุจริต เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น  ซึ่งประชาชนทั่วไปในสังคมก็ได้มีแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกให้เห็นทั่วไปเป็นปกติ โดยไม่ได้ส่งผลขัดขวางการอำนวยการความยุติธรรมของศาลแต่อย่างใด  เนื่องจากศาลต้องยึดหลักการพิจารณาคดีและการใช้ดุลพินิจโดยถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว
ผู้ถูกกล่าวหายังได้ชี้ว่า ตนไม่ได้กระทำความผิดอาญา เนื่องจากไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  หรือก่ออันตรายใด ๆ อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้กระทำในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล  ดังนั้น จึงไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล และไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล  เนื่องจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจะต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงพอจะขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมของศาล
นอกจากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ระบุเหตุผลว่า ในวันดังกล่าว  ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กระทำสิ่งใดก่อนหรือในระหว่างการพิจารณาคดี  และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมดังกล่าว พวกเขาจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั่วไปในสังคม  ทั้งนี้ เมื่อศาลมีการออกข้อกำหนดอย่างชัดเจนในวันอื่นต่อมา  ผู้ถูกกล่าวหาก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเรื่อยมา
คำคัดค้านฯ ของนักศึกษา ได้ชี้แจงว่า  การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลรับรองไว้ ข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหาจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม  เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยอิสระและเรียบร้อย การใช้กฎหมายในฐานความผิดนี้จึงไม่ควรตีความอย่างกว้างขวาง ไปในทางเอาผิดผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งของศาล หรือกระบวนการยุติธรรมเป็นการทั่วไป  ในทางกลับกัน การที่มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ให้อำนวยความยุติธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน
ผู้ถูกกล่าวหายังได้แสดงความเห็นว่า ความคิดเห็นของตนที่แสดงต่อกระบวนการยุติธรรมไม่อาจมีอิทธิพลเหนือความคิดของบุคคลอื่นได้  เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อยู่แล้ว
นักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาย้ำในคำคัดค้านฯ ว่า การกระทำของพวกตนอยู่ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงออกและในการแสดงความคิดเห็นตามตราสารระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและมีผลผูกพันโดยตรง ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งระบุในข้อ 19 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งระบุในข้อ 19 เช่นกันว่า “1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก” อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น