ศาลขอนแก่นไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ จำเลยคดี ม.112 หลังยื่นหลักทรัพย์ประกัน 7 แสน เพื่อขอไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 60 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.34 น. วิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ ทนายอู๊ด พ่อของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ คำสั่งศาลงมาแล้ว ผลไม่อนุญาตให้บุตรชายของตนได้รับสิทธิประกันตัว
คำสั่งศาล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดย วิบูลย์
สำหรับ จตุภัทร์ เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะนี้เขาไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2559 เนื่องจากถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการแชร์เฟซบุ๊กข่าวเกี่ยวกับพระราชประวัติ ร.10 ที่เผยแพร่ในบีบีซีไทย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ในการยื่นประกันตัวครั้งนี้ วิบูลย์ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เงินสด 700,000 บาท เพื่อขอให้ปล่อยตัวไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค. 2560
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า จตุภัทร์ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี แต่ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามหมายเรียกโดยมาศาลตามคำสั่งทุกครั้ง จึงขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ เพื่อเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศเกาหลีใต้ด้วยตนเอง และให้จำเลยได้มีโอกาสเตรียมคดีและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีย่อมทำให้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของจำเลยด้วย ทั้งนี้ จำเลยย่อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลตามกฎหมายทุกขั้นตอน ไม่หลบหนี หรือทำให้การดำเนินคดีของศาลได้รับผลเสียหาย
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยังระบุอีกว่า คดีนี้แม้จะเป็นคดีที่ข้อกล่าวหาร้ายแรง แต่พฤติการณ์การกระทำผิดของจตุภัทร์ ไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหา ศาลจังหวัดขอนแก่นเองก็เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว
จตุภัทร์ให้เหตุผลอีกว่า เขายังเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้มีความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงและเป็นข้อหาความมั่นคง ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า จตุภัทร์มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีของศาล
จตุภัทร์ให้เหตุผลอีกว่า เขายังเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้มีความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงและเป็นข้อหาความมั่นคง ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า จตุภัทร์มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีของศาล
ทั้งนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รับรองสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ตลอดมา การขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาไว้ก่อนเสมออาจถือเป็นการลงโทษจำเลยล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
สำหรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นโดยเหยื่อจากการปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) มีกิจกรรมมอบรางวัลให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของเอเชียทุกปี ในปีนี้ ไผ่ ดาวดิน ได้รับการเสนอชื่อจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล คนไทยคนแรกที่เคยได้รับรางวัลนี้ คือ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยได้รับรางวัลในปี 2549
ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม มองรางวัล 2017 Gwangju Prize for Human Rights จากว็บไซต์ The May 18 Memorial Foundation
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ, รมว. กระทรวงยุติธรรม และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับประกันตัวและให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลดังกล่าวด้วยตนเอง ในวันที่ 18 พ.ค. 2560 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้
ต่อมา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซลได้มีจดหมายตอบกลับถึงประธานมูลนิธิฯ โดยชี้เเจงว่าสถานทูตฯ รับทราบถึงกรณีที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ตัดสินใจมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยชี้แจงว่า จตุภัทร์ได้กระทำผิดกฎหมาย และปัจจุบันถูกคุมขังในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาเคยได้การประกันตัวในช่วงแรกที่ถูกจับกุม แต่ก็ถูกถอนประกันเนื่องจากเขาผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวด้วยการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ ทูตไทยย้ำว่า คดีของจตุภัทร์ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยศาลยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น