กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มีมติเซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด เพราะต้องการคนใหม่มาทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ ขณะที่สมชัย หวังว่า สนช. จะแปรญัตติให้ กกต. เดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ ด้านมีชัยไม่แสดงความเห็นใดๆ
1 มิ.ย. 2560 ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า กรรมาธิการมีความเห็นด้วยเสียงข้างมากให้เซ็ตซีโร่ กกต. ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นกลไกใหม่ และเป็นการปฏิรูปองค์กร กกต. เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่เขียนให้อำนาจ กกต. มากขึ้น รวมทั้งการที่ไม่มีกกต. จังหวัด จึงต้องการให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ภายใต้กฎหมายใหม่
ตวง กล่าวว่า ในเรื่องวาระกกต. ยังมีมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้อีกหลายคน ดังนั้นในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 เรื่องนี้ คงจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว และขึ้นอยู่กับที่ประชุมในการพิจารณา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หาก สนช. รับในมติดังกล่าวจะส่งผลถึงอนาคต กกต.ชุดปัจจุบันต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ครบ 7 คน ซึ่งความเห็นนี้จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาอีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย.
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ทำให้กระทบต่อคณะกรรมการ กกต.ชุดปัจจุบัน 2 คน คือประวิตร รัตนเพียร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี และสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่จะต้องพิสูจน์ว่าเคยทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่น้อยกว่า 20 ปี อีกทั้งต้องทำการสรรหา กกต.เพิ่มเติมให้ครบ 7 คน
ในขณะที่ กกต.อีก 2 คนจะหมดวาระลง เนื่องจากอายุครบ 70 ปี คือ บุญส่ง น้อยโสภณ ในปีหน้า ส่วนศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. จะหมดวาระเดือน ก.พ. 2562 ขณะที่ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ได้ถูกตั้งกรรมการสอบเรื่องจริยธรรม ดังนั้นจึงทำให้มีข้อห่วงใยว่าจะทำให้ กกต. ที่จะต้องรับบทบาทสำคัญในศึกเลือกตั้ง ปี 2561 สั่นคลอน จึงเป็นที่มาของความเห็นในการแปรญัตติร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ในชั้นกรรมาธิการ ทั้งโละสรรหาใหม่ทั้งชุด หรือให้ กกต.ชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ
ทั้งนี้มีรายงานจากที่ประชุมกรรมาธิการว่า ได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ที่สุดแล้วกรรมาธิการมีความเห็นให้เซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด และเตรียมแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้
สมชัย เชื่อ 9 มิ.ย. สนช.จะยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ กกต.ปัจจุบันอยู่จนครบวาระ
ในวันเดียวกันนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งกล่าวตอนหนึ่ง ในการจัด เสวนา "เดินหน้าเลือกตั้งกับ กกต." ที่โรงแรมธารามันตรา ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ซึ่งจะชี้ชัดเรื่องคุณสมบัติของ กกต. ทำให้ขณะนี้มีภาพ 3 ภาพ
สมชัย กล่าวว่า 1. ภาพเลวร้ายที่สุด คือ สนช. ยืนตามร่างของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (กรธ.) หมายความว่า จะมี กกต. ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประวิช รัตนเพียร จะไปเป็นคนแรก เพราะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน และพ้นจากตำแหน่งทางการการเมืองไม่ถึง 10 ปี ส่วนตนต้องยื่นหลักฐานการทำงานภาคประชาสังคมให้ครบ 20 ปี ซึ่งได้เตรียมหลักฐานไว้ 21 ปี 9 เดือน หากกรรมการสรรหาไม่รับฟัง ก็จะพ้นจากตำแหน่งทันทีในวันรุ่งขึ้น
สมชัย กล่าวว่า หลังจากนั้น กกต.จะเหลือ 3 คน และในเดือน ก.ค.61 บุญส่งจะหมดวาระ อายุครบ 70 ปี และเดือน ก.พ.62 ศุภชัยจะหมดวาระลง อายุครบ 70 ปีเช่นกัน ก็จะเหลือธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมือง เพียงคนเดียว แต่ถ้าธีรวัฒน์ มีอุบัติเหตุ เนื่องจากขณะนี้กำลังตรวจสอบด้านจริยธรรม หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเดือน ก.พ.62 การเลือกตั้งจะอยู่ในมือ กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน
สมชัย กล่าวว่า ภาพที่ 2 ภาพดีสุด คือ วันที่ 9 มิ.ย. สนช.ยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเดิม ให้ กกต.อยู่ต่อจนครบวาระ ก็ทำงานไป 3 ปีครึ่ง และภาพที่ 3 ภาพที่เป็นไปได้ จากการประเมินส่วนตัว เชื่อว่า สนช.น่าจะยึดหลักให้ กกต.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เพราะถ้าใช้หลักการดังกล่าว จะเป็นต้นแบบกับองค์กรอิสระอื่นๆ
มีชัยปัดแสดงความเห็น กรณี สนช. อาจแปรญัตติให้ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อได้
ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจมีการแปรญัตติปรับแก้ร่างกฎหมายในวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ กกต.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้จนครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด ว่า กรธ. คงไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น