วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไม่ฟ้องคดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ เหตุติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ-ไม่กระทบความมั่นคง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เผยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) คดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ ระบุเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
31 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (30พ.ค.60) อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) ในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยน่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 14(2) และ (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550
ความเห็นของอัยการ ระบุว่าข้อความในสเตตัสเฟซบุ๊กของ แจ่ม เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก แจ่ม ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ถึงความขัดแย้งภายใน คสช. จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลทหาร ภายหลังอัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนงในข้อหาเดิมอีก จนในที่สุดอัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้
นอกจากคดีนี้แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ยังมีคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตแล้วถูกดำเนินด้วยข้อหาตามมาตรา 116 อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของ รินดา พรศิริพิทักษ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการนำข้อความในไลน์เรื่องที่ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานที่ศาลอาญารัชดาภิกเษก ว่าการกระทำของนางรินดาเป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลทหารจะไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาล ส่วนอีกสองคดีเกิดจากการแชร์แผนผังการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ คือ คดีของ ฐนกร (สงวนนามสกุล) และ ธเนตร อนันตวงศ์ ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น