วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

'เรืองไกร' ร้อง ป.ป.ช.สอบ ครม.อภิสิทธิ์ ซื้อเรือเหาะ ชี้อาจเข้าข่ายก่อความเสียหายต่อรัฐ


'เรืองไกร' ร้อง ป.ป.ช.สอบ ครม.อภิสิทธิ์ ซื้อเรือเหาะส่อขัดเกณฑ์ใช้งบกลาง ชี้ไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน จึงอาจเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ขณะที่ชาวบ้านม่วงสามสิบ อุบลฯ ยื่น สอบทำประชาคมโรงไฟฟ้าขยะชีวมวล ไม่โปร่งใส ส่อจนท.ทุจริต
22 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (22 ก.ย.60) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธาน ป.ป.ช. ผ่าน สุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบคณะรัฐมนตรีสมัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กรณีที่ประชุมครม.ในขณะนั้นมีมติอนุมัติให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2552 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจัดหาระบบเรือเหาะพร้อมกล้องตรวจการณ์กลางวัน/กลางคืน วงเงิน 350 ล้านบาท เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
เรืองไกร กล่าวว่า การที่ ครม.รัฐบาลอภิสิทธ์ ได้มีมติอนุมัติแนวทางปฏิบัติกรณีการขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ในวันที่ 17 ก.พ.52 ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีวงเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท ให้เสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในหลักการก่อน รวมถึงได้ยกเลิกแนวทางปฏิบัติกรณีการขออนุมัติใช้เงินงบกลาง จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 51 ด้วย ซึ่งต่อมาในการประชุม ครม.ในวันที่ 10 มี.ค.52 ก็มีมติอนุมัติให้ กอ.รมน.เบิกจ่ายงบกลาง เพื่อจัดหาระบบเรือเหาะพร้อมกล้องตรวจการณ์ วงเงิน 350 ล้านบาท โดยอ้างมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2551 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติยกเลิกแนวทางดังกล่าวไปแล้ว 
ดังนั้นการที่ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.มีมติอนุมัติให้ กอ.รมน.เบิกจ่ายงบกลาง เพื่อจัดหาระบบเรือเหาะพร้อมกล้องตรวจการณ์ วงเงิน 350 ล้านบาทจึงอาจจะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้งบกลางหรือไม่ นอกจากนั้นการที่เรือเหาะใช้การไม่ได้ตามวัตถุประสงค์และมีการยกเลิกไปแล้วนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด จึงอาจเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือไม่จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับเรือเหาะ ป.ป.ช.ชุดที่ผ่านมาเคยวินิจฉัยกรณีถอดถอน สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่ควบคุมดูแลกองทัพบกในการใช้งบประมาณจัดซื้อเรือเหาะอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งได้ยกคำร้องไปแล้ว แต่ถ้า เรืองไกร มีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ใช่ประเด็นเดิมที่ ป.ป.ช.เคยมีมติไปแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องเดียวกัน ตามกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้
 
สำหรับกรณีเรือเหาะตรวจการณ์กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า เรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 40D S/ N 21 หรือ sky dragon ที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่
วันเดียวกัน พัฒนา ส่งเสริม กำนันตำบลหนองช้างใหญ่ พร้อมชาวบ้าน อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. เพื่อร้องเรียนและให้ตรวจสอบการทำประชาคมไม่โปร่งใสของ อบต.หนองช้างใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ โดย สุทธิ  เป็นผู้รับหนังสือแทน
พัฒนา ระบุว่า ตามที่อบต.หนองช้างใหญ่และบริษัทเอกชน ได้จัดทำประชาคมกรณีบริษัทเอกชนดังกล่าวจะทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล(ขยะ) ในพื้นที่ต.หนองช้างใหญ่ แต่กลับมีการจัดหารถรับส่งชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุให้เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจง ที่ล้วนแต่เป็นคำศัพท์ทางวิชาการ ก่อนจะให้รับฟังความคิดเห็นแล้วทำประชาคมว่ารับหรือไม่รับโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ทั้งนี้ ปรากฎว่ามีการร่วมกันปลอมลายมือชื่อของชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปเบิกจ่ายงบประมาณในการจัดทำประชาคมครั้งนั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น