วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ตามรอยสุสานพระเจ้าตาก
เรื่องและภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=425
     เถ่งไฮ่เป็นอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีประชากรประมาณ ๗๑๐,๐๐๐ คน ปัจจุบันเถ่งไฮ่เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่ง ตุ๊กตาต่างๆ จากบริษัทผลิตของเล่นชื่อดังของโลกไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาบาร์บี้หรือตุ๊กตาของวอลต์ดีสนีย์ที่ส่งไปขายทั่วโลก ผลิตมาจากโรงงานในอำเภอเถ่งไฮ่แทบทั้งสิ้น

     คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักอำเภอเล็กๆ อย่างเถ่งไฮ่ แต่สำหรับลูกหลานชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย น่าจะคุ้นหูกับชื่อนี้ดี

     คนจีนที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาทำมาหากินบนแผ่นดินไทยในอดีต ส่วนใหญ่มาจากเมืองแต้จิ๋ว โดยเฉพาะจากอำเภอเถ่งไฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล การเดินทางข้ามมาเมืองไทยสะดวกกว่า ด้วยเหตุนี้คนจีนในเมืองไทยส่วนใหญ่จึงพูดภาษาแต้จิ๋ว บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน นับตั้งแต่ ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึงคนในตระกูลรัตตกุล ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลเจียรวนนท์ ก็ล้วนมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอำเภอเถ่งไฮ่


     สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่เรามักเรียกกันว่า พระเจ้าตาก ก็ทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋ว พระบิดาของพระองค์เป็นชาวแต้จิ๋ว เกิดในตระกูลแต้ ชื่อนายแต้เจียว อพยพจากอำเภอเถ่งไฮ่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระมารดาเป็นคนไทย ชื่อนางนกเอี้ยง มีอาชีพค้าขาย พระเจ้าตากทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๒๗๗ (หนังสือบางเล่มกล่าวว่าทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๒๗๗) มีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าตากทรงได้กลับไปศึกษาที่ประเทศจีนระยะหนึ่งด้วย 

     นายนิ้ม แซ่ตั้ง วัย ๗๙ ปี ชาวจีนซึ่งเกิดในอำเภอเถ่งไฮ่และอพยพมาตั้งรกรากในเมืองไทยเมื่อ ๖๐ ปีก่อน เล่าให้ฟังว่า


     “สมัยที่ผมอยู่เมืองจีน คนเถ่งไฮ่รู้จักเมืองไทยดี เพราะเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วที่คนเถ่งไฮ่เดินทางมาค้าขายที่เมืองไทย ที่มาตั้งรกรากอยู่เมืองไทยเลยก็มีมาก ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นแน่นแฟ้นมาก ถึงกับมีคำไทยที่กลายเป็นภาษาแต้จิ๋ว คือคำว่า ตลาด ชาวแต้จิ๋วเอาไปใช้โดยออกเสียงว่า ‘ตั๊กลัก’ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คนจีนที่นั่นก็รับรู้กันโดยตลอด

     “คนเถ่งไฮ่รู้จักและรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากดี เขาเรียกกันว่า ‘แต้อ๊วง’ แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินตระกูลแต้ บ้านเกิดของผมก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปเที่ยวบ้านหลังหนึ่งที่เก่าทรุดโทรมมาก เชื่อกันว่าเป็นบ้านเกิดของพระเจ้าตาก ผมยังเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าเมื่อ ‘แต้อ๊วง’ เกิด พ่อของท่านก็พาท่านกลับมาเรียนภาษาที่เมืองจีน จนอายุได้ ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย”


     นายนิ้มกล่าวว่าคนจีนที่อพยพมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนิยมส่งลูกหลานกลับมาเรียนหนังสือที่บ้านเกิด เพราะต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน และที่สำคัญคือ เมื่อกลับมาเมืองจีนยังมีครอบครัวและญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดคอยดูแล ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่อาจต้องใช้ชีวิตตามลำพัง จากการศึกษาประวัติพระบิดาของพระเจ้าตาก ก็พบว่าไม่มีญาติพี่น้องอยู่เมืองไทยมากนัก

     บริเวณแหล่งดูดทรายแห่งหนึ่งในอำเภอเถ่งไฮ่ มีฮวงซุ้ยหรือสุสานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางเข้าทำเป็นซุ้มขนาดใหญ่ สุสานแห่งนี้เป็นสุสานเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙) มีป้ายหินจารึกไว้ว่า “สุสานของ ‘แต้อ๊วง’ ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ฤดูใบไม้ผลิ”




     คนเถ่งไฮ่เชื่อกันว่า หลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน บรรดาญาติพี่น้องได้นำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิด และฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ 

     “คนเถ่งไฮ่ภูมิใจใน ‘แต้อ๊วง’ มาก ว่าเป็นคนบ้านเราที่มีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทย และมีความกล้าหาญยิ่ง เสี่ยงชีวิตไปรบกับพม่าเพื่อกอบกู้ชาติไทย” นายนิ้มกล่าว

     บริเวณสุสานยังมีป้ายหินอีกแผ่นจารึกไว้ว่า “สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของ ‘แต้อ๊วง’ ที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด” ลงชื่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นแห่งอำเภอเถ่งไฮ่


     ปัจจุบัน สุสานแห่งนี้ยังมีผู้นำดอกไม้ธูปเทียนมาแสดงความคารวะอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะจากบรรดาลูกหลานคนจีนจากเมืองไทยที่มีโอกาสไปเยี่ยมญาติในประเทศจีน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น