วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" สุมหัวร่าง รธน. อยู่หรือเปล่า ?
ถามตรง "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" สุมหัวร่าง รธน. อยู่หรือเปล่า?

         วันที่ 25 เมษายน ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ โฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการการประชุม ครั้งที่ 6/2555 ว่า คณะที่ปรึกษาฯ ได้มีการตั้งประเด็นในการพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาเพื่อเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน 10 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ควรจะคงให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อไปหรือไม่ หากจะคงไว้ ส.ว.ควรจะมีหน้าที่อย่างไร ที่ต้องเสนอเช่นนี้เนื่องจากดูจากหลักการและเหตุผล ทั้งทางของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาที่เสนอเข้ามาให้ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง

2.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดของภาคการเมือง โดยเฉพาะที่นำไปสู่การยุบพรรค และการตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคว่า ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่อย่างไร

3.ความจำเป็นในเรื่องอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ

4.ความจำเป็นในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ

5.การสรรหาบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระว่า ควรจะเป็นอย่างไร

6.ปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะการแก้มาตรา309 ซึ่งมีผู้เสนอว่า ควรยกเลิกเสีย และหากมีการยกเลิกจริง ควรจะมาตรการเชื่อมโยงสภาพทางการเมืองและกลไกทางการเมืองในปัจจุบันกับอนาคตอย่างไร

7.ระบบเลือกตั้ง การที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องสังกัดพรรคการเมืองในการเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือไม่

8.ระบบพรรคการเมืองและการเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง

9.การคุ้มครองและบังคับให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ

10.การคุ้มครองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจของ ส.ส.ร. ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจในการตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นมาพิจารณา ทั้งนี้ การพิจารณาของคณะกรรมที่ปรึกษาเป็นการวางหลักเกณฑ์ไว้ โดยพิจารณาจากประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ รวมถึงเรื่องที่คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการได้เสนอไว้แล้วนำมาสรุป และตั้งประเด็นพิจารณาไว้ล่วงหน้า

และเมื่อถามอีกว่าการตั้งประเด็นเช่นนี้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญแข่งกับรัฐบาลหรือไม่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ เราเพียงแต่เสนอหลักการว่า เรื่องใดควรมีอยู่หรือไม่ควรมีอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยจะสรุปข้อเสนอให้แก่ผู้ตรวจการฯ เพื่อทำข้อเสนอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คาดในแต่ละประเด็นจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 สัปดาห์ 

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น