วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทหารห้าหมื่น กระสุนแสนนัด ระดมฆ่าเสื้อแดง

ช็อค! ข้อมูล "ศปช." ยัน "ใช้ทหาร 5 หมื่นคน กระสุน 1 แสนนัด" ระดมฆ่าเสื้อแดง

ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ “ศปช.” ได้เก็บรวบรวมข้อมูลกรณีประชาชนถูกจับกุม/คุมขัง/ดำเนินคดี อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 โดยการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ติดตาม ให้ความช่วยเหลือ รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ


สืบเนื่องจากการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ “นปช.” โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ถือเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในแง่การใช้กำลังของฝ่ายรัฐ ซึ่งมีการระดมกำลังทหารเข้าสู่กรุงเทพฯ ถึงกว่า 50,000 ราย และใช้กระสุนจริงกว่า 100,000 นัด ในจำนวนนี้เป็นกระสุนสำหรับการซุ่มยิ่งกว่า 2,000 นัด


ในแง่ของความสูญเสียต่อชีวิต มีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าทีรัฐ 10 ราย เป็นพลเรือนทั่วไป 77 ราย อาสากู้ชีพ/พยาบาล 5 ราย ผู้สื่อข่าว 2 ราย (ในจำนวนนี้หากนับเฉพาะพลเรือน อาสากู้ชีพ/พยาบาล และผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน และระหว่างวันที่ 13 – 19 พฤษภาคม จะมีทั้งหมด 83 ราย) และผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1,500 ราย


จากข้อมูลที่ ศปช. เก็บรวบรวมได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2555 พบว่า มีผู้ถูกจับจากเหตุการณ์ที่สืบเนื่องกับการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,857 คน ในจำนวนนี้ ต่อมาถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,763 คน โดยคิดเป็นจำนวนคดีทั้งสิ้น 1,381 คน ในศาล 59 แห่ง ทั้งในกรุงเทพปริมณฑล และต่างจังหวัด


ทั้งนี้ มีผู้ดำเนินคดีที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 167 คนโดยแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชน และมีคนต่างชาติถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 26 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติ


หากพิจารณาคดีที่รัฐดำเนินการกับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถจำแนกคดีได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีอาญาอื่น ๆ และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับคดีอาญาอื่น ๆ


โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเดียว และร่วมกับคดีอาญาอื่น ๆ มีจำนวนมากถึง 1,628 คน จากจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 1,763 คน และหากดูระยะเวลาในการจับกุม คนส่วนใหญ่ถูกจบกุมระหว่างวันที่ 19-29 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเข้าสลายการชุมนุมและประกาศใช้ข้อกำหนดห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดหรือเคอร์ฟิว


ถึงแม้ผู้ที่ถูกจับกุมอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในปี 2553 ส่วนใหญ่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาฐานอื่น ๆ ด้วย โดยมีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาฐานอื่นรวม 594 คน ในจำนวนนี้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง (ไม่นับรวมคดียาเสพติดที่เป็นการกระทำผิดร่วมกับการออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด) 290 คน คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างน้อย 105 คน (บางคนไม่มีข้อมูล)


เนื่องจากศาลมีดุลยพินิจว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยไปเกรงจำเลยจะหลบหนี อีกทั้งศาลยังกำหนดเงินประกันไว้สูง (เริ่มตั้งแต่ 100,000 บาท ถึงกว่า 1,000,000 บาท) ทำให้ยากที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหาหลักทรัพย์มาประกันตัวไว้


นอกจากนี้ แม้แต่ในกลุ่มคนที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีนั้นมีจำนวนมากที่ถูกคุมขังนานกว่า 6 เดือน และอีกจำนวนหนึ่งถูกคุมขังอยู่กว่า 1 ปี ก่อนที่ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่นานหลายเดือนหลังสลายการชุมนุม และบรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง


ทั้งนี้ รายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” กำหนดวางแผงทั่วไปวันที่ 1 ก.ย. นี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.pic2010.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น