วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทนำรายงาน ศปช. เสียงจากเหยื่อ “ความจริงเพื่อความยุติธรรม”


            รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ มีจุดเริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำใจนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ เป็นการปราบปรามการชุมนุมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ 

           คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงได้แปรเปลี่ยนความเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมให้เป็
นความพยายามที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุด ความพยายามนี้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามเบี่ยงเบนความรับผิด (accountability) ของตนเอง ด้วยการประกาศว่ารัฐบาลของเขายึดหลักนิติรัฐ “พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อม ๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน”[1] ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา  โดยมีนายคณิต ณ นคร ดำรงตำแหน่งประธาน คอป.[2]

           แต่ตลอดช่วงเวลาที่ประชาธิปัตย์
เป็นรัฐบาล  กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดกลับไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น แม้อธิบดีดีเอสไอจะแถลงตั้งแต่ปลายปี 2553 ว่ามีคดีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเข้าข่ายน่าเชื่อว่ามีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน แต่การส่งมอบคดีไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายก็เป็นไปอย่างล่าช้[3] ไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ กับผู้สั่งการ ไม่มีแม้กระทั่งการดำเนินการให้ศาลสืบสวนการตายในกรณีที่เชื่อว่าเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง ถูกดำเนินคดีและพิพากษาคดีด้วยข้อหาร้ายแรง  จำนวนมากถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประกันตน 

            ในขณะที่ คอป. ก็ตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ อิหลักอิเหลื่อ ขัดแย้งในตัวเองระหว่างหน้าที่
ของการแสวงหาความจริงกับจุดมุ่งหมายที่ไม่ต้องการชี้ว่า ใครคือผู้กระทำความผิด[4]

            นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) อันเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทั
กษ์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐ ก็ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสิ้นเชิง  ในระหว่างการล้มตายบาดเจ็บของประชาชนในเมื่อวันที่ 10 เม.ย. และ 19 พ.ค. 2553 กสม.ไม่เคยมีความกล้าหาญที่จะออกมาประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว ซ้ำร้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554  ร่างรายงานของ กสม. ที่ว่าด้วยการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ “หลุด” ออกมาหนึ่งวันก่อน กสม.จะแถลงรายงานดังกล่าวชี้ชัดว่า กสม. เลือกที่จะปกป้องอำนาจรัฐ มากกว่าปกป้องประชาชนธรรมดา เพราะสาระของรายงานดังกล่าวมุ่งพิจารณาว่า “การกระทำของผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่” แทนที่จะตั้งคำถามว่า “การกระทำของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหรือไม่” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏให้เห็นว่าระดับของการใช้กำลังอาวุธและทหารเข้าจัดการกับประชาชนนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับอาวุธที่ผู้ชุมนุมบางส่วนมี  และจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายประชาชนสูงกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างเทียบกันไม่ได้[5]    

             ความไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลางของ กสม.และ คอป.ว่าจะทำหน้าที่คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อได้อย่างแท้จริง  ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้นำความตั้งใจดังกล่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อขอความร่วมมือกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม  ผลของการพูดคุยนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง ศปช. เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานในเหตุการณ์ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าในอนาคต เมื่อสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษในที่สุด ฉะนั้น ภารกิจของ ศปช. จึงเสมือนการทำงานคู่ขนานไปกับ คอป. ในการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 โดยได้มีการเปิดตัว ศปช. ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553     
           
            เมื่อได้จุดมุ่งหมายร่วมกัน พวกเราได้ช่วยกันหาเงินบริจาคเพื่อเป็นเงินเดือนสำหรับเจ้าหน้าที่ของ ศปช. และสำหรับการเดินทางเก็บข้อมูลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางช่วงเวลาเจ้าหน้าที่ของ ศปช. มี 5-6 คน บางช่วงมีเพียง 2-3 คน บางคนทำเต็มเวลา บางคนทำครึ่งเวลา ขึ้นกับภาระงานและสภาพการเงินของ ศปช.ในแต่ละช่วงเวลา บางคนแม้จะไม่ได้รับค่าจ้างจาก ศปช. แล้ว แต่ก็ยังทำงานให้ศปช.ต่อไป ส่วนนักวิชาการที่มาช่วยงานของ ศปช.นั้น ไม่มีใครได้รับเงินเดือนค่าจ้างแต่ประการใด
 
เสียงจากเหยื่อ
ประเด็นสำคัญที่พวกเราเห็นร่วมกันว่า ศปช. จะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ไว้ในรายฉบับนี้ได้แก่
(1)       เหตุการณ์ความรุนแรงในจุดต่าง ๆ ที่สำคัญของกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553
(2)       รายชื่อของผู้เสียชีวิต ลักษณะและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
(3)       การจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ตลอดจนปัญหากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
(4)       ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ
(5)       วิเคราะห์ขั้นตอน เป้าหมาย วิธีการใช้ความรุนแรงของรัฐว่าเป็นสิ่งที่เกินกว่าเหตุ
และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่อย่างไร
(6)       วิเคราะห์การก่อตัวและเป้าหมายของขบวนการคนเสื้อแดง
(7)       รวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญทั้งคำสัมภาษณ์ คลิปวิดิทัศน์ เอกสารราชการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป  

            อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรุนแรงได้ทุกกรณี เช่น  เราไม่มีรายชื่อทั้งหมดของผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน เราไม่สามารถให้รายละเอียดของการเสียชีวิตได้ครบทั้ง 94 ราย ประการสำคัญ เมื่อเราไม่ได้เป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐ เราจึงมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐได้ 

          ดังนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ของ ศปช. มาจากการสัมภาษณ์เหยื่อและพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ รายงานข่าว ภาพถ่าย และคลิปวิดิทัศน์ต่าง ๆ แล้วนำจิ๊กซอว์เหล่านี้มาปะติดปะต่อเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพความรุนแรง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ศปช. ยังมุ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกจับกุม ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าจุดแข็งของรายงานของ ศปช. ก็คือ เป็นรายงานที่สะท้อนเสียงและมุมมองของฝ่ายประชาชนและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553  

ใครรุนแรง? ใครทำเกินกว่าเหตุ?

             การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของ นปช. โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553  ถือเป็นการปราบปรามประชาชนที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในแง่การใช้กำลังทหารของฝ่ายรัฐ ที่มีการระดมกำลังทหารเข้าสู่กรุงเทพฯ ถึงกว่า 60,000 ราย และใช้กระสุนจริงกว่า 117,923 นัด ในจำนวนนี้ เป็นกระสุนสำหรับการซุ่มยิงมากกว่า 2,000 นัด[6] และในแง่ของความสูญเสียต่อชีวิต ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 77 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย อาสากู้ชีพ/พยาบาล 5 ราย ผู้สื่อข่าว 2 ราย[7] และผู้บาดเจ็บอีกราว 2,000 ราย

            ในขณะที่รัฐบาล อภิสิทธิ์และ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พยายามตอกย้ำว่าผู้นำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปฏิเสธการเจรจาเพื่อยุติปัญหาอย่างสันติวิธี ผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำเป็นผู้ก่อความรุนแรง และมักพูดราวกับว่าความตายและบาดเจ็บที่เกิดขึ้นล้วนเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงฆ่ากันเองเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยเฉพาะการตายเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ส่วนรัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าตนต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียแม้แต่กรณีเดียว ซ้ำร้ายยังตอกย้ำว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่ากับ “การก่อการร้าย” จนทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในทัศนะของ ศปช. ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแผนการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ในช่วง 14-19 พฤษภาคม 2553 และเต็มไปด้วยความลวงมากมาย กล่าวคือ ·   
  
  • รัฐบาลสามารถแสดงหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้แค่ที่สี่แยกคอกวัวในคืนวันที่ 10 เมษายนเท่านั้น แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในที
่อื่น ๆ ประการสำคัญ เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ศปช.พบว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน บริเวณสี่แยกคอกวัว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายนับแต่รัฐบาลได้เริ่มแผนปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ซึ่งหมายความว่า เกิดขึ้นก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัว   (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ใน ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน โดยเกษม เพ็ญพินันต์) นอกจากนี้ หากกองกำลังของคนเสื้อแดงมีมากมายจริง ทำไมในการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม กลับมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเพียง 2 ราย[8]
·     

  • ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพข่าวและคลิปวิดีโอคือ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ได้มี

  • อาวุธร้ายแรงอยู่ข้างกาย และจากการชันสูตรศพ ก็ไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้
    เสียชีวิตเลย อาวุธที่รัฐบาลบอกว่า “ร้ายแรง” ก็มักประกอบด้วย หนังสติ๊ก ระเบิดขวดที่ทำจากขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ท่อนไม้ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในมือทหารได้เลย  คำถามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพ ไม่เคยตอบให้กระจ่างเลยก็คือ เมื่อผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทำไมพวกเขาจึงต้องถูกยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส คนเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมดใช่หรือไม่  ·
         

  • หากรัฐบาลอภิสิทธิ์มั่นใจเรื่องผู้ก่อการร้ายของตนจริง ๆ  ก็ต้องแสดงติดตามหาหลักฐานให้ได้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่ว่านี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร และพวกเขามีส่วนต่อการเสียชีวิ

  • ตและบาดเจ็บรายใดบ้าง ไม่ใช่ใช้วิธีตีขลุมเหมารวมโดยปราศจากหลักฐานและการแยกแยะ โยนทุกเรื่องให้กับผู้ก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ที่กำลังเล็งปืนเข้าใส่ประชาชนคือทหาร ดังเช่น คลิปภาพทหารบนรถรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม ที่ปรากฏดาษดื่นในโลกออนไลน์ ·     

  • ประการสำคัญ ต่อให้เป็นความจริงที่ว่าผู้ชุมนุมบางคนพกพาอาวุธ ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องติดตามจัดการกับผู้มีอาวุธเหล่านั้นโดยตรง แต่ไม่ใช่ใช้ประเด็นนี้เพื่อเป็นข้ออ้างในการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธอย่างไม่เลือกหน้า การมีอาวุธของผู้ชุมนุมบางคน ซึ่งก็น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดกลายเป็นผู้ก่อการร้าย  ไม่สามารถเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลขนกำลังทหารกว่า 60,000 นาย และกระสุนจริงอีกกว่า 120,000 นัดเพื่อล้อมปราบ-สังหารผู้ชุมนุมได้เลย


  •            แท้ที่จริงยุทธวิธีต่าง ๆ ที่รัฐใช้ในเหตุการณ์นี้ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนจริงกว่า 120,000 นัดการใช้กำลังปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมทุกด้าน การใช้สไนเปอร์ซุ่มยิงจากที่สูง การซุ่มยิงบนรางรถไฟฟ้าเข้าไปยังวัดปทุมวนาราม แต่เป็นความตั้งใจใช้ปฏิบัติการสงครามในเมืองเพื่อสลายการชุมนุมปราบปรามขบวนการคนเสื้อแดง ไม่ใช่เพื่อการเจรจา แต่เพื่อทำลาย ประการสำคัญ ยุทธการ “กระชับวงล้อม” ราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม หลายวันก่อนที่การเจรจาจะถูกล้มลงเสียอีก สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนในเอกสารวิเคราะห์ปฏิบัติการดังกล่าวของฝ่ายทหารเอง[9]  

                 ฉะนั้น ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ที่ถนนราชดำเนิน และ “กระชับวงล้อม” ที่สี่แยกราชประสงค์ จึงเป็นการใช้อำนาจและกำลังที่
    เกินกว่าเหตุ ที่มีเจตนาละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างชัดเจน การละเมิดนี้ยังลุกลามไปสู่ชีวิตของทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์อาสาสมัคร ตลอดจนผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศอีกด้วย[10]  

    ใครเป็นฝ่ายล้มการเจรจา?

                 หลังจากที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช.ในปลายเดือนมีนาคม 2553 สิ้นสุดลง โดยไม่สามารถหาข้อยุติใด ๆ ได้ ในด้านหนึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามแสดงภาพว่า ตนพร้อมจะเจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่อยู่ ๆ ในบ่ายวันที่ 10 เมษายน 2553 รัฐบาลก็ส่งกำลังทหารและอาวุธหนักเข้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” บนถนนราชดำเนินโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย (ประชาชน 20 คน ทหาร 5 คน ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 1 คน) ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้เรียกร้องให้ นปช.ยุบการชุมนุมที่ราชประสงค์และให้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินเท่านั้น ความสูญเสียเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้นายอภิสิทธิ์จำต้องแสดงท่าทีประนีประนอม และประกาศว่ารัฐบาลของตนยินดียุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่  14 พฤศจิกายน โดยให้นปช. ต้องสลายการชุมนุมในทันที 

    แต่ นปช.ปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุมในทันที เพราะมวลชนจำนวนมากยังโกรธแค้นต่อความรุนแรงของรัฐเมื่อวันที่ 10 เมษายน และต้องการให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ไม่ใช่มอบตัวต่อดีเอสไอ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลมากเกินไป ข้อเรียกร้องนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจากรับบาล จึงทำให้การชุมนุมต้องยืดเยื้อออกไป ส่งผลให้ภาพพจน์ของนปช. กลายเป็นฝ่ายที่ดื้อดึง บิดพลิ้ว ไม่ยอมทำตามข้อตกลง สื่อมวลชนกระแสหลักพากันโจมตีว่า นปช. ต้องการให้เกิดการแตกหัก  พร้อมเอามวลชนเข้าแลก  และเมื่อรัฐบาลเห็นว่า นปช.กำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในทางการเมือง สูญเสียความชอบธรรมในสายตาสาธารณชน (โดยมีสื่อกระแสหลักเป็นตัวหนุนช่วย) รัฐบาลจึงฉวยโอกาสนี้ยุติการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ และระดมกำลังทหารเข้าสู่กรุงเทพฯเพื่อสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในที่สุด     
               
                 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ศอฉ.ได้เริ่มยุทธการ “กระชับวงล้อม” จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปจำนวนมากแล้วนั้น สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งนำโดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. กระทั่งในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม กลุ่ม ส.ว.ได้ไปประชุมกับแกนนำ นปช. และแถลงร่วมกันบนเวทีการชุมนุมที่ประประสงค์ว่า แกนนำ นปช. เห็นชอบกับข้อเสนอของ ส.ว. และจะให้นายประสพสุขประสานงานไปยังรัฐบาล ทว่าวันรุ่งขึ้น รัฐบาลเลือกที่จะเดินหน้าสลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาด 

    โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่าการเจรจากับ นปช.ล้มเหลว เพราะ นปช. ปฏิเสธไม่ยอมสลายการชุมนุม อ้างว่าการเจรจากับ นปช.ล้มเหลว เพราะ นปช.ปฏิเสธไม่ยอมสลายการชุมนุม แต่ปากคำของผู้นำการเจรจา พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ระบุรัฐบาลไม่ยินยอมยุติแผนการสลายการชุมนุม เพราะได้วางแผนสลายการชุมนุมอย่างเป็นขั้นตอนไว้แล้ว[11]    สอดคล้องกับบทสรุปความสำเร็จในยุทธการสลายการชุมนุมของทหารที่ว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะใช้มาตรการทางทหารเพื่อยุติการชุมนุม ไม่ใช่เพื่อเจรจา โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ศอฉ. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ให้ทหารเริ่มมีปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้[12]  

    รัฐละเมิดขั้นตอนการสลายการชุมนุมอย่างสิ้นเชิง

                ตามหลักสากลได้กำหนดว่า การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์  การใช้กำลังและอาวุธจะต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต (non-lethal weapons) ในการควบคุมฝูงชนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และลดความสูญเสียและบาดเจ็บ  การใช้อาวุธสังหารต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายและใช้ได้เพื่อป้องกันตนเองและปกป้องชีวิตผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนั้นหากมีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หน่วยแพทย์ต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที 

               แม้ว่า ศอฉ. ได้ประกาศว่ารัฐได้ใช้ 7 ขั้นตอนเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัวในวันที่ 10 เมษายน โดยเริ่มจากเบาไปหาหนักตั้งแต่แสดงกำลัง, ใช้โล่ดัน, ฉีดน้ำ, ใช้เครื่องขยายเสียงกำลังส่งสูง, ใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และใช้กระสุนยาง  แต่ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษายน หรือก่อนที่ “ชายชุดดำ” จะปรากฏตัวในช่วงหัวค่ำเพื่อยิงต่อสู้กับฝ่ายทหาร  ก็มีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางและกระสุนจริงบริเวณจุดสำคัญหลายราย  แม้ว่า ศอฉ. ได้ประกาศเกณฑ์การใช้กระสุนจริงไว้ใน 3 กรณี คือ
    1.เพื่อยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า
    2.เพื่อยิงต่อเป้าหมายเมื่
    อสามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดที่ถืออาวุธร้ายแรง อาวุธสงคราม ลูกระเบิดที่จะสามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้บริสุทธิ์
    3.ยิงเพื่อป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่เมื่อจะถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้
               แต่ลักษณะของการเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนปืน   ขณะที่มาก กว่าครึ่งพบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ข้อมูลบาดแผลและสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว ไม่เพียงชี้ว่าปฏิบัติการทางทหารนี้ไม่ได้ดำเนินการตามกฎการใช้กำลัง 3 ข้อของ ศอฉ. แต่ยังส่อให้เห็นว่าการยิงของเจ้าหน้าที่เป็นการยิงที่มุ่งปลิดชีวิตของประชาชนด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพได้ตกเป็นเป้ายิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆที่พวกเขาแสดงตนชัดเจนว่าไม่มีอาวุธและเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ  

    กระบวนการ(ไม่)ยุติธรรมหลังสลายการชุมนุม      
      
                 ในช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม ได้มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง เช่น มัดมือไพล่หลัง จับให้นอนคว่ำ มัดมือมัดเท้า ผูกตา ทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมขณะทำการจับกุม ตลอดจนมีการจับกุมพระภิกษุสงฆ์มัดมือไพล่หลัง และถูกบริภาษด้วยคำหยาบคาย เป็นต้น    
        
                 การจับกุมและดำเนินคดีผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไร้หลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่น่าละอายอย่างยิ่ง กล่าวคือ

                 หลายกรณี เจ้าหน้าทีสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงภาพถ่ายในบริเวณที่ชุมนุม โดยไม่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ว่า  ผู้ถูกจับกุมได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เช่น กรณี ดาบตำรวจ สันติเวช ภูตรี ไปตามหาลูกสาวและตำรวจถ่ายภาพไว้ ต่อมา ตำรวจสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงแค่
    ภาพถ่าย ทำให้เขาถูกต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือกรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด ประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น

                 ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ดังนั้น หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็มักอาศัยเพียงคำรับสารภาพของจำเลย โดยไม่ต้องสืบพยาน-หลักฐานประกอบคำรับสารภาพ และมักตัดสินภายในวันเดียว ปัญหาคือ  การที่ผู้ต้องหาเลือกรับสารภาพอย่างรวดเร็ว มีหลายสาเหตุด้วยกันคือ บางรายถูกข่มขู่และซ้อมทรมาน บางรายหลังจากถูกขังอยู่หลายวันก็ยังไม่มีโอกาสได้พบญาติหรือปรึกษาทนายความ บางรายตำรวจจูงใจว่า หากรับสารภาพ ศาลก็จะรอลงอาญาเพราะโทษไม่สูง บางรายถูกบังคับให้เซ็นเอกสารในการจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารหรืออ่านไม่ออก เช่น ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร เป็นต้น

                 นอกจากนี้ ในคดีที่ยังไม่เด็ดขาด จำเลยขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว แม้จำเลยจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันจากกองทุนยุติธรรม และวงเงินในการประกันตัวก็สูงมาก ศาลมักอ้างว่าคดีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งการที่ศาลไม่ให้ประกัน ทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนถูกคุมขังเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด หรือถูกขังเกินโทษของตน ซ้ำร้ายแม้ในกรณีที่ศาลสั่งยกฟ้องจำเลย แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างที่อัยการอุทธรณ์[13]  

    ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม

          ไม่นานหลังการปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดง เสียงเรียกร้องให้มีการสมานฉันท์ สามัคคี ปรองดองก็ดังกระหึ่มขึ้น เสียงร้องเหล่านี้มักแฝงมากับการบอกให้ประชาชนช่วยกัน“ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า” “ห้นหน้ามาคืนดีกัน” “เลิกแบ่งสีแบ่งฝ่าย” ซึ่งแท้ที่จริงก็คือการบอกให้ผู้ถูกกระทำ “ลืม เงียบเฉย และยอมจำนน” ต่อความอยุติธรรมนั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจและปัญญาชนที่สนับสนุนพวกเขากระทำบ่อยครั้งในอดีต ดังจะเห็นว่าความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายหนในประเทศไทย จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน เปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย     

                  ความเงียบและการยอมจำนนของเหยื่อ จึงเป็นด้านมืดของวัฒนธรรมการเมืองไทยที่บูชา “ความมั่นคง” “ความสามัคคี” “ความปรองดอง”  แต่ดูถูกเหยียบย่ำสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ช่วยกันโอบอุ้มประเพณีของการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) เป็นภาวะด้านชาและมืดบอดต่อความเจ็บปวดของคนร่วมสังคมเดียวกัน  เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับจิตวิญญาณของการเป็นพลเมืองไทยที่ดี ที่ถูกกล่อมเกลาด้วยวาทกรรมรักชาติตลอดมา

                  ในขณะที่ปัญญาชนในสังคมมักหยิบยืมแนวคิด ทฤษฎี วาทกรรมจากตะวันตกเพื่อแสดงถึงความทันสมัยของตนเอง แต่เมื่อต้องรับมือกับปัญหาความรุนแรงและความอยุติ
    ธรรมภายในสังคมไทยที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มอำนาจเดิม ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ฐานอำนาจอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พวกเขากลับไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนใด ๆ จากสังคมภายนอกได้เลย แม้แต่ คอป. ที่ยืมเอาแนวคิดเรื่องการแสวงหาความจริง ในฐานะที่เป็นด้านที่แยกไม่ได้จากการแสวงหาความยุติธรรม ก็ดูจะรับเอามาแต่ส่วนที่เป็นวาทศิลป์ มากกว่าจะรับเอาแก่นสารของแนวคิดดังกล่าวมาผลักดันให้เป็นจริง ขณะที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สังคมต้องรับรู้ “ความจริง” และรื้อฟื้น “ความยุติธรรม” ให้กับเหยื่อ แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ไม่สามารถสลัดหลุดออกจากความปรองดองแบบไทย ๆ ที่มุ่งปกป้องสถาบันอำนาจในสังคมเป็นสำคัญ 

                   หากเราหันไปดูสังคมอื่นที่เคยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ เช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ อย่างน้อยที่สุด ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือ การเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน  ในสังคมเหล่านี้ ความจริง และความยุติธรรมดูจะเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญมากกว่าการปรองดอง ความสามัคคี ความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ เพราะพวกเขาเชื่อว่า หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้การละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรงโดยอำนาจรัฐเกิดขึ้นอีก ก็ด้วยการเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต ใครคือผู้สั่งการ ใครคือผู้สมรู้ร่วมคิดก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนร่วมแผนของตน อุดมการณ์แบบไหนที่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถระดมคนชาติเดียวกันให้ช่วยกันสังหารคนอีกกลุ่มหนึ่งได้อย่างเลือดเย็น โครงสร้างทางอำนาจหรือระบบราชการหรือระบบกฎหมายแบบใด ที่อนุญาตให้ผู้สั่งการเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถรอดพ้นจากการรับผิดได้ ใครบ้างที่จะต้องถูกลงโทษ  ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศอื่น ๆ เห็นความสำคัญของการแสวงหาความจริง และร่วมกันต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อให้ได้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะต้องเสี่ยงภัยและใช้เวลาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอย่างเนิ่นนานก็ตาม  

                  แต่ในกรณีของไทย เสียงเรียกร้องให้มีความปรองดองนั้นดังกระหึ่ม ขณะที่เสียงเตือนให้สังคมต้องมุ่งไปที่การแสวงหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กลับอ่อนแอกระปลกกระเปลี้ย สำหรับสังคมไทย ความจริงและความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญแม้แต่น้อย ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและบรรดาปัญญาชนที่ช่วยปกป้องอำนาจเหล่านี้ต่างช่วยกัน “มอมยา” ให้ผู้คนในสังคมคล้อยตามไปกับการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยไม่ต้องคิดมากว่า เหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐจะกลับมาทำร้ายประชาชนในอนาคตซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหรือไม่ เราอยู่กับปัจจุบันเสียจนไม่ยี่หระกับอนาคตของตนเอง ไม่หยี่หระต่ออนาคตของสังคมไทย ไม่หยี่หระกับโศกนาฏกรรมที่เราทิ้งไว้ให้กับของคนรุ่นหลัง

                  ฉะนั้น ความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในนามของ ศปช. ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จึงเกิดขึ้นด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง หากผู้คนในสังคมนี้ไม่กลายเป็นโรคความจำเลอะเลือนทางการเมืองไปหมดเสียก่อน เราจะสามารถสถาปนาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปราบประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดได้ในที่สุด เรามีความหวังว่าข้อมูลที่เรารวบรวมขึ้นมานี้จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคตได้บ้าง  

                  รายงานฉบับนี้จึงเป็นเสมือนคำประกาศของ ศปช. ต่อสังคมไทยว่า  วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้ ศปช. ขอประกาศว่า ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน   

    ณ จุดหนึ่งบนแผ่นดินที่เปื้อนเลือด
    กรกฎาคม 2555         

    [1] เป็นข้อความจากเฟซบุ๊คของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้

    งประเทศ 6 ตอนนิรโทษกรรมกับ 91 ศพ”, เขียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2011 สืบค้นจาก https://www.facebook.com/note.php?note_id=218400991534000 (วันที่ 20 มิถุนายน 2555).

    [2] คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการให้มี คอป. และมีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติพ.ศ. 2553

    [3] แม้ว่าคดีผู้เสีชีวิตจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 จะอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ แต่เมื่อสืบสวนสอบสวนแล้วเชื่อได้ว่า ความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพนั้น เพื่อดำเนินการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150, เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในกลางปี 2554 แล้ว คดีผู้เสียชีวิตจึงเริ่มมีความก้าวหน้า กระทั่งมีหลายคดีที่กระบวนการไปถึงขั้นไต่สวนการตายในชั้นศาลอยู่ในขระนี้

    [4] คอป.ระบุไว้ในหลักการ ปรัชญา และแนวคิด” ในการดำเนินงานของตนชัดเจนว่า “คอป.ไม่ใช่องค์กรด้านตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแต่งต้งขึ้นมาเพื่อตัดสินคดี หรือชี้ว่าใครถูกใครผิด สมควรต้องถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่” ดู “รายงานความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ 1 (17 กรกฎาคม 2553-16 มกราคม 2554). เผยแพร่เดือนเมษายน 2554, หน้า 4.

    [5] ดูรายละเอียดและข้อวิจารณ์ใน “อนุกรรมการสิทธิฯ ส่งบันทึกถึง “อมรา พงศาพิชญ์” แนะพิจารณาร่างรายงานกสม.ให้รอบคอบก่อนเผยแพร่”, ประชาไท. วันที่ 9 กรกฎาคม 2554 สืบค้นจาก  http://prachatai.com/journal/ 2011/07/35945 (วันที่ 20 มิถุนายน 2555).  

    [6] เป็นข้อมูลที่ พ.ต.ท. สมชาย เพศประเสริฐ สส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นำมาแถลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 ที่รัฐสภา ดู “จตุพรดวลเทือก แดงเดือดชุมนุมวันนี้ครึ่งแสน,” ข่าวสด. วันที่ 19 มีนาคม 2554: รายงานพิเศษเรื่อง “ตรวจพลหลังศึกอภิปรายกระสุน-เสื้อแดง-แตงโม,” มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 (25-31 มีนาคม 2554) หน้า 14, 16; “ตัวเลขเป๊ะๆ หลุดมาได้อย่างไร” เสียงบ่นจากพล.อ.ดาว์พงษ์ กรณียอดเบิกจ่ายกระสุน ‘พฤษภามหาโหด’, มติชนออนไลน์, 25 มีนาคม 2554. สืบค้นจาก  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=
    1301039135&grpid=no&catid&subcatid

    [7] ตัวเลขการเสียชีวิตดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลของ ศปช. ณ เดือนกรกฎาคม 2555 โดยนับเฉพาะความสูญเสียช่วงเวลาตั้งแต่ นปช.เคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 และรวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากช่วงเวลาดังกล่าว แต่มาเสียชีวิตในภายหลังด้วย ทั้งนี้ ศปช.นับกรณีการเสียชีวิตของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ว่าเป็นการตายของพลเรือน เนื่องจากเป็นผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง  

    [8] ได้แก่ จ.ส.อ.พงศ์ชลิต ทิพยานนทกาญจน์ ถูกยิงบริเวณสีลม-ศาลาแดง วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 และส.อ. อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ ถูกระเบิดที่ถนนสารสิน วันที่ 19 พฤษภาคม 2553.โดยจากรายงานขาวระบุว่าถูกยิงจากทหารที่คุมพื้นที่อยู่ในบริเวณ และ ส.อ.อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ ถูกสะเก็ดระเบิดข้างสวนลุมพินี เมื่อเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ดูรายงานข่าวกรณี จ.อ.อ.พงษ์ชลิตใน “ทหารยิงทหารตายเจ็บที่สีลม”, ข่าวสด. วันที่ 18 พฤษภาคม 2553; “ระทึกม็อบตอบโต้ รถน้ำมันขวางถนน”, ไทยรัฐ, วันที่ 18 พฤษภาคม 2553.

    [9] หัวหน้าควง “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553”, เสนาธิปัตย์. ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2553).

    [10] ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในบท “ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53” และ “ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง พฤษภา 53” และ และรายงานของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน Thailand License to Kill. 8 July 2010  ในภาคผนวก

    [11] “รัฐบาลจ่อสลาย เลิศรัตน์รับล้มแผนเจรจา”, ไทยรัฐออนไลน์. วันที่ 19 พฤษภาคม 2553. www.thairath.co.th/content/pol/83901.

    [12] หัวหน้าควง, “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ.2553, หน้า 58.

    [13] เช่น คดีที่รู้จักกันในชื่อ “ผู้หญิงยิง ฮ.” โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ศาลจังหวัดพระโขนงยกฟ้องทุกข้อหาต่อ นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์, สุรชัย นิลโสภา ,ชาตรี ศรีจินดา  หลังจากได้คุมขังพวกเขาเป็นเวลา 15 เดือน แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้คุมขังพวกเขาไว้ก่อนในระหว่างที่รออัยการออุทธรณ์คดี  ดู “ศาลยกฟ้องทุกข้อหา! คดีผู้หญิงยิง ฮ.แต่ยังไม่ปล่อยตัว หลังขังไปแล้ว15เดือน” ประชาไท. วันที่ 11 สิงหาคม 2554 สืบค้นจาก http://prachatai.com/journal/2011/08/36629  (20 มิถุนายน 2555). 

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล 
    คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai


    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น