วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

"ผู้พิพากษาคดีอากง" ไม่ใช่เป็นผู้พิพากษาแล้วเขียนส่งเดช

"อาจารย์เนติบัณฑิต" เตือน "ผู้พิพากษาคดีอากง" ไม่ใช่เป็นผู้พิพากษาแล้วเขียนส่งเดช
อาจารย์สถิต ไพเราะ

           คำบรรยายดังกล่าวต่อไปนี้ เป็นถ้อยคำที่ถอดมาจากคำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา 
สมัยที่ ๖๕ ซึ่งสอนโดย อ.สถิตย์ ไพเราะ อดีต ผู้พิพากษา  ประเด็นในคำพิพากษาดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขว้างในวงการนักกฏหมาย ถ้อยคำในคำพิพากษา เทียบเคียงกับบทเรียนได้หลายอย่าง ทั้งปัญหาในการปล่อยตัวชั่วคราว การฝากขัง การพิสูจน์พยานหลักฐาน การรับฟังพยานหลักฐาน  ไม่ได้อยากแก้ตัวในฐานะทนายความแต่อยากให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไปข้างหน้าอย่างสง่างาม จึงเห็นควรนำมาเผยแพร่ไว้เพื่อศึกษากันต่อไป


มีคนถามเรื่องคดีอากงนะครับ

         รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ สันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธ์ เป็นหลักทั่วไป เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์คุณก็ต้องให้ประกัน ง่ายๆไม่ได้ลึกซึ้งอะไร โดยหลักการแล้วเมื่อถูกฟ้อง ศาลยังไม่พิพากษาว่ากระทำผิดหลักก็ต้องให้ประกันตัว หากไม่ให้ประกันตัวก็ต้องให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ให้ และเหตุผลก็ต้องเป็นเหตุผลที่มีเหตุผล 

         เหตุผลที่ไม่มีเหตุผลเช่นผมถูกตั้งให้ปลดสำนวน เวลาปลดสำนวนต้องอ่าน
สำนวนทุกเรื่อง ผมก็ไปเจอสำนวนหลายเรื่องที่แปลกๆที่ คดีแรกจำเลยถูกฟ้องว่าลักช้าง ศาลสั่งว่า “ลักทรัพย์ใหญ่ใจอาจหาญไม่อนุญาต” เหตุผลนี้ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความกฎหมายไม่ได้เขียนอย่างนั้น  อีกสำนวนจำเลยถูกกล่าวหาว่าลักเข็มด้าย ลักของเล็กๆน้อยๆในบ้าน ศาลสั่งว่า “ลักเล็กขโมยน้อยไม่อนุญาต” กฎหมายไม่ได้เขียนว่าลักเล็กขโมยน้อยไม่อนุญาติ 
ไม่มีหลักอะไร  

         ในคดีอากงศาลสั่งในเรื่องประกันตัวว่า “ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง” เขียนอย่างนี้ตั้งแต่ในชั้นยังไม่ได้สืบพยานเลย แสดงว่าศาลเชื่อแล้วว่าที่ฟ้องมาเป็นความจริง  การเป็นผู้พิพากษาอ่านฟ้องเชื่อแล้วเป็นผู้พิพากษาได้อย่างไร ต้องฟังพยานก่อนจึงจะเขียนได้ “ข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหากระทบความรู้สึกประชาชน” 

          เขาพึ่งบรรยายฟ้องมายังไม่สืบพยานเลยบอกว่ากระทบแล้วได้อย่างไร 
ต้องสืบพยานเสียก่อน  ตัดสินโดยยังไม่ได้ฟังพยาน ไม่ใช่วิสัยผู้พิพากษาพึงกระทำเด็ดขาด คำฟ้องจะด่าว่าเลวร้ายอย่างไรก็เป็นคำฟ้องเท่านั้น 

         ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าถูกผิดอย่างไร และเดาต่อไปว่า  “หากผลการ
พิจารณาสืบพยานหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี”  ศาลเริ่มเดาว่าถ้ามั่นคงจำเลยอาจหลบหนี แล้วถ้าเดาผิดใครรับผิดชอบ เอาคุณไปขังแทนไหม ไม่ได้ หลักอย่างนี้ไปเดาเอา รู้อย่างไรจะมั่นคงไม่มั่นคงก็เดาเอา เป็นการเดาที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยเขา ไม่ใช่ลักษณะของศาลซึ่งเป็นคนกลางจะสั่งอย่างนี้  คำสั่งผิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความ
ถ้าถามผมนะครับ 

         และคำเดานี้ผิดด้วย เพราะอะไรคำพิพากษาในคดีเองนี้เขียนว่า “แม้โจทก์ยังไม่สามารถนำสืบพยานอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้อง”  แสดงว่าที่ศาลเองยอมรับว่าโจทก์เองไม่สามารถสืบพยานให้ชัดแจ้งได้ 

        เขียนอย่างนี้แสดงว่าที่สั่งในชั้นประกันตัวผิด แต่ปรากฎว่าศาลเองก็ทำผิด
ครั้งที่สองคือไปลงโทษจำเลยถ้าพยานไม่ชัดแจ้งคุณไปลงโทษจำเลยได้อย่างไร ขัดกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา ๒๒๗ เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ชั่งน้ำหนักพยาน อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำ  คำว่าแน่ใจก็คือชัดแจ้ง เมื่อคุณบอกว่าไม่ชัดแจ้งคุณไปลงโทษได้อย่างไร

        ยิ่งตอนท้ายยิ่งเขียนผิดใหญ่เลย “แต่เป็นการยากที่โจทก์จะสืบด้วยประจักษ์พยาน” มีกฎหมายใดที่บอกว่าเป็นการยากแล้วจะมั่วลงโทษจำเลยได้ หลักมีอันเดียวคือพยานโจทก์ต้องแน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อม ไม่ใช่ว่าพยานแวดล้อมแล้วมั่วลงโทษได้นะครับ และคำพิพากษานี้ก็จะอยู่ไปจนตายเพราะคำพิพากษานี้ไม่ได้แก้ เนื่องจากอากงตายไปแล้ว จะถูกวิจารณ์ชั่วกาลปาวสานเพราะศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่ได้แก้  อย่างนี้ผมเข้าใจว่าถ้าขึ้นศาลสูง ศาลสูงไม่ปล่อยไว้หรอกเพราะมันผิดกฎหมาย ขัดมาตรา ๒๒๗ อย่างชนิดที่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกเลย  เป็นนักกฎหมายหลักต้องมีไม่ใช่เขียนส่งเดช

         หากเป็นผู้พิพากษาอย่าไปทำ ไม่ใช่เรามีอำนาจทำไปเรื่อย คนที่อ่าน
กฎหมายไม่ใช่มีแค่เรา ท่านอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านเขียนว่าไปศาลทำตามอำเภอใจก็ถูกของท่าน

        อ.สถิตย์ ไพเราะ คำบรรยายวิชากฎหมายอาญา เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ ๖๕ 
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น