วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต


บันทึกถึงสิ่งที่ขาดไป : รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต

นางธิดา ถาวรเศรษฐ         ท่านประธาน นปช. กรุณาเขียนชี้แนะหลักในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ผู้ทำบันทึกเห็นว่าเป็นหลักที่ดีในการจัดการกับปัญหาบนจุดยืนระหว่างมิตร,มิ ใช่ศัตรู  นำเสนอได้ถูกต้องกับเวลา แต่ยังมีที่ขาดตกบกพร่องไป ข้อชี้แนะของท่าน เรียกร้องให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ นปช. ควรใช้ท่าทีที่ถูกต้อง อันเป็นการวิจารณ์ผู้วิจารณ์  ยังไม่ได้กล่าวถึงผู้ถูกวิจารณ์ พูดง่ายๆก็คือ ด้านเดียว

         ผู้ทำบันทึกขอข้าม เรื่อง” แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ไป เพราะเห็นว่าได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ หลักข้อนี้กันมามากแล้ว แต่ขอบันทึกข้อสังเกตุว่า   หลักนี้ใช้กับความสัมพันธ์ประเภทที่เรียกกันว่า “ แนวร่วม “ ซึ่งความสัมพันธ์ชนิดนี้ บางเวลา คู่ความขัดแย้งที่เป็นศัตรูกัน ก็สามารถมาร่วมมือกันได้ชั่วระยะเวลาในการจัดการกับความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า
หลักในการกำหนดวิธีการไปแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชน อันมีหลักอยู่ 3 ประการนั้น นำเสนอเพื่อแก้ไขวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดความขัดแย้งในพรรคปฏิวัติ มาตราฐานการเรียกร้องจึงสูงโดยเฉพาะการเรียกร้องให้” เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนต่อผู้อื่น “ ส่วนที่เห็นว่ายังขาดไปนั้น อยู่ที่ ประการที่ 3 ซึ่งอาจกล่าวได้ดังนี้

1.สามัคคี – วิจารณ์ – สามัคคี

       ข้อนี้จัดเป็นท่วงทำนองทั่วไป ที่เน้นความสามัคคีเป็นหลัก วิจารณ์ข้อบกพร่อง ก็เพื่อยกระดับให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน บรรลุถึงความสามัคคีกันในขั้นใหม่ ขจัดข้อบกพร่อง ยกระดับไปสามัคคีขั้นที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก เช่นนี้ไปไม่สิ้นสุดอันเป็นวิภาษวิธีนั่นเอง

2.รักษาโรคเพื่อช่วยคน  

       ข้อนี้เน้นที่การวิจารณ์ใดๆในหมู่มิตรสหายร่วมแนวรบเดียวกันนั้น อย่าไปโจมตีเหมือนเขาเป็นศัตรู ต้องเริ่มต้นจากจุดยืนที่เขาและเราก็ต่อสู้อยู่ในแนวรบเดียวกัน มีศัตรูตัวเดียวกัน เขาก็รักความเป็นธรรมเหมือนเรา เสียสละเหมือนเรา ฉะนั้น ถ้าเห็นว่ามีข้อบกพร่องใดๆ เราก็เริ่มต้นจากความพยายามที่จะช่วยเขาขจัดข้อบกพร่องนั้น เพื่อยกระดับเขาขึ้นมา ไม่ใช่ใช้ท่าทีไปทำลายเขาเหมือนที่ใช้ทำลายศัตรู  วิธีการในข้อนี้จะเห็นว่าใช้เรียกร้องกับผู้ที่วิจารณ์

3.รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต

        ข้อนี้เน้นที่ผู้ถูกวิจารณ์  เมื่อมีผู้วิจารณ์(หรือโจมตี)เรา ก็ต้องพิจารณาสิ่งที่เขาวิจารณ์(หรือโจมตี)นั้นที่เนื้อหาที่เขาวิจารณ์  ไม่ใช่ตัดสินที่ท่วงทำนองที่เขาใช้กับเรา ถ้าเห็นว่าเขาใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการวิจารณ์ ก็ไปทำความเข้าใจเรื่องท่วงทำนองกับผู้วิจารณ์ได้ ให้การศึกษาเขาได้ แต่จะไม่สนใจเนื้อหาที่เขาวิจารณ์เพียงเพราะใช้ท่วงทำนองไม่ถูกต้องนั้นยิ่ง ไม่ได้ใหญ่  ถ้าเขาวิจารณ์ในเนื้อหาผิด ก็ค่อยๆไปทำความเข้าใจกับเขา ถ้าเนื้อหาที่เขาวิจารณ์มาถูกต้อง เราก็ต้องรีบมาพิจารณาข้อบกพร่องนั้น วิจารณ์ตนเองอย่างมีสำนึก แล้วรีบหาทางแก้ไขอย่าให้เสียหายต่อขบวนการ ข้อนี้จะเน้นให้สรุป

       รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต นั้น นอกจากเสนอให้แก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อก้าวเดินต่อไปแล้ว  ในกรณีที่เป็นองค์กรนำ แม้จะไม่ผิดตามที่วิจารณ์ ก็ต้องเรียกร้องตนเอง โดยถือว่า “ ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวรณ์ “ เริ่มต้นด้วยท่าทีทีเป็นมิตรและรับฟังอย่างน้อมใจ อันเป็นท่าทีที่ “ สามัคคี “ แล้วจึงค่อยๆไป “ วิจารณ์ “ เขา ทำความเข้าใจกับเขา ยกระดับเขา แล้วสามารถ “ สามัคคี “ กับเขาได้ ก้าวต่อไป

         ความเป็นองค์กรนำนั้น  โดยธรรมชาติมักขยายความขัดแย้งไปโดยไม่รู้ตัว    ในอดีต พรรคปฏิวัติเก่า เคยทำความผิดพลาดข้อนี้มา เมื่อการปฏิวัติเกิดความชะงักงัน ไม่สามารถขยายตัวจากเขตป่าเขาลงสู่ที่ราบได้ ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากได้เสนอให้วิจารณ์ข้อบกพร่องในการทำงาน พยายามค้นคว้าหาทางแก้ไขสภาพที่ชะงักงันนั้น แน่นอน ย่อมมีการวิจารณ์ท่วงทำนองและวิธีคิดของฝ่ายนำด้วย เมื่อปัญหานี้ขยายตัวไป

        แทนที่จะค้นคว้าข้อผิดพลาดที่ตัวทำมา ฝ่ายนำกลับทำผิดซ้ำหนักเข้าไปอีกโดยขยายความขัดแย้งไปโดยไม่รู้ตัว เริ่มต้นจาก โจมตีผู้วิจารณ์เป็นนายทุนน้อยมีความเคยชินที่ไม่ดีของสังคมเก่าติดเกรอะ กรัง, ผู้วิจารณ์ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง,ไปจนถึงผู้วิจารณ์จะช่วงชิงการนำ, เป็นอันตรายต่อความคิดชนชั้นกรรมาชีพ, เป็นอันตรายต่อการปฏิวัติ    แม้จะใช้ท่าทีที่ดูดุเดือดก้าวร้าว แต่ผู้วิจารณ์ก็เริ่มต้นแค่ปัญหาการบริหารจัดการของการทำงานอันเป็นปัญหาราย วันที่เกิดขึ้นทุกๆองค์กรเท่านั้น แต่ฝ่ายนำกลับขยายมันไปเป็นปัญหาจุดยืนทางชนชั้น  สุดท้ายพรรคปฏิวัติเก่านั้นก็หกคะเมนล้มคว่ำไป ทั้งท่านประธาน นปช.,และ คนอื่นรวมทั้งผู้ทำบันทึก ก็อยู่ในเหตุการณ์นั้น และรับเป็นบทเรียนกันมาแล้ว สมควรที่จะระมัดระวังกันต่อไป

         ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนำนั้นย่อมสูงกว่า นอกเหนือไปจากการค้นคว้าชี้นำทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างกระตือรือร้นแล้ว ยังเรียกร้องให้หนักแน่นมากกว่าผู้ปฏิบัติงาน(หรือมวลชน)ด้วย เมื่อเกิดการวิจารณ์(หรือโจมตี)ขึ้น  จะโต้ตอบก็ต้องกระทำอย่างผ่อนปรนและอย่างมีการจำแนก แต่จะต้องไม่ขยายความขัดแย้งโดยเด็ดขาด ท่าทีแบบ “ มาไม้ไหน ไปไม้นั้น” ใช้กับศัตรูเท่านั้น สำหรับมิตรร่วมแนวแล้ว ต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็น “ สามัคคี – ประจาน – แตกสามัคคี “ ไป  เมื่อมีผู้วิจารณ์(หรือโจมตี)มา ก็ถือเป็นโอกาสสำรวจสิ่งที่ทำมาเสียเลยว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่, ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่, ก้าวล้ำหน้ามวลชนไปหรือไม่ หรือว่าล้าหลังมวลชน เหล่านี้เป็นภาระที่ฝ่ายนำต้องสำรวจและค้นคว้าอยู่ตลอด

       ผู้ทำบันทึกขอขอบคุณท่านประธาน นปช. ในโอกาสที่ได้ฟื้นฟูหลักคำสอนเกี่ยวกับการจัดการกับความขัดแย้งมาในครั้งนี้ และขออภัยท่านผู้อ่านที่บันทึกนี้แคบและมีลักษณะเฉพาะ  แต่หลักการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมานั้นกว้างและมีลักษณะทั่วไป  ไม่เพียงแต่เคยใช้ในพรรคปฏิวัติเท่านั้น ยังใช้กับองค์กรแนวร่วมและองค์กรที่มีลักษณะเดียวกันไปบรรลุความเข้มแข็งของ องค์กรได้เช่นกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น