วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อังถัดประทับใจ 30 บาทรักษาทุกโรค

อังถัดประทับใจ 30 บาทรักษาทุกโรค ยกไทยไม่ต้องรวยแต่ทำให้ปชช.มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

 
           เลขาธิการสปสช. เผยได้รับหนังสือจากกระทรวงต่างประเทศ รายงานผลการหารือของนายกรัฐมนตรีระหว่างเยือนเจนีวา สวิสฯ เผยเลขาธิการอังถัดชื่นชม 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ยกต้นแบบไม่ต้องรวยก็สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนได้ ด้านนายกรัฐมนตรียินดีไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศที่สนใจ

 
          นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับหนังสือรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องผลการหารือระหว่างเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขนั้น เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนาหรืออังถัด (UN Conference on Trade and Development-UNCTAD) รู้สึกประทับใจกับระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างมาก ทั้งยังระบุว่า เป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศรวยก็สามารถส่งเสริมสุขภาพถ้วนหน้าได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 12 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลัก 30 บาทรักษาทุกโรค กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยระบุว่าเมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาครั้งล่าสุด ที่โมซัมบิก ยูกันดา แทนซาเนีย ไทยได้ประกาศนโยบาย Thai-Africa Initiative ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพนี้ด้วย

 
        เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในการประชุมเวทีโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมและสุขภาพ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมอย่างมากในการเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้ โดยมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระกับประมาณของประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในการเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ทำให้ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการศึกษาดูงานและขอคำแนะนำ ปัจจุบัน สปสช. ได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากร การเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับประเทศต่างๆที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และการเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น