วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระวิหาร: เรามาถึงจุดเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

พระวิหาร: เรามาถึงจุดเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

         เพราะแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ระบุชัดเจนว่า “ด้วยเจตนารมณ์แห่งไมตรีจิตและการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท” ซึ่งก็คือ ไม่มีการเอาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยนั่นเอง
แถลงการณ์ร่วมฯ ยังระบุอีกว่า “ในระหว่างที่ยังไมมีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมกาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ในพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือ แผนบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและของไทย” สิ่งนี้หมายความว่าไทยและกัมพูชาได้บรรลุข้อตกลงที่จะบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน อันเป็นแนวทางที่น่ายกย่องชื่นชม ทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้กับได้
ประการสำคัญ แถลงการณ์ร่วมระบุไว้ชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาและไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของทั้งสองประเทศ
แต่ความสำเร็จที่ใช้เวลาเจรจาต่อเนื่องถึงสามรัฐบาล (ทักษิณ-สุรยุทธ์-สมัคร) นี้ ก็ถูกทำลายลงด้วยพลังคลั่งชาติและความเกลียดชังทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา
แถลงการณ์กลายเป็นโมฆะ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ว่าแถลงการณ์ร่วมละเมิด รธน. มาตรา 190 เพราะมีสถานะเป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
ปัญหาคือ รธน.2550 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า หนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา คือ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย” เท่านั้น แต่ศาลกลับเพิ่มคำว่า “อาจจะ” เข้าไปในคำตัดสิน จึงเท่ากับว่า ศาลเพิ่มถ้อยคำลงไปใน รธน.เสียเอง โดยไม่สามารถยืนยันได้ว่าแถลงการณ์ร่วมทำให้ไทยสูญเสียดินแดนจริงหรือไม่
นอกจากนี้ เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ให้รัฐบาลสมัครระงับการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วม ต่อมารัฐบาลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  ประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ได้สั่งจำหน่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะที่ 2 แต่ต่อมาปรากฎข่าวว่า ก่อนที่องค์คณะที่ 2 จะลงนามในคำสั่ง ประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเปลี่ยนองค์คณะไปเป็นองค์คณะที่ 1 และวันที่ 11 กันยายน 2551 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ต่อมามีผู้ร้องต่อ ปปช. ประธานศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ ปปช.ก็ต้องหงายหลัง เมื่อคนในวงการตุลาการได้ช่วยกันออกมาปกป้องว่า ปปช.ไม่มีอำนาจหน้าที่มาตรวจสอบตุลาการ
สังคมไทยอยู่ในภาวะฝุ่นตลบหลายปี สื่อมวลชนจำนวนมากช่วยกันตอกย้ำว่าเพราะทักษิณต้องการทำธุรกิจในกัมพูชา, เรายังมีสิทธิทางกฎหมายที่จะทวงปราสาทพระวิหารคืนได้อีก, ทางขึ้นพระวิหารมีแต่ฝั่งไทยเท่านั้น มันจึงควรเป็นของไทย, กัมพูชาได้แต่ซากปรักหักพังไป แต่พื้นดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทย, ถ้าไม่ถอดพระวิหารจากมรดกโลก ไทยไม่เพียงเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แต่จะเสียพื้นที่ในภาคอีสานถึง 1.5 ล้านไร่ และพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เต็มไปด้วยแก๊สและน้ำมัน, ฮุน เซ็นเป็นคนชั่วร้าย ฯลฯ
และเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็รับเอาจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ มาเป็นของตนอย่างไม่รีรอ เขานำเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของไทยเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไปปะปนกับเรื่องตัวปราสาทพระวิหาร ด้วยการประกาศที่จะทำให้พระวิหารถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลกและขัดขวางแผนบริหารจัดการพระวิหารของกัมพูชาให้ถึงที่สุด ทั้งๆ ที่นายอภิสิทธิ์น่าจะรู้ดีว่า ไทยหมดสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำตัดสินศาลโลกไปตั้งนานแล้ว ฉะนั้น ตราบเท่าที่ไทยไม่มีหลักฐานว่ากัมพูชาเอาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การขึ้นทะเบียนมรดกโลกและบริหารจัดการพระวิหารย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของกัมพูชา ไทยในฐานะคนนอกไม่สามารถแทรกแซงได้ และด้วยเหตุผลนี้เอง ที่คณะกรรมการมรดกโลกไม่เคยสนใจคำประท้วงคัดค้านของผู้แทนไทยเลย ยังไม่นับว่าตัวแทนที่ถูกส่งไปนั้น ได้พยายามบิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนไทยเข้าใจผิดบ่อยครั้ง
กล่าวคือ เมื่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (คมล.) ในปี 2552 ที่สเปน ในการประชุมครั้งนี้กัมพูชาได้ขอเลื่อนการส่งแผนบริหารจัดการออกไปหนึ่งปี ซึ่ง คมล.ได้อนุมัติให้อย่างไม่มีปัญหา แต่รัฐบาลไทยกลับแถลงว่าคณะของนายสุวิทย์ได้นำชัยชนะชั่วคราวมาสู่ไทย เพราะสามารถทำให้ คมล.เลื่อนการจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกไปอีกหนึ่งปี สิ่งที่ประหลาดมากคือ สื่อมวลชนไทยทุกค่ายนำเสนอข่าวนี้โดยไม่เอะใจแม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ พระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กรกฎาคม 2551!
เรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกในปีถัดมา ในการประชุม คณะกรรมการมรดกโลก(คมล.) ที่บราซิล ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายอภิสิทธิ์ขู่ว่าไทยอาจถอนตัวจากสมาชิกของคมล. หากแผนบริหารจัดการพระวิหารได้รับอนุมัติ และไทยจะไม่ร่วมพิจารณาหารือเรื่องแผนบริหารจัดการ จนกว่าจะได้มีการตกลงปักปันเขตแดนเสียก่อน สิ่งที่อภิสิทธิ์เข้าใจผิดคือ ไทยไม่มีสถานะทางกฎหมายอะไรที่จะเข้าไปร่วมปรึกษาหารือการบริหารจัดการพระวิหาร เพราะนี่เป็นเรื่องระหว่างกัมพูชาและ คมล. เท่านั้น เขาไม่จำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากไทย
แต่สิ่งที่น่าฉงนฉงายยิ่งกว่าก็คือ นายสุวิทย์ได้แถลงว่าคณะของเขาสามารถล้อบบี้ให้ คมล.เลื่อนการพิจารณาแผนฯออกไปได้จนถึงปีหน้า อีกทั้งกัมพูชาทำแผนไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด เขายังกล่าวว่ากัมพูชาได้นำบางส่วนของพื้นที่ทับซ้อนไปทำแผนบริหารจัดการ แม้ว่าในรายงานอีกชิ้นหนึ่ง เขายอมรับว่าไม่มีโอกาสเห็นตัวแผนเลยก็ตาม คำแถลงดังกล่าวสร้างความยินดีปรีดาให้กับสื่อมวลชนอย่างล้นเหลือ นายสุวิทย์และคณะได้รับการยกย่องราววีรบุรุษกู้ชาติ (ยกเว้นนายสุวิทย์แล้ว ผู้ร่วมคณะต่างได้ดิบได้ดีกันไป)
แต่ปรากฏว่าสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาออกแถลงการณ์ตอบโต้คำกล่าวอ้างของนายสุวิทย์ ว่ากัมพูชาได้ยื่นแผนฯ และรายงานความก้าวหน้าในการอนุรักษ์พระวิหารแก่ศูนย์มรดกโลก ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่ คมล. ไปตั้งแต่มกราคม 2553 และศูนย์มรดกโลกยังมีความเห็นชื่นชมแผนฯของกัมพูชาอีกด้วย กัมพูชายังเยาะเย้ยไทยว่า ช่างไม่รู้ขั้นตอนการทำงานของ คมล.เอาเสียเลย แน่นอนว่าสื่อมวลชนไทยย่อมไม่ชายตาดูแถลงการณ์ตอบโต้จากฝ่ายกัมพูชา เดินหน้ายกย่องคณะของนายสุวิทย์ต่อไป
เท่านั้นยังไม่พอ ในการประชุม คมล.ในเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งใกล้วันเลือกตั้งทั่วประเทศ จู่ๆ นายสุวิทย์ ก็ประกาศว่าประเทศไทยขอถอนตัวจาก คมล. เพราะฝ่ายหลังไม่ยอมทำตามคำร้องของฝ่ายไทยที่ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการไปก่อน สุวิทย์ได้รับการสรรเสริญมากมายจากกลุ่มพันธมิตรฯ แต่เรื่องกลับโอละพ่อ เมื่อผู้อำนวยการ คมล.แถลงตอบโต้นายสุวิทย์อย่างทันทีทันควัน ว่าข้อกล่าวหาของนายสุวิทย์ไม่มีมูลความจริง ในที่ประชุมวันนั้น ไม่มีวาระพิจารณาแผนบริหารจัดการเลย
อันที่จริง นายอภิสิทธิ์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่านายสมัครและนายนพดล ที่จะอธิบายให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าไทยไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนอีกแล้ว สิทธิ์นั้นได้หมดไปตั้งแต่สิบปีหลังคำตัดสิน, ไทยต้องแยกแยะเรื่องปราสาทพระวิหารออกจากการปกป้องสิทธิ์ของไทยเหนือพื้นทีทับซ้อนรอบพระวิหาร, และมุ่งเจรจากับกัมพูชาเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น เสียงเตือนจากนักวิชาการที่เรียกร้องให้ผู้นำต้องมีสติ ไม่เช่นนั้นไทยอาจสูญเสียมากไปกว่าที่เสียไปแล้ว ดูจะไม่เข้าโสตประสาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์เสียเลย
นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะเล่นกับไฟชาตินิยม มุ่งถอดถอนพระวิหารออกจากสถานะมรดกโลก ทั้งๆ ที่เราไม่สิทธิ์เหนือโบราณสถานชิ้นนี้อีกแล้ว ยังไม่นับการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ ที่เคยด่าผู้นำกัมพูชาว่าเป็นกุ๊ย ให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการปิดโอกาสที่จะเจรจายุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างสันติ ขณะที่ผู้นำกัมพูชา นายฮุน เซ็น ก็พร้อมตอบโต้ด้วยคำพูดที่ดุเดือด ดูหมิ่นเหยีดดหยามนายอภิสิทธิ์ และใช้วิธีฉีกหน้า ด้วยการเชิญทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาของตน
เหตุการณ์บางส่วนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงนำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรงระหว่างไทยกับกัมพูชา ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน และการปะทะหลายครั้งหลายครา และครั้งที่รุนแรงที่สุดก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเมษายน 2554 จนในที่สุด ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 รัฐบาลกัมพูชาก็ตัดสินใจยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ว่าขอบเขตของพื้นทีที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่โดยรอบพระวิหารนั้นเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 หรือไม่
คำพิพากษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน ดูจะสร้างความเครียดให้กับคนไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างมาก แม้เรารู้ว่าทีมกฎหมายของไทยได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่เราก็ยังเครียด เพราะเรารู้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นอีกรอบ

ถ้าไม่มีการบิดเบือนสารพัดเพื่อมุ่งโค่นล้มรัฐบาลในฝ่ายของทักษิณอย่างไร้สติ ประเทศไทยก็ไม่ควรต้องเดินมาถึงจุดเสี่ยงนี้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น