วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

วุฒิสภาลงมติเอกฉันท์ 141 ต่อ 0 เสียง คว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

          วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมไว้พิจารณา หลังจากพิจารณาร่างนี้กว่า 10 ชม. ครึ่ง เตรียมส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนฯ ในขณะที่ก่อนหน้านี้สี่พรรคร่วมรัฐบาลลงนามในสัตยาบรรณว่าจะถอนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมทุกฉบับ
 
            11 พ.ย. 2556 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น. ภายหลังจากส.ว. อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... อย่างกว้างขวางนายวิชาญ มีนชัยอนันต์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า เมื่อพี่น้องประชาชนไม่ยอมรับพวกตนก็คิดเช่นเดียวกันพี่น้อง ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการไม่ได้รับคำสั่งใครทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลได้เสนอถอนร่างที่คล้ายกันทั้ง 6 ฉบับออกไปแล้ว และรัฐบาลยังได้แสดงเจตจำนงกับ 4 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าจะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ
 
            ด้าน นายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้เป็นดุลยพิจนิจของสภาฯในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วย
 
           ต่อมาเวลา 22.35 น. ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 141 เสียง ต่อ 0 เสียง จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม จึงสรุปต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 (2) และมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ให้วุฒิสภาส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาไม่ได้แจ้งว่าเป็นพ.ร.บ.การเงิน ดังนั้นสภาผู้แทนจะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวนี้มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 180 วัน และตามมาตรา 149 ยังระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภาผู้แทนฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ที่คล้ายกันนี้ไม่ได้อีก จากนั้น นายสุรชัย จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 22.40 น. รวมเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกว่า 10 ชั่วโมงครึ่ง
 
 
            โดยก่อนหน้านี้ 4 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชลได้ลงนามในสัตยาบรรณระบุว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในชั้นวุฒิสภานั้น "เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลจึงขอแสดงเจตนาร่วมกันให้สัตยาบันเป็นสัญญาประชาคมต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา โดยจะปล่อยให้ตกไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ"  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น