31 พ.ค. 2557 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร ว่า ขณะนี้มีกลุ่มต่อต้านรัฐประหารอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและออกมาต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการด้านกฏหมายและสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอยากจะขอความวิงวอนพี่น้องประชาชนขอให้ช่วยกันห้ามปราม และขอให้เชื่อมั่นการทำงานของ คสช.ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนตามที่หัวหน้า คสช.ชี้แจงไป สำหรับผู้ที่ทำความผิดที่ผ่านมามีจำนวน 14 คน ซึ่งทาง สน.พญาไท ได้ออกหมายจับแล้ว และจับมาได้ 1 คนแล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง คสช.จะบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธภาพต่อไป
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ต่อต้านและแสดงความรู้สึกผ่านสื่อออนไลน์ และโซเซียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อยซึ่งเราก็จะติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้เข้ารายงานตัวกับ คสช.ตามคำสั่ง คสช.นั้น ซึ่งกลุ่มต่างๆเหล่านี้ได้ให้ความร่วมมือและหาทางออกร่วมกันให้กับประเทศชาติ โดยหลายคนได้สะท้อนความรู้สึกภายหลังเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ โดยได้สะท้อนกลับมาในเชิงบวก และมีความเห็นตรงกันในการทำเพื่อประเทศชาติไม่ได้ทำเพื่อใคร ส่วนใหญ่มีความเห็นดีขึ้น
เร่งแผนสร้างสมานฉันท์คนในชาติ ปรับทัศนคติคน 3 กลุ่ม
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังหารือนโยบายด้านกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ว่า การหารือวันนี้ (31 พ.ค.) เพื่อติดตามการดำเนินงานทั่วไปภายในกระทรวง ทั้งแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในปีงบประมาณ 2558 และยังรวมถึงงานที่ค้างอยู่ตั้งแต่ก่อนยุบสภา เน้นเรื่องการปรับปรุงระบบบริการในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต บรรจุบุคลากร 7,500 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ยังเน้นการแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนในเรื่องการสร้างความสมานฉันท์และปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ โดยนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาใช้ ปรับทัศนคติความเชื่อ ความคิดที่แตกต่าง แก้ปัญหาในคน 3 กลุ่ม 1.ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้บาดเจ็บ หรือญาติของผู้เสียชีวิต 2.ผู้มีความขัดแย้ง ความเชื่อที่แตกต่าง และ 3.ประชาชนทั่วไป โดยมอบให้ทางศูนย์ปรองดองระดับจังหวัดดูแล ซึ่งจะมีการหารือเตรียมความพร้อมและรายละเอียดการทำงาน ในวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายนนี้
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือทุกระดับ ใช้บุคลากรสาธารณสุขร่วมกับภาคประชาชน เน้นการรับฟังพูดคุย สำรวจความคิดเห็นก่อน ในเชิงสังคมจิตวิทยา จากนั้นประเมิน และต้องอาศัยสื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น