วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทหารเรียกนักวิจารณ์หนัง-นักกิจกรรมศิลปะเชียงใหม่เข้าพบเหตุคิดจัดฉายหนัง 1984



บดินทร์ เทพรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์และผู้ก่อตั้งกลุ่มดูหนัง "ปันยามูฟวี่คลับ" ถูกเรียกให้ข้อมูลกับทหาร มทบ.33 เชียงใหม่ กรณีเตรียมฉายหนัง "1984" ซึ่งถูก จนท.ระงับไปแล้ว และถามเรื่องนิทรรศการศิลปะที่เคยจัดในอดีต ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้วหลังพูดคุย ชม.เศษ
25 มิ.ย.57 เวลา 10.00 น. สโมสรค่ายกาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ บดินทร์ เทพรัตน์ คอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ปันยามูฟวี่คลับ” ได้เข้าพูดคุยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กองข่าวของ มทบ.33 โดยได้ถูกสอบถามถึงการเตรียมจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 และกิจกรรมนิทรรศการศิลปะในอดีต
สำหรับกลุ่มปันยามูฟวี่คลับเป็นกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำกิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์หลากหลายแนว ก่อตั้งขึ้นหลายปีมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ที่แสงดีแกลเลอรี่ แต่ก่อนหน้าการจัดฉาย ทางแกลเลอรี่ดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามถึงปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ ทางแกลเลอรี่จึงไม่ค่อยสบายใจ เพราะปกติจะฉายหนังที่เป็นต้นฉบับของผู้กำกับโดยตรง และเพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน จึงหารือกับผู้จัดงานว่าของดจัดฉายภาพยนตร์ดังกล่าว
บดินทร์ เทพรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ กล่าวว่า วันนี้ตนได้พบกับ พ.ต.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ เจ้าหน้าที่กองข่าวของมทบ.33 และถูกสอบถามถึงกิจกรรมการจัดฉายหนังเรื่อง 1984 โดยตนได้ให้ความเห็นว่า เดิมนั้นไม่ได้คิดว่าการจัดฉายเรื่องนี้จะเป็นกิจกรรมทางการเมือง เพียงแต่เห็นว่าในช่วงนี้มีผู้สนใจเนื้อหาเรื่องนี้กันมาก จึงคิดว่าน่าจะจัดฉายให้คนดูว่าหนังเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และไม่ได้มีการพูดคุยเสวนาแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับบดินทร์ว่าในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทางเชียงใหม่มีแผนจะประกาศเลิกการเคอร์ฟิวแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ทั้งการฉายภาพยนตร์ 1984 และงานศิลปะอื่นๆ ด้วย ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีงานอะไรอีกบ้าง จึงทำให้ส่วนกลางยังไม่อนุมัติให้เลิกเคอร์ฟิว

นอกจากประเด็นเรื่องการจัดฉาย 1984 แล้ว บดินทร์กล่าวว่า พ.ต.พิษณุพงษ์ได้สอบถามถึงงานนิทรรศการศิลปะที่เขาเคยทำในช่วงปีก่อนๆ ซึ่งอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าละเมิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเขาได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่าไม่ได้มีเจตนาดังกล่าวแต่อย่างใด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ขอความร่วมมือกับเขา ไม่ให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมใดๆ ในช่วงนี้อีก ขอให้รอบ้านเมืองสงบและมีรัฐธรรมนูญเสียก่อน
บดินทร์กล่าวว่าการเข้าพูดคุยในวันนี้เขารู้สึกเฉยๆ ไม่ได้หวาดกลัวแต่อย่างใด เพียงแต่เขาคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่ามาสนใจคนตัวเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่แกนนำหรือคนที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองขนาดนี้ และจากเรื่องนี้อาจชี้ให้เห็นว่าทหารเริ่มเห็นว่างานศิลปะ ทั้งภาพยนตร์ และวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่ากรณีของ 1984, Hunger Games หรือ V for Vendetta สามารถมีอิทธิพลต่อสังคมได้ จึงทำให้เกิดความเป็นกังวลและหวาดระแวงกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากในช่วงนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (24 มิ.ย.) นายดลภาค สุวรรณปัญญา นักกิจกรรมด้านศิลปะ และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้เข้าพูดคุยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กองข่าวของ มทบ.33 เช่นกัน โดยนายดลภาคได้รับจดหมายเชิญตัวเพื่อไปสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไปส่งจดหมายนี้ให้ในร้านค้าที่เขาทำงานอยู่ในช่วงค่ำของวันที่ 23 มิ.ย.
เจ้าหน้าที่ทหารได้สอบถามนายดลภาค ทั้งในเรื่องการฉายภาพยนตร์ 1984 และกิจกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมที่มีเนื้อหาอาจถูกตีความว่าสุ่มเสี่ยงจะละเมิดต่อมาตรา 112 เช่น นิทรรศการศิลปะของกลุ่มนิติม่อน กิจกรรมบูมสมยศ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 55-56 โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แสดงภาพถ่ายของบางกิจกรรมเพื่อสอบถามด้วย และเจ้าหน้าที่ยังได้ขอให้นายดลภาคร่วมมือยุติการทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการให้เซ็นข้อตกลงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายหลังการพูดคุย ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้นายดลภาค รวมทั้งนักข่าวอีก 3 ราย ที่ร่วมติดตามมารายงานข่าว และให้เข้าร่วมรับฟังการพูดคุยด้วย กรอกแบบฟอร์มทำทะเบียนประวัติ เพื่อเป็นประโยชน์ในติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปด้วย และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้นายดลภาค บอกกับนายบดินทร์ให้เข้าพูดคุยให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันนี้ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น