วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สหรัฐห่วง คสช.อยู่ยาว-ใช้อำนาจมากกว่า คมช. - เล็งตัดงบ-การซ้อมรบเพิ่ม



จนท.ระดับสูงสหรัฐแถลงต่อสภาคองเกรส ห่วง คสช. อยู่ยาวกว่า-ใช้อำนาจมากกว่า คมช. - ขณะนี้ระงับความช่วยเหลือความมั่นคงแล้ว 4.7 ล้านเหรีญ ยกเลิกการฝึก "กะรัต"และหนุมานการ์เดี้ยน และอาจมีมาตรการอื่นอีก ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลื่อนฝึกใหญ่ "คอบบร้า โกลด์" หรือไม่ - แต่ยังหวังให้ไทยกลับมาสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว-เป็นหุ้นส่วนสำคัญในภูมิภาค ด้านรองหัวหน้า คสช. รับจะทำให้ดีที่สุด เมื่อมี รธน. มีเลือกตั้ง ตปท.จะเข้าใจมากขึ้น
รองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐแถลงสภาคองเกรสห่วงสถานการณ์ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา สก็อต มาร์เซียล (Scot Marciel) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวต่อสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาในหัวข้อ "ประเทศไทย: ประชาธิปไตยในความเสี่ยง" (อ่านรายละเอียด) โดยเป็นการกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ความสัมพันธ์อันยาวนาน 180 ปีระหว่างสองประเทศ ความสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือในหลายด้านกับไทย ความสัมพันธ์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่าถึง 35 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่ลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับสามคิดเป็นมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทของสหรัฐอเมริกา 800 บริษัทดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ตอนหนึ่ง มาร์เชียลกล่าวถึงสถานการณ์หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า "ในแรกเริ่ม เราหวังว่าจะเหมือนรัฐประหารในปี 2006 ทางกองทัพจะกระทำการโดยเร็วที่จะเปลี่ยนถ่ายอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือน และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด แสดงให้เห็นว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้มีการจำกัดสิทธิมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะอยู่นานกว่าการรัฐประหารครั้งก่อนนี้” มาร์เซียล ระบุ
เขายังกล่าวด้วยว่าการรัฐประหารและมาตรการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้นไม่แสดงให้เห็นเลยว่าจะสร้างการประนีประนอมและการปรองดองทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ สหรัฐอเมริกาไม่เชื่อว่าการปรองดองที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ด้วยความกลัวการใช้มาตรการควบคุม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในระดับรากฐานอันเป็นเชื้อมูลให้กับการแบ่งแยก จะสามารถคลี่่คลายโดยประชาชนไทยได้ก็ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ เราต้องการให้ประเทศไทยดำเนินไปตามแนวทางประชาธิปไตย ทำให้สถาบันประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น และฟื้นคืนการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยวิธีสันติผ่านการเลือกตั้ง

หลังรัฐประหารระงับความช่วยเหลือความมั่นคง 4.7 ล้านเหรียญ-และเลิกการฝึก "กะรัต" - หนุมานการ์เดี้ยน
มาร์เชียลกล่าวด้วยว่า มาตรการควบคุมของกองทัพทั้งช่วงรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยไม่สามารถเป็นไปได้เหมือนเช่นเคย ทั้งนี้ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาทำให้สหรัฐอเมริการะงับเงินช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมั่นคงเพิ่มเติมต่อประเทศไทยไปแล้ว 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้มีการยกเลิกความตกลงระดับสูง การฝึกทางทหาร และการฝึกอบรมกับทหารและตำรวจของไทย อย่างเช่นในความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม มีการยกเลิกการฝึกกองทัพเรือรหัส "กะรัต" (Cooperation Afloat Readiness and Training - CARAT) ซึ่งมีกำหนดการฝึกในช่วงเดียวกับที่เกิดการรัฐประหาร นอกจากนี้มีการยกเลิกแผนการฝึก "หนุมานการ์เดี้ยน" (Hanuman Guardian) ไปแล้วด้วย
มาร์เชียลกล่าวด้วยว่า สหรัฐอเมริกาดำเนินการทบทวนโครงการและความตกลงอื่นๆ และกำลังพิจารณามาตราการอื่นในอนาคตที่เป็นการเตือน ซึ่งหลายชาติก็ได้แสดงออกในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ความหวังของสหรัฐอเมริกาก็คือถ้อยแถลงอันหนักแน่นของนาชาติ และแรงกดดันจากภายในประเทศไทยเอง จะนำไปสู่การผ่อนคลายการควบคุมของกองทัพและฟื้นคืนประชาธิปไตยเร็วขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยความรอบด้าน โปร่งใส ทันเวลา และมีผลทำให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมอันสะท้อนเจตจำนงของประชาชนไทย และหลังจากที่ประชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟู สหรัฐอเมริกามีความหวังและตั้งใจว่าประเทศไทย มิตรอันยาวนานจะยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญในเอเชียสำหรับหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของเฟซบุ๊คเพจกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา การฝึกรหัส "กะรัต" (CARAT) มีการย้ายไปฝึกที่ประเทศมาเลเซีย โดยกองทัพไทยยังคงเข้าร่วมการฝึก นอกจากนี้มีบังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ติมอร์ นอกจากนี้ในรายงานเพิ่มเติมของ สำนักข่าวต่างประเทศ มาร์เชียลยังไม่ระบุว่าจะมีการยกเลิกการฝึกคอบบร้าโกลด์ในต้นปี 2558 นี้หรือไม่เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เฉพาะกับสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย แต่ยังสำคัญกับภูมิภาคนี้ด้วย

รองหัวหน้า คสช. รับสหรัฐและอียูสร้างความกังวลต่อการทำงานของ คสช แต่จะทำให้ดีที่สุด
เมื่อมี รธน. มีการเลือกตั้ง ถึงเวลานั้นต่างประเทศจะเข้าใจมากขึ้น
สำหรับปฏิกิริยาจาก คสช. มีรายงานว่าวันนี้ (25 มิ.ย.) พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมโฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย รับฟังการชี้แจงการเข้าควบคุมสถานการณ์ และแนวทางบริหารประเทศของ คสช. เป็นครั้งที่ 2 มีผู้ช่วยทูตทหาร เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง 15 ประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ส่วนสำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. กล่าวในวันนี้ (25 มิ.ย.) ยอมรับว่า แรงกดดันและปฏิกิริยาจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาสร้างความกังวลต่อการทำงานของ คสช. แต่จะทำงานอย่างดีที่สุด โดยจะพยายามทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ คสช.ดำเนินการอยู่ ในการเข้าไปแก้ปัญหาทำให้ประชาชนมีความสุข ใช้ชีวิตได้ตามปกติ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการมีธรรมนูญปกครอง และมีคณะรัฐมนตรี เพื่อปฏิรูปประเทศหาทางออกที่ดีที่สุด และเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะมีการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้นฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะต่างประเทศจะมีความเข้าใจ รวมถึงมีทัศนคติในทางบวกมากขึ้น

การฝึกทางการทหารแบบพหุพาคีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
คริสตี้ เคนนี่ย์ (Kristie Kenney) (แถวแรก ที่ 4 จากซ้าย) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และ พล.ร.อ.แซมมิว ล็อกเลียร์ (Samuel J. Locklear) (แถวแรก ที่ 6 จากซ้าย) ผบ.กองกำลังภาคแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา เดินทางไปค่ายเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เข้าร่วมในพิธีเปิดการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 (ที่มา: เพจ U.S. Embassy Bangkok)
นาวิกโยธินสหรัฐ เคลื่อนย้ายกำลังพลด้วยเครื่องบิน MV-22B Osprey ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ ที่หาดยาว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 นาวิกโยธินดังกล่าวสังกัดกองพัน 3rd Reconnaissance Battalion ประจำการอยู่ที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น (ที่มา: เพจ U.S. Pacific Command)
อัครราชทูตที่ปรึกษาของสหรัฐอเมริกา แพทริค เมอร์ฟี (W. Patrick Murphy) (คนกลาง สวมเสื้อนอก) เข้าร่วมพิธีปิดการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ประจำปี 2557 หลังเสร็จสิ้นการฝึกร่วมโดยใช้กระสุนจริง (CALFEX) ที่สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2557 (ที่มา: เพจ U.S. Embassy Bangkok)

สำหรับการฝึกคอบบร้าโกลด์ เดิมพัฒนามาจากการฝึกร่วมระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 โดยเริ่มจากการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2525 ได้เริ่มการฝึกร่วมและฝึกผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" (Cobra Gold - CG) เป็นครั้งแรก มีการเพิ่มการฝึกทั้งทางเรือ ทางอากาศ และยกพลขึ้นบก โดยกำหนดรหัสว่า "คอบร้าโกลด์ 82" และฝึกต่อเนื่องมาทุกปี
โดยตั้งแต่ภายหลังสงครามเย็น นอกจากการฝึกปฏิบัติการทางทหารแล้ว ยังมีการเพิ่มรูปแบบการฝึกภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี ให้ประเทศอื่นๆ เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้ โดยปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ล่าสุดจัดในปี 2557 เป็นการฝึกครั้งที่ 33 ใช้แหล่งฝึกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งทะเลตะวันออกครอบคลุมตั้งแต่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง ถึง จ.จันทบุรี ทั้งนี้มีพิธีเปิดการฝึกเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 ที่ค่ายเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก มีนายทหารระดับสูงของไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย รวมทั้ง พล.ร.อ.แซมมิว ล็อกเลียร์ (Admiral Samuel Locklear) ผบ.กองกำลังภาคแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมเป็นประธานในพิธี
สำหรับการฝึกครั้งล่าสุด มีกำลังพลร่วมฝึกราว 13,000 นายจาก 7 ชาติ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น  เป็นปีแรกที่จีนส่งคณะผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การฝึก นอกจากนี้ยังมีประเทศสังเกตการณ์อีกหลายประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ยูเครน รัสเซีย ปากีสถาน รวมทั้งสหราชอาณาจักร และมีนายทหารฝ่ายเสนาธิการจากอีก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และมองโกเลีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น